มีเพื่อนดีชั่วชีวิต

ใครๆ ก็รู้ว่าคบคนดีจะทำให้เราดีไปด้วย คบคนไม่ดี ชีวิตก็อาจจะแย่

แต่เพิ่งมีการสรุปการศึกษาเมื่อสักสองปีที่แล้วมานี้เองครับ ว่าคำพูดที่ว่าข้างต้นนั้น ไม่ได้เป็นจริงแค่ในเรื่องความดีความเลวแบบคบคนพาลพาลพาไปหาผิดเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับ ‘สุขภาวะ’ (Well-Being) ของชีวิตในระยะยาวอีกด้วย

การศึกษาที่ว่าไม่ใช่ทำกันเล็กๆ น้อยๆ นะครับ แต่เป็นการศึกษาที่ยาวนานถึง 30 ปีกันเลยทีเดียว กับการศึกษาของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ที่บอกว่า ‘ปริมาณ’ ของเพื่อนที่เราคบหาในวัย 20s กับ ‘คุณภาพ’ ของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เรามีในวัย 30s จะส่งผลต่อชีวิตที่เหลือของเราอย่างใหญ่หลวงยิ่งนัก

ที่เขาใช้คำว่า ‘ปริมาณ’ (Quantity) กับ ‘คุณภาพ’ (Quality) นั้น ไม่ได้เป็นแค่การเล่นคำเก๋ๆ เท่านั้น แต่มีความหมายตามนั้นจริงๆ

ผู้ทำวิจัยเรื่องนี้คือคุณเชอริล คาร์ไมเคิล (Cheryl Carmichael) เธอบอกว่าการศึกษายาวนานนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราอายุมากถึง 30s แล้ว ปริมาณความสัมพันธ์ (หรือหมายถึงจำนวนเพื่อนที่มีมากขึ้น หรือมีความสัมพันธ์กับคนถี่ๆ) เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมี ‘ประโยชน์ในทางจิตวิทยาสังคม’ (Psychosocial  Benefits) มากเท่าไหร่ กลายเป็นว่า วัย 30s นั้น ต้องการความสัมพันธ์ที่ ‘มีคุณภาพ’ ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและน่าพึงพอใจมากกว่า

แต่แน่นอน การที่คนเราจะมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพได้ ก่อนหน้านั้นก็ต้องผ่านการ ‘คัดเลือก’ ในทางสังคมมาก่อนพอสมควร ซึ่งวัยที่จะเกิดการคัดเลือกดังกล่าว ก็คือวัย 20s นี่แหละครับ เพราะเป็นวัยที่เราได้พบเจอผู้คนมากมาย ทำให้เกิดการคัดเลือกขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

วัย 20s คือวัยที่เราจะได้พบกับคนที่มีปูมหลังแตกต่างจากเราเยอะที่สุด เพราะเป็นทั้งวัยที่เราเรียนในมหาวิทยาลัย (ซึ่ีงจะมีคนมาจากที่ไกลๆ แตกต่างจากการเรียนในโรงเรียนที่มักอยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน) รวมทั้งเป็นช่วงที่เราเริ่มทำงานครั้งแรก จึงต้องพบกับสภาพแวดล้อมใหม่ไม่เหมือนเดิม วัย 20s จึงเป็นเหมือนวัยสั่งสม ‘ข้อมูล’ ของชีวิต และเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ในแบบที่เราต้องการจะมีในช่วงเวลาถัดไป

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าคนวัย 20s จะต้องการแต่ความสัมพันธ์มากปริมาณและไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพนะครับ เอาเข้าจริงแล้ว ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีคุณภาพเป็นเรื่องที่คนทุกวัยต้องการนั่นแหละ เพียงแต่มันจะ ‘เป็นประโยชน์’ (ในทางจิตวิทยา) กับคนวัย 30s ขึ้นไปมากกว่าคนวัย 20s พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนวัย 20s ไม่ค่อยต้องการความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดหรือน่าพึงพอใจมากเท่าต้องการเจอคนเยอะๆ

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ไม่ได้แปลว่าคนวัย 20s ที่มีเพื่อนเยอะแยะมากมายเหนือกว่าคนอื่น จะต้องมีเพื่อนที่ดี (หรือมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพดี) ตามไปด้วยโดยอัตโนมัติเมื่ออยู่ในวัย 30s นะครับ

คุณอาจสงสัยว่า เขาศึกษาเรื่องนี้ยังไง แล้วทำไมถึงต้องใช้เวลาตั้ง 30 ปีในการศึกษาด้วย

การศึกษาเรื่องนี้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคเจ็ดศูนย์โน่นแน่ะครับ โดยในตอนนั้น ผู้เข้าร่วมหรืออาสาสมัครจะมีอายุ 20 ปี แต่ละคนจะต้องบันทึกปฏิสัมพันธ์ประจำวันของตัวเองกับคนอื่นๆ พร้อมทั้งให้คะแนนว่า ปฏิสัมพันธ์นั้นๆ เป็นไปอย่างใกล้ชิดมากน้อยแค่ไหน แล้วเป็นปฏิสัมพันธ์ที่น่าพึงพอใจมากแค่ไหน เรียกการบันทึกนี้ว่า RIR หรือ Rochester-Interaction Record ซึ่งวิธีบันทึกก็จะมีรายละเอียดต่างๆ อีกทีหนึ่ง คือเป็นการบันทึกที่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน ไม่ใช่จะบันทึกอะไรก็บันทึกกันลงไป เป็นวิธีที่นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์สามคนช่วยกันจัดทำขึ้น

RIR ถือเป็นเทคนิคการเก็บข้อมูลเชิง ‘ไดอารี่’ แบบแรกของโลก เกิดขึ้นเพื่อตรวจสอบกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นเองในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันนี้มีการนำวิธีการแบบนี้มาใช้ในการศึกษาพฤติกรรมทางสังคมอย่างกว้างขวาง แต่กระนั้น ข้อมูลที่ได้จะมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับ ‘ความจริงแท้’ ของผู้บันทึก (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้ให้ข้อมูลโกหกนะครับ แต่หมายถึงคนเรามักจะไม่รู้หรอกว่าตัวเองมี ‘อคติ’ อย่างไรบ้าง) จึงต้องมีวิธีคำนวณเพื่อกำจัดความเบี่ยงเบนของข้อมูลอีกทีหนึ่งด้วย

อาสาสมัครในการศึกษานี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 222 คน แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ยาวนานมาก จึงสามารถตามผลจนตลอดรอดฝั่งได้ 133 คน (เพราะบางคนก็ย้ายที่อยู่หรือขาดการติดต่อกันไป) ถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใหญ่มากเท่าไหร่ แต่ก็น่าสนใจมากพอสมควร โดยเมื่ออาสาสมัครอายุครบ 30 ปี ก็จะมาเก็บข้อมูลกันอีกที จากนั้นก็ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอีก 20 ปี คือพออาสาสมัครอายุครบ 50 ปี ก็มีการเก็บข้อมูลอีกหนหนึ่ง

การเก็บข้อมูลตอนอายุ 50 ปีนี่ จะไม่เหมือนตอนอายุ 20 หรือ 30 ปีแล้วนะครับ เพราะนอกจากถามเรื่องปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนสนิท (ที่ยังเหลืออยู่) แล้ว ยังมีการถามเรื่องความโดดเดี่ยว ความสุข (หรือไม่มีความสุข) รวมไปถึงการเกิดโรคซึมเศร้าในอาสาสมัครด้วย นั่นก็คือการดู ‘สุขภาวะ’ (Well-Being) ในชีวิตนั่นเอง

ผลการศึกษาที่ได้น่าสนใจมากนะครับ เพราะผลบอกเราว่า การมีเพื่อนดีหรือมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพไม่ได้เป็นแค่เรื่องเพื่อนฝูงหรือความสัมพันธ์ภายนอกตัวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องไปถึง ‘สุขภาวะ’ (Well-Being) โดยรวมที่อยู่ ‘ภายในตัว’ อื่นๆ ด้วย ที่เด่นชัดก็คือเรื่องของการเป็นโรคซึมเศร้าที่น้อยกว่า หรือมีความสุข (ในด้านอื่นๆ ของชีวิตที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่ว่า) มากกว่า

อย่างไรก็ตาม เวลาดูผลการศึกษานี้ หลายคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาหลายอย่างได้ อย่างเช่นจำนวนตัวอย่างที่ศึกษา (คือ 133 คน) มันมากพอแล้วหรือเปล่าที่จะสรุปอะไรออกมา แล้วคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มไหนกันแน่ เป็นตัวแทนของคนวัย 20s หรือ 30s ได้เลยหรือ

ผู้วิจัยบอกว่า จริงอยู่ที่อาจแลดูเป็นการศึกษามีอคติอยู่บ้าง เพราะอาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษา และเป็นกลุ่มคนที่มี Privilege มากพอสมควรในสังคมอเมริกันด้วย คือสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในอเมริกาได้ (ในยุคเจ็ดศูนย์) แต่ก็มีการคำนวณตัวแปรต่างๆ พบว่าแม้ใช้กลุ่มตัวอย่างที่กว้างกว่านี้ ผลก็น่าจะออกมาไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีคนตั้งคำถามว่าในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผลการศึกษาแบบนี้จะมีประโยชน์จริงหรือเปล่า เพราะคนในยุคเจ็ดศูนย์ (คือเมื่อหลายสิบปีก่อน) ย่อมแตกต่างจากคนในยุคนี้ 

ถ้าถามว่า อะไรที่ต่างไป คำตอบก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม’ (Social Connections) ที่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์แทบจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และที่จริงก็ไม่ใช่แค่กับคนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลส์เท่านั้น แต่กระทั่งกับคนรุ่นเก่าที่ตอนนี้อายุมากๆ ก็สามารถใช้สื่อสังคมเหล่านี้ย้อนกลับไป ‘เชื่อมต่อ’ (Reconnect) กับความสัมพันธ์ในอดีตของตัวเองได้ด้วย

ความต้องการในเรื่อง ‘ปริมาณ’ กับ ‘คุณภาพ’ ของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโลกยุคนี้ จึงอาจเหมือนหรือต่างจากโลกยุคเจ็ดศูนย์ก็ได้

แต่กระนั้น ผลการศึกษานี้ก็ทำให้เราเห็นว่า ในทางจิตวิทยาสังคมแล้ว กลุ่มตัวอย่างเดียวกัน เมื่ออยู่ในวัย 20s กับ 30s กลับต้องการรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน

ผลการศึกษานี้อาจทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูตัวเองนะครับ ว่าความสัมพันธ์ในวัย 20s กับ 30s ของเราเองนั้นเป็นอย่างไร และมันจะส่งผลอย่างไรเมื่อเราอายุมากขึ้นกว่านี้