ลักษณะของมิลเลนเนียลส์ : คนรุ่นที่บ้าที่สุดในประวัติศาสตร์

คนรุ่นมิลเลนเนียลส์นั้น ถูกมองจากคนรุ่นอื่นๆ ว่าเป็น ‘คนรุ่นบ้า’ (ไม่ใช่รุ่นป้านะครับ) หรือ Crazy Generation เพราะพวกเขามีวิธีคิดหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ

คนรุ่น X หรือแม้แต่ Y ส่วนหนึ่ง เมื่อเติบโตขึ้นมาถึงวัย 30s และ 40s แล้ว พวกเขาก็เริ่มลงหลักปักฐาน สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความมั่นคงให้ชีวิต แต่มีการวิเคราะห์ว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลส์หลังจาก Y ไปแล้ว จะมีจำนวนมากขึ้นที่ไม่คิดเรื่องนี้เลย และเห็นว่าการลงหลักปักฐาน (Setling Down) เป็นเรื่องของการ ‘ถดถอย’ ไปสู่ ‘ชีวิตสามัญ’ (Mediocre Life)

ที่จริงคนที่คิดแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยมีนะครับ ลองดูคนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ก็ได้ เราจะเห็นว่าคนรุ่นนั้นจำนวนหนึ่งเป็น ‘ฮิปปี้’ คือมีชีวิตเสรีไปเรื่อยๆ แม้ว่าอายุจะมากขึ้นก็ไม่ยอมลงหลักปักฐาน แต่กระนั้น สัดส่วนของคนที่เป็นฮิปปี้ก็ไม่ได้มีมากนัก

มีการสำรวจโดยนักสังคมวิทยา ลิวอิส บาโบลอนสกี้ (Lewis Yablonsky) ในหนังสือชื่อ The Hippie Trip ประมาณว่าฮิปปี้แบบ ‘เต็มเวลา’ (Full-Time Hippies) ในอเมริกา มีอยู่แค่ราว 200,000 คนเท่านั้น จำนวนมากเป็นได้สักพักแล้วก็กลับไปมีวิถีชีวิตแบบตามขนบ คือทำงานหาเงินเลี้ยงดูลูกกันไป

แต่ที่เราเห็น ‘ภาพ’ ว่าฮิปปี้มีเยอะ ก็เพราะฮิปปี้มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน และอีกส่วนหนึ่งก็เป็น ‘ฮิปปี้เฉพาะวันหยุด’ (Weeking Hippies) คือเป็นเฉพาะเวลามีการรวมตัวกันรำลึกความหลังอะไรทำนองนั้น ภาพของฮิปปี้เลยดูเยอะ แต่ถ้านับรวมสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน ประาณว่าในปี 1968 (ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของฮิปปี้) ก็มีฮิปปี้อยู่ 400,000 คนเท่านั้นเอง ถือเป็นสัดส่วนเท่ากับแค่ 1.17%

คนยุคมิลเลนเนียลส์มีอะไรบางอย่างคล้ายฮิปปี้ แต่แน่นอน หลายเรื่องก็ต่างออกไป แทนที่จะเรียกว่าฮิปปี้ พวกเขาจึงเรียกตัวเอง (หรือถูกเรียก) ว่าฮิปสเตอร์มากกว่า แต่กระนั้น เรื่องหนึ่งที่คนมิลเลนเนียลส์เป็นคล้ายๆ ฮิปปี้ ก็คือการไม่ยอมลงหลักปักฐาน

คนเหล่านี้ไม่ได้จะ Make Love, Not War นะครับ แต่ชาวมิลเลนเนียลส์เห็นว่าโลกมี ‘ตัวเลือก’ ให้เลือกมากมาย พวกเขาตกอยู่ใน ‘ปฏิทรรศน์ตัวเลือก’ หรือ Paradox of Choices คือมีอะไรๆ ให้เลือกเยอะเสียจนต้องใช้เวลาในการเลือกมาก

ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคนสมัยยุคกลาง การเดินทางจากยุโรปกลางอย่างเยอรมนีไปอิตาลีนี่ถือว่าเป็นเรื่องผจญภัยใหญ่หลวง เป็นการเดินทางแบบสาหัสมากๆ คำพูดประเภท See Venice and Die บอกเราได้ดีเลยว่าแค่เวนิซ (ที่ไม่ได้ไกลมากเท่าไหร่) ก็มาเห็นแล้วตายได้แล้ว

หรือสมัยศตวรรษที่ 19 ต่อต้น 20 คนหนุ่มชนชั้นสูงในอังกฤษที่เรียนจบมหาวิทยาลัยก็ต้องทำ The Grand Tour ครั้งใหญ่ คือเดินทางตระเวนไปทั่วยุโรป ซึ่งก็ต้องไปตามหมุดหมายสำคัญๆ ทั้งหลายที่มีอยู่ไม่กี่แห่งหรอก แต่การเดินทางสมบุกสมบันมาก ทำให้รู้สึกว่าได้ ‘เห็นโลก’ มาแล้วมากมาย

แต่สำหรับคนยุคมิลเลนเนียลส์ การเดินทางเป็นเรื่องง่ายแค่พลิกฝ่ามือ (คือพลิกหยิบมือถือข้ึนมาดูจริงๆ) ดังนั้นพวกเขาจึงมีสถานที่ให้ไปมากมาย มีผู้คนอีกมากมายให้พบปะ ไม่ใช่แค่เจอหนุ่มรีดนมวัวในหมู่บ้านก็คิดว่าเป็นเจ้าชายในฝันแล้ว และมีความทรงจำอีกมากมายให้สร้างและสั่งสมขึ้นเป็น ‘ประสบการณ์’ ส่วนตัวในชีวิต

ดังนั้น การลงหลักปักฐานของคนมิลเลนเนียลส์จึงเป็นเรื่องเหลือพ้นวิสัย มีคนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่ต้องการแต่งงาน ไม่ต้องการสร้างครอบครัว (แต่คนที่ต้องการก็มีอยู่นะครับ) เพราะชีวิตไม่ใช่สิ่งที่ ‘ต้องใช้’ ใน ‘ที่ที่เดียว’ ตลอดไปเหมือนแนวคิดของคนสมัยก่อนอีกแล้ว บ้านช่องที่ถาวรเป็นหลักแหล่งจึงไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ แถมทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวก็เปล่ียนผันไปรวดเร็วมากด้วย แล้วทำไมจะต้องไป ‘ลงหลักปักฐาน’ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นไปได้ยากขึ้นด้วยเล่า

Forbes เคยมีบทความเล่าว่า มิลเลนเนียลส์ในฐานะผู้บริโภคนั้นมีความเปลี่ยนแปลงในตัวเองหลายอย่าง ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือ มิลเลนเนียลส์ในอเมริกานั้นไม่ซื้อบ้าน แต่จะใช้วิธีเช่าอยู่ สิ่งสำคัญกว่าบ้านก็คือมือถือ และถ้าไม่ได้อยู่ในเขตเมืองที่มีการขนส่งมวลชนสะดวกๆ รถยนต์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพวกเขาอยู่

ที่สำคัญ มิลเลนเนียลส์ไม่เชื่อในโฆษณาเหมือนคนรุ่นก่อนหน้าอีกต่อไป มีมิลเลนเนียลส์แค่ 1% เท่านั้น ที่บอกว่าตื่นเต้นกับโฆษณาและไว้ใจในแบรนด์สินค้า แต่ส่วนใหญ่บอกว่ารู้เลย โฆษณาก็คือการ ‘ตีฟู’ นั่นแหละ มันไม่ใช่ ‘ของแท้’ (Authentic) ดังนั้นเวลาจะซื้อของอะไรสักอย่าง สิ่งที่มิลเลนเนียลส์ทำก็คือการอ่านบล็อกต่างๆ มีมิลเลนเนียลส์ถึง 33% ที่ไว้วางใจความคิดเห็นของบล็อกหรือ Influencer ออนไลน์ เช่นถ้า Influencer ที่ตัวเองชื่นชอบรีวิวหนังเรื่องหนึ่งว่าดี ต่อให้ไม่สนใจมาก่อน ก็อาจจะไปดู เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ มีการประเมินว่า ‘มูลค่า’ ของทรัพย์สินของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ในอเมริกานั้น มีอยู่ราวๆ 30,000 ล้านเหรียญ ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้จะถูกโอนถ่ายจากรุ่นสู่รุ่นไปจนถึงชาวมิลเลนเนียลส์ แต่ปรากฏว่าต่อให้ได้รับมรดกร่ำรวยขึ้น ชาวมิลเลนเนียลส์ราว 57% ก็บอกว่าจะไม่เปลี่ยนวิธีใช้จ่ายเงินของตัวเอง เช่น ไม่เอาเงินไปซื้อบ้านหลังใหญ่ๆ อยู่ หรือจัดงานแต่งงานหรูหราอะไรทำนองนั้น เงินที่ได้มาก็เป็นเงิน แต่เงินไม่เกี่ยวอะไรกับไลฟ์สไตล์สักเท่าไหร่

อีกเรื่องที่คนรุ่นก่อนอาจรู้สึกว่ามิลเลนเนียลส์นี่ทั้งบ้าทั้งจุกจิกก็คือ มีถึง 42% ที่บอกว่าอยากร่วม ‘พัฒนา’ สินค้าหรือบริการกับผู้ผลิตด้วย ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะไปร่วมลงทุนอะไรทำนองนั้นนะครับ แต่ตามปกติแล้ว ผู้ผลิตอยากผลิตอะไรก็ผลิตไป เอาให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก็น่าจะพอแล้ว แต่กลุ่มเป้าหมายชาวมิลเลนเนียลส์บอกว่าไม่ พวกเขาต้องการรู้ด้วยว่า สินค้าต่างๆ มีการผลิต ‘อย่างไร’ เพราะฉะนั้น บริษัทที่สามารถทำให้ชาวมิลเลนเนียลส์เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตได้ ก็จะประสบความสำเร็จมากกว่าด้วย โดยเรื่องหนึ่งที่ชาวมิลเลนเนียลส์ให้ความสำคัญมากๆ ก็คือการตอบแทนกลับสู่สังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การค้าขายแบบเป็นธรรมหรือ Fair Trade หรือแบรนด์ที่สนับสนุนชุมชนในท้องถิ่น ดูแลสิ่งแวดล้อม อะไรทำนองนี้

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีรายงานจาก Charles Schwab ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในอเมริกา สรุปตัวเลขการใช้จ่ายของชาวมิลเลนเนียลส์ เทียบกับชาว X และชาวบูมเมอร์สออกมาง่ายๆ พบว่าชาวมิลเลนเนียลส์ใช้เงินมากกว่าชาว X และชาวบูมเมอร์ส ในหลายด้านมาก ตั้งแต่ค่าแท็กซี่และอูเบอร์, ค่ากาแฟที่แพงกว่าแก้วละ 4 เหรียญ, ค่า gadget ใหม่ๆ, ค่าเสื้อผ้าที่จริงๆ แล้วไม่จำเป็น, ค่ากินในร้านที่กำลังฮิต รวมถึงค่าไปดูคอนเสิร์ตหรือค่าดูกีฬา ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจนะครับ ที่คนรุ่นบูมเมอร์ส จะใช้เงินพวกนี้น้อยที่สุด คือน้อยกว่าคนรุ่น X ด้วย

ฟังดูเหมือนมิลเลนเนียลส์นี่สุรุ่ยสุร่าย อีกหน่อยต้องหมดตัวแน่ๆ เลยใช่ไหมครับ

แต่ช้าก่อน – เพราะเขาบอกด้วยว่า เอาเข้าจริงแล้ว ชาวมิลเลนเนียลส์เขียน ‘แผนการเงิน’ กันมากถึง 34% ว่าตัวเองจะต้องใช้จ่ายอะไรยังไงบ้าง เทียบกับชาว X ที่ทำแผนการเงินกันแค่ 21% และพวกบูมเมอร์ส ที่ทำแผนการเงินแค่ 18% 

จะเห็นว่า โลกของชาวมิลเลนเนียลส์นั้นมีอะไรๆ แตกต่างไปจากโลกของคนรุ่นก่อนหน้ามากมายและสลับซับซ้อนอย่างมาก จึงไม่น่าประหลาดใจเลย ที่พวกเขาจะถูกคนรุ่นก่อนๆ ตราหน้าว่าเป็น Crazy Generation 

แต่กระนั้น – โลกในอนาคตก็อยู่ในมือของพวกเขานี่แหละ

ไม่ใช่ใครอื่นหรอกครับ!

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s