“I like life, but I don’t need it.”
“ผมชอบชีวิตนะ แม้มันจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นก็ตาม”
– Louis C.K. – สแตนด์อัพคอมมีเดียนชาวอเมริกัน
ตอนเด็กๆ ผมมีตุ๊กตาหมีอยู่ตัวหนึ่ง
ตอนแรกๆ ตุ๊กตาหมีตัวนั้นก็คงจะขนนุ่มนิ่มนั่นแหละครับ แต่พอใช้ไปนานเข้าๆ ‘พี่หมี’ ของผมก็ขนแข็งขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะต้องผ่านการ ‘ซัก’ เพื่อให้สะอาด จนในที่สุด ทุกครั้งที่ผมซุกหน้าลงไปหาตุ๊กตาหมีตัวนั้น ผมจะรู้สึกเจ็บ
เหมือนถูกทิ่มแทงด้วยเข็มยิบๆ นับร้อยนับพันเล่ม
ผมจะซุกหน้าลงไปหาตุ๊กตาหมี เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจ และอาการยิบๆ ทิ่มแทงของพี่หมี ก็ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นได้แทบทุกครั้ง
ตอนน้ัน ผมคิดว่าตัวเองเสพติดความเจ็บปวด หลงรักความทุกข์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกทุกข์ใจ การได้ซุกหน้าลงไปหาความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น กลับทำให้รู้สึกดี
บางคนเคยบอกด้วยซ้ำ – ว่าผมคงเป็นโรคซึมเศร้า หรืออย่างเบาะๆ ก็น่าจะเป็นคนที่เสพติดความเศร้า
ทุกวันนี้ มีคนที่บอกว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากมาย แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรอกนะครับ หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะเป็นโรคซึมเศร้าที่เป็น ‘โรค’ (คือเป็น Clinical Depression) จริงๆ อย่างมากที่สุดที่เป็น – ก็คือการเป็นคนที่รู้สึกเศร้าในบางเวลา และเลือกบำบัดความเศร้าด้วยการทำให้มันเศร้าลงไปถึงที่สุด แล้วจากนั้นทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง
ถ้าเราป่วยเป็นโรคเรื้อรังบางโรค เช่น มะเร็ง แล้วเจ็บป่วยกับโรคจนทำให้จิตใจเจ็บป่วยไปด้วย เช่น กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย หงุดหงิด ขี้บ่น เศร้า ฯลฯ คนอื่นรอบข้างอาจ ‘รำคาญ’ ตัวคุณได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่มีใครคิดรำคาญก้อนมะเร็งของคุณหรอกนะครับ
แต่ในกรณีของโรคซึมเศร้า อาการทางจิตใจหลายอย่าง (ตั้งแต่เศร้า หดหู่ ห่อเหี่ยว กระทั่งถึงกราดเกรี้ยวโกรธบึ้ง) ได้ ‘ผนึก’ เป็นอันหนึ่งเดียวกับอาการป่วย (ที่อาจเกิดจากอาการทางกาย คือสารชีวเคมีในสมองทำงานผิดปกติ)
ดังนั้น เมื่อคนอื่นรำคาญอาการเหล่านี้ พวกเขาจึงไม่ได้ ‘รำคาญ’ ต่ออาการที่ ‘งอก’ ขึ้นมาเนื่องจากความเจ็บป่วย (เหมือนรำคาญอารมณ์ของผู้ป่วยเรื้อรังทางกายอย่างมะเร็ง) แต่เป็นการรำคาญที่ตัวความเจ็บป่วยเองเลย
ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็คล้ายกับเราไปรำคาญตัวก้อนมะเร็ง เนื่องจากอาการที่เกิดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือสิ่งที่ผนึกแน่นอยู่กับอาการป่วย แถมยังมีอาการเป็นพักๆ บางคราวก็หายบางคราวก็เป็น ทำให้หลายคนเข้าใจได้ยาก เพราะมักเผลอคิดว่าเป็นสิ่งที่งอกออกมาจากตัวโรค หรือแม้กระทั่งเป็นการแสร้งทำ แล้วก็เลยรำคาญตัวผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปเลย
โรคซึมเศร้าจึงเป็นโรคที่ดีลด้วยยาก คนที่ไม่ได้เป็น แนะนำอะไรไปก็อาจผิดหมด (ไม่มาเป็นเหมือนฉันไม่รู้หรอกว่ามันซัฟเฟอร์ยังไงบ้าง ฯลฯ) แต่ในอีกฝั่งหนึ่ง การขลุกอยู่แต่กับคนที่ป่วยเหมือนกัน ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะจะทำให้หมกมุ่นอยู่แต่กับอาการป่วยนั้นๆ
สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (NIMH) ของสหรัฐอเมริกา ประเมินตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเอาไว้ว่า ในอเมริกา มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าราว 16 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 6.9% ของประชากรทั้งหมด และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณว่า คนทั่วโลกป่วยเป็นโรคซึมเศร้าราว 350 ล้านคน โรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย
เวลาผมมีอาการป่วยอะไรบางอย่าง ผมมักจะอยากรู้ให้ถึงแก่น ว่ากำลังป่วยเป็นอะไร สาเหตุคืออะไร รักษาได้ไหม เช่นเคยปวดหัวเรื้อรัง ผมก็ไปที่ศูนย์ MRI (โดยไม่ผ่านแพทย์) เพื่อสแกนสมองให้รู้กันไปเลยว่ามีอะไรแปลกปลอมในสมองหรือเปล่า ดังนั้น โดยส่วนตัว ผมคิดว่าถ้าตัวเองเกิดเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาจริงๆ ผมคงรีบไปหาหมอให้เร็วที่สุดเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นพารานอยด์ หรือเป็นแพนิก หรือเป็นไบโพลาร์ ฯลฯ และจะได้รักษาทางยาได้อย่างไรบ้าง จากนั้นถ้าเป็นจริงๆ ก็กินยาตามที่แพทย์สั่ง แล้วออกกำลังกายเยอะๆ เดินทางเยอะๆ พบปะผู้คนมากๆ อยู่ในแสงแดดมากๆ แต่หากไม่หาย ก็อาจต้องเปลี่ยนยา และทดลองไปเรื่อยๆ สู้กับมันไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานี้อาจมีคนแย้งว่า ผมพูดได้เพราะไม่ได้เป็น ถ้าเป็นจริงๆ จะไปมีเรี่ยวแรงกำลังต่อสู้ได้จริงหรือ แต่กระนั้นก็อีกนั่นแหละ – เพราะผมไม่คิดว่าคนเราจะเหมือนกันไปหมด ดังนั้นถ้าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ก็คิดว่าจะลุกขึ้นสู้กับมันได้ เพราะจะเกิดอาการรำคาญความซึมเศร้าบ้าบอคอแตกในตัวเสียก่อนที่คนอื่นจะมารำคาญ
การพูดกันเรื่องโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึงตุ๊กตาหมีตัวนั้นในวัยเด็ก และย้อนกลับมายืนยันกับตัวเองอีกครั้งว่า แม้ผมจะชอบเสพความเศร้ามากกว่าความสุข (เช่นชอบดูหนัง drama เศร้าๆ มากกว่า rom com น่าอี๋)
แต่ผมไม่น่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรอกครับ