ประวัติศาสตร์แมวเหมียว

คุณชอบแมวหรือเปล่าครับ

ถ้าชอบ, คุณรู้ไหมว่า ในประวัติศาสตร์แห่งความผูกพันระหว่างมนุษย์กับเจ้าเหมียว มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ ‘เลือก’ จะ  ‘เลี้ยง’ แมวหรอกนะครับ แต่เป็นเจ้าแมวต่างหากที่ ‘เลือก’ จะกล่ายร่างมาเป็นสัตว์เลี้ยงเอง

โอ้โห! นี่มันนิสัยแมวชัดๆ!

เรื่องของเรื่องก็คือ มีการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของแมว นับย้อนกลับไปหลายพันปี เขาพบอย่างนี้ครับว่า เจ้าแมวเหมียวนั้น มันอยู่เคียงข้างมนุษย์มานานแล้ว แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะ ‘สัตว์เลี้ยง’ (Domesticated Animal) นะครับ มันแค่มาอยู่ใกล้ๆ เท่านั้นเอง แล้วในระหว่างเวลาหลายพันปี (หรืออาจถึงหมื่นปี) ยีนของแมว (ที่เคยเป็นแมวป่า) ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ ซึ่งมีผลทำให้ลวดลายบนตัวของมันเปลี่ยนไปด้วย จากลายแถบแบบแมวป่า กลายมาเป็นแมวเหมียวลายพร้อย

งานวิจัยนี้ มีรายงานอยู่ในวารสาร Nature Ecology & Evolution โดยนักวิทยาศาสตร์ศึกษาดีเอ็นเอของแมวกว่า 200 ตัว ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 9,000 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ซากของแมวโบราณในโรมาเนีย มัมมี่แมวของอียิปต์ หรือตัวอย่างแมวป่าในแอฟริกา เขาพบว่า สายพันธุ์แมวในปัจจุบันแพร่มาจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในแถบเมโสโปเตเมีย ที่ฝรั่งเรียกว่าเป็น Fertile Crescent หรือแถบพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ โดยเจ้าเหมียวมาด้อมๆ มองๆ ข้องแวะกับมนุษย์มาตั้งแต่ราว 8,000 ปที่แล้วโน่น แล้วก็ค่อยแพร่กระจายขยายตัวเข้าสู่ยุโรปเมื่อราว 6,400 ปีที่แล้ว 

ทำไมแมวถึงมาวุ่นวายกับมนุษย์เหรอครับ – ไม่หรอกครับ, ไม่ใช่เพราะว่ามนุษย์เห็นความน่ารักน่าชังของมันเลยเอาอาหารไปล่อ แต่เป็นเพราะพอมนุษย์เริ่มเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม (ตั้งแต่ราวหมื่นปีที่แล้ว) การเก็บธัญพืชไว้ในบ้านทำให้เกิดหนูเข้ามากัดกินข้าวของต่างๆ ดังนั้น เจ้าเหมียวก็เลยตามเข้ามาล่าเพื่อเอาหนูไปเป็นอาหาร มันหาได้พิสมัยในตัวมนุษย์แต่ประการใด

แต่นั่นก็ทำให้แมวกับมนุษย์ได้เผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีที่มนุษย์เจอแมวแล้วเลยจับมันมาใส่กรงเลี้ยงนะครับ มันเลือกจะมาของมันเอง

ที่จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงยีนของแมวจากแมวป่ามาเป็นแมวเลี้ยงนั้น ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากมายนะครับ ส่วนใหญ่แล้ว ดีเอ็นเอหรือยีนของแมวป่ากับแมวเลี้ยงแทบจะเหมือนกันหมดนั่นแหละ แต่อย่างหนึ่งที่จะสังเกตได้ ว่าแมวตัวไหนมีความเป็นแมวป่าหรือแมวเลี้ยงมากกว่ากัน ก็คือให้ดูที่ลวดลายของมัน 

แมวที่เชื่องพอจะเป็นแมวเลี้ยงได้ จะมีลวดลายแบบที่เรียกว่า Tabby Cat คือจะเป็นลายริ้วๆ เหลืองๆ บางทีก็เป็นปื้นๆ จุดๆ แต่จะไม่ได้เป็นลายแถบๆ เหมือนแมวป่า ลายของแมวบ้านแบบที่เรียกว่า Tabby Cat นั้น มีหลายลายนะครับ 

แบบแรกคือ Mackerel Tabby จะมีลายแถบแคบๆ อาจจะต่อเนื่องหรือขาดตอนได้ แต่ที่เด่นชัดก็คือที่หัวจะมีลายเป็นรูปตัว M (ลองดูให้ดีๆนะครับ) บางคนก็เรียกลายแบบนี้ว่าแมวลายก้างปลา เป็นแมวแบบที่พบได้มากที่สุด

แบบที่สองคือ Classic Tabby เป็นลายแบบหินอ่อน จะมีสีสลับกันระหว่างอ่อนกับเข้ม มีรูปตัว M ที่หัวเหมือนกัน บางทีลายก็จะวนๆ เหมือนกับลูกตาได้

แบบที่สามคือ Ticked Tabby แบบนี้บางทีเหมือนกับไม่มีลาย แต่จริงๆ แล้วเป็นลายละเอียดไปทั่วตัวจนเหมือนเนื้อของทราย (เรียกว่า Sandy หรือบางทีฝรั่งก็เรียกว่า Salt and Pepper) มักจะเป็นแมวขนสั้น

แบบสุดท้ายคือ Spotted Tabby เป็นแมวที่มีลายแบบก้างปลา แต่ขาดเป็นห้วงๆ เลยดูเป็นจุดๆ 

ยีนของแมวที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ เพิ่งจะเริ่มเห็นเด่นชัดในยุคจักรวรรดิออตโตมานนี่เอง คือไม่นานเท่าไหร่ และลวดลายแบบ Tabby Cat นั้น เริ่มพบเห็นมากจนสามารถเชื่อมโยงลายแบบนี้กับความเป็นแมวเลี้ยง ก็เมื่อศตวรรษที่ 18 นี้เอง ก่อนหน้านี้แมวจะมีความเป็นแมวป่ามากกว่า แล้วคนก็เริ่มผสมพันธุ์แมวกันในศตวรรษที่ 19 เพื่อให้ได้แมวสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีหน้าตาน่ารักน่าชังแตกต่างกันไปอย่างหลากหลาย

เพราะฉะนั้น นังเหมียวที่เราเห็นและให้อาหารมันอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่ ‘สัตว์เลี้ยง’ ที่เราจับมันมาเลี้ยง แต่มัน ‘เลือก’ ที่จะมาใช้ facilities ของมนุษย์เพื่อบำเรอความสุขแห่งชีวิตของพวกมันเองมาตั้งแต่ต้น

ดังนั้น ถ้าใครกำลังสงสารตัวเองว่าต้องตกเป็น ‘ทาสแมว’ อย่างโงหัวไม่ขึ้นละก็,

อย่าได้สงสัยไปเลยครับว่าทำไม!