ความสุขของชีวิตเป็นรูปตัว U

มีการวิจัยใหญ่เมื่อหลายปีก่อน แล้วเขาสรุปกันออกมาว่า ความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์เรานั้น มันจะมีลักษณะเป็นกราฟรูปตัว U

ตัว U อย่างไรหรือ – หลายคนอาจจะถาม

ตัว U ที่ว่า ก็คือตอนเด็กๆ เราจะมีความพึงพอใจในชีวิตค่อนข้างมาก (ลองนึกถึงตอนที่เรายังเป็นเด็ก ต่อให้ชีวิตทุกข์ยากลำบากอย่างไร เรามักจะไม่รู้สึกถึงความลำบากเหล่านั้น) แต่ยิ่งโตขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรู้สึกว่าชีวิตเต็มไปด้วยอุปสรรค เต็มไปด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่น จนทำให้ความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตของเราลดลงเรื่อยๆ

คนชอบเปรียบว่า ชีวิตเหมือนการไต่ปีนภูเขา คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ปีนขึ้นไปจนถึงยอดเขาแล้ว แต่ที่จริง กระทั่งเป็นคนที่ปีนขึ้นไปถึงยอดเขา (หรือคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต) พวกเขาก็ไม่ได้มีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตหรอกนะครับ

มันเหมือนปีนไปถึงยอดเขา แล้วก็เจอที่ราบกว้างใหญ่ พลางคิดว่าถ้าเดินต่อไป ประเดี๋ยวก็จะเจอยอดเขาอีกยอดแน่ๆ แล้วถ้าได้ปีนขึ้นไปอีก ก็จะไปถึงที่สุดของที่สุด ที่ทำให้เราลับหายเข้าไปในกลีบเมฆ มีความสุขในดินแดนสุขาวดีแห่งชีวิต

แต่ไม่เป็นอย่างนั้นหรอกนะครับ

ในวัย 20s เรามักจะมีความสุขน้อยกว่าวัยเด็ก และพอถึงวัย 30s เราก็จะมีความสุขน้อยกว่าวัย 20s ยิ่งไปถึงวัย 40s เราก็จะยิ่งมีความสุขลดน้อยลงไปอีก

จนกระทั่งถึง ‘ก้นบึ้ง’ ของมัน

กราฟรูปตัว U จึงเป็นตัวแทนของความสุขในชีวิตคนเรา เมื่อเราเริ่ม ‘เป็นผู้ใหญ่’ ความสุขของเราจะน้อยลงเรื่อยๆ มีการศึกษาในคนจาก 72 ประเทศ พบว่าแนวโน้มแบบนี้เกิดขึ้นกับคนโดยรวมเหมือนๆ กันไปหมด ไม่ว่าจะใช้ปัจจัยควบคุมอะไรก็ตาม แต่ลักษณะความสุขก็จะเป็นรูปตัว U คือพอตกลงไปถึงก้นบึ้งแล้ว เริ่มแก่ตัวลงแล้ว เราก็จะค่อยๆ มีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้ขัดกับสามัญสำนึกของเราอย่างมากนะครับ เพราะว่าเรามักคิดว่าชีวิตเป็น ‘ขาขึ้น’ ในวัยหนุ่มสาว แล้วพอถึงวัยกลางคน ก็จะกลายเป็น ‘ขาลง’ ดังนั้นถ้าจะมีกราฟอะไรสักอย่าง ก็ควรจะเป็นกราฟรูปตัว ก หรือ U คว่ำ เสียมากกว่า คือพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วค่อยตกลงมา

แต่คุณสังเกตไหมครับ ว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด หรือฆ่าตัวตายมากที่สุด มักจะเป็นคนที่อยู่ในช่วงวัย 30s ถึง 40s สถิติการฆ่าตัวตายในหลายประเทศบ่งชี้ออกมาว่าอยู่ในช่วง 40s นี่แหละ ซึ่งก็สอดคล้องกับกราฟแบบตัว U ที่ว่านี้ด้วย

ที่จริงแล้ว ‘ก้นบึ้ง’ ของกราฟนั้น ในแต่ละประเทศอาจมีตัวเลขเฉลี่ยไม่เท่ากันนะครับ อย่างเช่นถ้าเป็นคนสวิส เขาบอกว่าความพึงพอใจในชีวิตจะตกต่ำที่สุดที่อายุเฉลี่ย 35 ปี แต่ถ้าเป็นชาวยูเครนนี่ ชีวิตแย่มากเลย เพราะจะอยู่ในช่วงขาลงไปจนถึงอายุ 62 ปี แล้วถึงจะเป็นขาขึ้น

แต่ถ้าเป็นตัวเลขเฉลี่ยของคนทั้งโลก ก็จะอยู่ที่ 46 ปี นั่นหมายความว่า ถ้าเราอายุยังไม่ถึง 46 ปี (หมายถึงคนโดยเฉลี่ยทั่วไปนะครับ เพราะถ้าดูในแต่ละคน ก็จะมี ‘ก้นบึ้ง’ ที่ว่า อยู่ในช่วงวัยแตกต่างกันออกไปอีกที) เราก็จะมีความสุขลดน้อยลงเรื่อยๆ

งานทางประสาทวิทยาพยายามตอบคำถามว่า ทำไมมนุษย์เราถึงเป็นแบบนี้ แต่ก็อธิบายไม่ได้ทั้งหมด

งานชิ้นหนึ่งใช้วิธีสแกนสมองเพื่อดูว่าสมองของเราทำงานอย่างไรในแต่ละช่วงวัย โดยเปรียบเทียบปฏิกิริยาของคนวัย 30 ปี กับ 70 ปี และพบว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของคนที่อายุมากกว่า จะเลือกนำเสนอให้ตัวตนของเรารับรู้เฉพาะประสบการณ์ที่ ‘หอมหวาน’ มากกว่า พร้อมกับเก็บกดประสบการณ์เลวร้ายเอาไว้ เราจึงรู้สึก ‘พึงพอใจ’ กับชีวิตของเรามากกว่า

สมองยังทำให้คนหนุ่มสาวแสดงออกแบบเดือดดาลด้วย เพราะมันทำให้เราชอบตอบโต้ออกมาตรงๆ แต่พออายุมากขึ้น สมองจะกำกับอารมณ์ให้แสดงออกอีกแบบหนึ่ง เหมือนที่คนชอบพูดว่า พอแก่แล้วคนเราจะ ‘เย็น’ ลงนั่นแหละครับ สมองของเราทำงานแบบนั้นจริงๆ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไร

ที่สำคัญกว่าการรู้ว่าชีวิตเป็นรูปตัว U ก็คือ พอมันเป็นตัว U ที่ปลายขาขึ้น (ตอนอายุมากๆ) ก็แปลว่า ‘ตัวตน’ ของเราไม่ได้ ‘แข็งตัว’ เหมือนที่เราชอบคิดกันนะครับ คือหลายคนคิดว่า พอเราอายุสักสามสิบปี บุคลิกภาพของเราก็จะตายตัว เราจะเป็นคนแบบที่เราเป็นตลอดไป แต่จริงๆ แล้ว มันมักจะเป็นอย่างนั้นไปจนถึงก้นบึ้งของตัว U เท่านั้น แล้วหลังจากนั้นก็มักเกิดการสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา เหมือนที่ฝรั่งชอบพูดว่า ‘ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุสี่สิบปี’ นั่นแหละครับ

อย่างที่ผมชอบพูดบ่อยๆ ว่าคนที่อยู่ในวัยปลายสามสิบหรือต่อต้นสี่สิบ มักจะชอบพูดหรือใคร่ครวญถึงความตาย ความล่มสลาย การจบสิ้นของชีวิต แต่ถ้าเราไปดูผู้อาวุโสวัยหกสิบเจ็ดสิบปี ถ้าสุขภาพยังดีอยู่ เราจะพบว่าคนเหล่านี้กลับแข็งขัน ทำงานกันสู้ตายไม่แพ้คนหนุ่มสาวเลย แม้จะเข้าใจโลกที่เปล่ียนไปไม่ได้ แต่ในเรื่องของความแอ็คทีฟหรือพึงพอใจในชีวิตนั้น ในหลายกรณีกลับมีมากกว่า

นั่นแปลว่า ‘ตัวตน’ ของคนเราไม่ได้หยุดการเปลี่ยนแปลง แต่กลับเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และมักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีด้วย อย่างหนึ่งเพราะคนที่สูงวัยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกอีกต่อไป แต่รู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองน่าจะชอบหรือน่าจะไม่ชอบ อะไรคือสิ่งที่น่าจะเหมาะหรือไม่เหมาะกับตัวเอง

ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้คนเหล่านี้มีความพึงพอใจในชีวิตของตัวเองมากขึ้น

และเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ใครที่กำลังหดหู่หม่นซึมในวัยสามสิบหรือต้นสี่สิบ ก็อย่าเพิ่งรีบเศร้ากันไปนะครับ 

รอให้มีชีวิตเลยตัวเลขเฉลี่ย (คือ 46 ปี) กันก่อนแล้วค่อยพิจารณาดูอีกทีก็ได้ ว่าทฤษฎีที่ว่ามาทั้งหมดนี้,

มันเป็นจริงหรือเปล่า