ประวัติศาสตร์ของสีดำ

มีคนถามว่า ทำไมผมถึงชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ เพราะสีดำเป็นสีที่ ‘เรียบง่าย’ หรือเปล่า

ที่จริงต้องบอกกันก่อนว่า ประวัติศาสตร์ของสีดำนั้นซับซ้อนมากนะครับ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่มนุษย์จะผลิต ‘สีดำ’ ขึ้นมาใช้ได้ และทำให้มันมี ‘ความดำ’ ที่เข้มข้นถึงใจเป็นที่ยอมรับชื่นชอบ ตัวสีดำเองจึงผ่านการต่อสู้ในประวัติศาสตร์มามากมายหลายรูปแบบ มีคนนำความหมายต่างๆ ไปโยนใส่สีดำมากมาย แต่ละสังคม แต่ละอุดมการณ์ แต่ละสำนักคิด ทั้งทางศิลปะ แฟชั่น และแม้กระทั่งศาสนาและการเมือง ล้วนมอง ‘สีดำ’ แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

สีดำคือสีที่ดูดซับคลื่นแสงทุกอย่างเข้าไปไว้ในตัว ไม่ปลดปล่อยแสงสีใดๆ ออกมาเลย แต่ในโลกจริงมักไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ สีดำก็เช่นเดียวกัน ทุกสีดำที่เราเห็นๆ กันอยู่ มันไม่ได้ ‘ดำจริง’ หรอกนะครับ ไม่ว่าจะดำมากแค่ไหน สีดำก็สะท้อนแสงออกมาเล็กน้อยทั้งนั้น

วัสดุที่ดำที่สุดในโลก เป็นวัสดุที่นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Rensselaer Polytechnic แห่งนิวยอร์ค สร้างขึ้นมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2008 มันเป็นวัสดุสีดำที่สะท้อนแสงออกมาเพียง 0.045% (หรือดูดซับแสงได้ 99.965%) ซึ่งถือว่าสะท้อนแสงน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา วัสดุนั้นทำจากเส้นใยคาร์บอนจิ๋วที่เรียกว่าคาร์บอนนาโนทิวบ์ ทำให้มันมีสีดำกว่าค่าสีดำมาตรฐานถึง 30 เท่า วัสดุนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Vantablack หรือ Vertically Aligned Carbon Nanotube Arrays 

เวลาพูดถึงสีดำ คนจำนวนมากจะรู้สึกอึดอัดกับมันพอสมควร หลายคนรู้สึกว่าสีดำเป็นสีแห่งความตาย ความมืด ความเศร้า มีคนวิเคราะห์ว่า ที่เป็นอย่างนี้เกี่ยวข้องกับคำสอนในทางศาสนาด้วย หลายศาสนาเห็นว่าความดีงามบริสุทธิ์ผุดผ่องเกี่ยวข้องกับสีขาว ในขณะที่ความชั่วร้ายเกี่ยวข้องกับสีดำ

ในพระคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าสร้างจักรวาลขึ้นจากความมืด ด้วยการตรัสว่า Let there be light แสงสว่างจึงเกิดขึ้นเพื่อขับไล่ความมืดออกไป ในพระคัมภีร์วิวรณ์ คนขี่ม้าที่เป็นผู้นำภาวะอดอยากยากเข็ญมาสู่โลกก็ขี่ม้าสีดำ ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่านั่นคือพื้นฐานของความรังเกียจสีดำ แต่ที่เป็นพื้นฐานกว่านั้น น่าจะเป็นคำอธิบายทางจิตวิทยาวิวัฒนาการที่ว่ามนุษย์กลัวความมืดมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

มาร์ติน แอนโทนี (Martin Antony) นักวิชาการด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Ryerson ในโตรอนโต ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ The Anti-Anxiety Workbook บอกว่าความกลัวก็เหมือนความเจ็บปวดนั่นแหละ ความเจ็บปวดคือสิ่งที่ปกป้องมนุษย์จากอันตรายขั้นต่อไป เช่นถ้ามือเราไปโดนไฟ เรารู้สึกเจ็บ เราก็จะชักมือออกมาจากแหล่งให้ความร้อนนั้น ความเจ็บปวดจึงสำคัญต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะมันทำให้เราไม่ถึงตาย

ความมืดก็เป็นเช่นเดียวกัน มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ต้องเสี่ยงภัยกับผู้ล่าหรือศัตรูที่แฝงตัวอยู่ในความมืด สัตว์ผู้ล่าจำนวนมากออกหากินในตอนกลางคืน ในตอนกลางคืนที่มืดมิด ผัสสะด้านการมองเห็นของมนุษย์จะจำกัด จึงทำให้เกิดภาวะ ‘ไม่รู้’ ขึ้นมา และเมื่อกลางคืนเท่ากับมืด มืดเท่ากับดำ เราจึงมีแนวโน้มจะเห็นว่าสีดำคืออันตราย คือสิ่งที่เราต้องระวังเอาไว้ก่อน

วิธีคิดแบบนี้ฝังรูปรอยลงไปในจิตใต้สำนึกของเรา จนก่อรูปออกมาเป็นความเชื่อทางศาสนา เรื่องของขาว-ดำ / ดี-ชั่ว เรื่องของธรรมาธรรมะสงคราม แต่น่าสังเกตว่า ในบางยุค มนุษย์ไม่ค่อยกลัวหรือรังเกียจสีดำกันเท่าไหร่ เช่นในยุคกรีกโบราณ จะมีการปั้นหม้อไหพร้อมลวดลายประดับ โดยลวดลายที่ประดับอยู่นั้นจะเป็นสีดำ เรียกว่า Black Figure โดยใช้ดินประเภทหนึ่งวาดทับลงไปบนหม้อหรือไหเป็นรูปร่างต่างๆ เมื่อเผาจะกลายเป็นสีดำ ในยุคโรมันโบราณ สีดำก็เป็นสีของช่างฝีมือหรือศิลปิน (ในขณะที่สีม่วงเป็นของจักรพรรดิ สีแดงเป็นของทหาร สีขาวเป็นของพระ) โดยชาวโรมันมีคำเรียกสีดำอยู่สองคำ คือคำว่า Ater หมายถึงสีดำแบบด้านๆ ไม่เป็นมันเงา กับคำว่า Niger หมายถึงสีดำที่อิ่มเต็มและเป็นมันเงา

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สีอื่นๆ มักมีที่ทางและความหมายของตัวเองที่ค่อนข้างคงที่ (เช่น สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ สีแดงคือความรักหรือความร้อนแรง ฯลฯ) แต่สีดำกลับถูก ‘เหวี่ยง’ ในทางความหมายมากที่สุด มันเป็นทั้งสีแห่งพระเจ้า สีแห่งความตาย สีแห่งแฟชั่นเก๋ไก๋ (เช่นการแต่งตัวแบบ Black Tie) สีแห่งแม่มดหมอผี สีแห่งการต่อสู้ต่อต้าน สีแห่งความสงบ สีแห่งความรุนแรง สีแห่งการผลิตแบบอุตสาหกรรม ฯลฯ

แต่ถ้าถามว่าตัว ‘สีดำ’ เอง มันได้รู้สึกรู้สาอะไรกับ ‘ความหมาย’ ที่มนุษย์ได้สร้าง ยึดมั่น และมอบหมายให้กับสีดำหรือเปล่า

คำตอบที่เราตอบได้ทันทีก็คือไม่ เพราะสีดำไม่ได้มีชีวิตจิตใจ มันเป็นเพียงสีที่สะท้อนแสงออกมาน้อยที่สุด (โดยที่มันก็ไม่ได้ตั้งใจจะสะท้อนแสงให้น้อยหรือมากด้วยซ้ำ) เท่านั้น

เป็นมนุษย์เราเองต่างหากที่ให้ความหมายกับสีดำอย่างจริงจังในแต่ละยุคสมัย