ละครเวทีเรื่อง สวรรค์อาเขต (SAWAN Arcade: A solo performance by Ornanong (B- Floor Theatre)) เป็นละครแสดงเดี่ยว โดย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ นี่เป็นละครที่ ‘ต้องดู’ แห่งปี 2018 เลยทีเดียว เพราะเป็นละครที่ทรงพลังมากๆ แม้เป็นการแสดงเดี่ยว แต่กลับเปี่ยมไปด้วยคลื่นสั่นสะเทือนราวกับมีคนเป็นสิบเป็นร้อย (หรืออาจถึงพันหมื่น) วิ่งกราวกรูอยู่ในนั้นด้วยความทุกข์สาหัสที่ไม่มีใครมองเห็น
สารภาพว่า ตอนที่ดูละครเรื่องนี้ไม่ได้นึกถึงอะไรอื่นเลย นอกจากคำพูดของ ฌอง ฌาคส์ รุสโซ ที่พูดถึงช่อดอกไม้และตรวน
รุสโซพูดในทำนองที่ว่า ว่าการอยู่ในสังคมที่มีลักษณะอำนาจนิยม ก็เหมือนเราถูกล่ามตรวนอยู่ แต่เรามองไม่เห็นตรวนนั้น เพราะมันเป็นตรวนที่มีช่อดอกไม้ (Garland of Flowers) ปิดบังโซ่ตรวนพวกนั้นอยู่ เราจึงชื่นชมมันได้ และอาจถึงขั้น ‘รักความเป็นทาส’ ของตรวนที่ตรึงร่างกายของเราไม่ให้ขยับไปจากที่ ไม่ให้ตั้งคำถาม แถมยังรักสภาพความเป็นทาสของตัวเองมากเสียจนเรียกความเป็นทาสของตัวเองว่าเป็น ‘สังคมศิวิไลซ์’ ด้วย
ก็เหมือนสวรรค์อาเขต
ละครเริ่มขึ้นด้วยการให้ก้าวเข้าไปในโรงละครทีละคน เมื่อม่านเปิด ไฟสีแดงฉานสาดเข้าปะทะหน้าจนมองไม่เห็นอะไรอื่น ผมรู้สึกเหมือนตัวเองถูกเลือดประโคมเข้ากบตา โลกแดงฉานไปด้วยเลือด แล้วถัดจากนั้นก็ตกอยู่ในความมืด เหมือนจู่ๆ ก็ล้มตายไปไม่รู้ตัวด้วยฝีมือของอะไรบางอย่าง ก่อนจะมีแสงแลบแปลบปลาบ แล้วจึงค่อยๆ มีเสียงดนตรีแสนสวยดังขึ้น พร้อมกับนักแสดงที่ผุดขึ้นมาพร้อมแสงสว่าง ฉายให้เห็นว่าคนดูทั้งหมดกำลังอยู่ใน ‘สวรรค์’
มันคือสวรรค์แห่งดอกบัว
โรงละครทั้งโรงถูกคลุมด้วยผ้าลายดอกบัวสีสวยสว่างกระจ่าง แต่ข้างใต้คือยางรถยนต์กองเกลื่อนเต็มไปหมด ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ที่ผมนึกถึงรุสโซ ผมอดคิดไม่ได้ว่า Garland of Flowers ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับดินแดนแห่งนี้ ก็คือ Garland แห่งดอกบัว ที่เอื้อให้ตีความไปได้หลายหลาก เพราะเกี่ยวพันกับความเชื่อหลายมิติ ซึ่งนักแสดงก็ทำให้เราเห็นลึกไปถึงจักรวาลแห่งการตีความที่กว้างไกล แล้วแต่ว่าใครจะใช้ต้นทุนไหนมาตีความสวรรค์แห่งดอกบัวนี้ไปในทางไหน
แต่กระนั้น ใต้ดอกบัวก็คือตรวน ยางรถยนต์คือตรวนที่ล่ามเราเอาไว้กับความเป็นทาส กับการไม่กล้าอ้าปาก ‘ตั้งคำถาม’ มันฉายชัดมากขึ้นเมื่อ ‘นางสวรรค์’ พยายามดึงบัวที่ทำจากยางรถยนต์ขึ้นเหนือน้ำ แล้วให้ทุกคนช่วยกัน ‘เด็ด’ ชีวิตของยางที่เกลือกกลั้วอยู่กับพื้นดินต่ำช้า ให้ขึ้นมาบานสะพรั่งเป็นบัวพ้นน้ำใน so called สวรรค์
ยางรถยนต์จึงทำหน้าที่หลากหลาย ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่ถูกมองว่าต่ำชั้น เพื่อให้ Righteous Minds ทั้งหลายได้ ‘ฉวยใช้’ เป็น ‘แต้มบุน’ ด้วยการดึงความต่ำช้าพวกนั้นขึ้นมาอยู่บนสวรรค์แสนงาม
แต่แล้วฉากก็เปลี่ยนไป สำหรับผม ละครเรื่องนี้มีสององก์ องก์แรกจบสิ้นลงเมื่อผ้าผืนสวยนั้น ‘ถูกเลิก’ ขึ้น เปิดโปงให้เห็นว่า ใต้ตะปุ่มตะป่ำแห่งผืนผ้าสีสวย ล้วนคือยางรถยนต์สีดำทะมึน แลดูทมิฬหินชาติเมื่อถูกวางกองเรียงกัน คลับคล้ายเป็น Barricade หรือเครื่องกั้นของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถใน Les Miserable มันคือการต่อต้านที่อวลอยู่ในควันละม้ายควันปืนและการต่อสู้
เป็นสภาวะแบบนี้นี่เอง ที่ตัวละครพยายามอ้าปากถาม – นั่นดอกอะไร, นั่นดอกอะไร, และไม่มีคำตอบ คำถามนั้นเหมือนเรากำลังถามว่า สิ่งที่เห็นนั้นคือดอกไม้จริงหรือ หรือว่าเป็นแค่ตรวน คำถามถัดมาที่หลุดร่วงจากปากคือ – ทำไม, ทำไม เป็นคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อยางรถยนต์ทำหน้าที่เป็นห่วงบ่วง ค่อยๆ ล้อมรัดแน่นเข้าๆ จนกระทั่งตัวละครไม่เหลือตัวตนอีกต่อไป เธอกลายร่างเป็นเพียงห่วงยางดำๆ เหมือนตัวอะไรสักอย่างที่ถูกบางสิ่งบีบคั้นบังคับ กระทั่งกลายร่างไม่เหลือความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะเธออ้าปากตั้งคำถามและสงสัย – นั่นดอกอะไร คล้ายถามว่า – นั่นเป็นดอกไม้จริงหรือ
การกลายร่างของตัวละครให้ผลสั่นสะเทือนมาก โดยเฉพาะช่วงท้าย ที่เธอดิ้นหลุดออกมาจากการบีบรัดของยางรถยนต์หรือของตรวน ตอนนี้ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว ไม่มีแม้กระทั่งผืนผ้าดอกบัวที่ ‘แสร้ง’ ทำเป็นคลุมตรวนดำทะมึนนั่น เธอต้องอยู่กับมันตรงๆ พร้อมกับฐานรากที่สั่นคลอน ทว่าด้านบนยังต้องร่ายรำไปกับดนตรีแสนอลังการยิ่งใหญ่ กึ่งตะวันออกกึ่งตะวันตก กึ่งดิบกึ่งดี กึ่งทาสกึ่งศิวิไลซ์ ด้วยใบหน้าที่ไม่เหลือรอยยิ้มปั้นแต่งแสร้งว่าใดๆ อีก
ส่วนที่ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งของละครเรื่องนี้ก็คือดนตรี มันเป็นดนตรีที่เสียดเย้ย ประชดประชัน เหมือนตึกทรงฝรั่งที่เอาชฎามาครอบ ด้วยสเกลแบบห้าเสียงที่บรรเลงด้วยเครื่องสายฝรั่งทั้งวง บางตอนมีเสียงฟลุทมาแซม และเป็น pentatonic scale แบบที่ไม่เคยจบที่ tonic chord ตรงๆ แต่แทรกเสียงที่ 6 หรือ 13 เข้าไปเสมอ และในบางครั้งก็ชวนฉงนด้วยคอร์ดแบบ augmented ที่บางทีก็ทำให้เกิดความรู้สึกพริ้งพราวแบบตะวันออก ทว่าจะจบด้วยความหนักแน่นของทิมปานีและฉาบ
ดนตรีอลังการแบบนี้ ทำให้นึกถึงเทคนิคแบบละครกรีกคือ Deus Ex Machina ที่หมายถึงฉากประมาณว่าเทพเจ้ายื่นมือลงมาช่วยตัวละคร ซึ่งในละครกรีกสมัยก่อนต้องใช้เครื่องจักร (Machina) ต่างๆ มาทำให้ละครเกิดความอลังการสมกับความเป็นเทพ เพื่อที่ตัวละครจะได้มีตอนจบอันแสนสุข
ตอนต้น ‘สวรรค์อาเขต’ ล้อเล่นกับ Deus Ex Machina แบบขำมาก เพราะให้ดนตรีกระหึ่มจบแบบอลังการซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จักกี่ครั้ง เหมือนพยายามจะบอกเราว่า สถานที่ที่ตัวละครอยู่คือสวรรค์ที่เทพเจ้ามาช่วยเราสร้างครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งก็เสียดเย้ยซ้อนเข้าไปในเรื่องอีกที เพราะที่ที่ตัวละครอยู่ไม่ใช่สวรรค์เฉยๆ แต่เป็นสวรรค์ดอกบัวที่ซ่อนยางรถยนต์ (หรือตรวน) เอาไว้ข้างใต้
รุสโซพูดถึงช่อดอกไม้กับตรวนเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว แต่จนกระทั่งบัดนี้ สภาพเดียวกันกับที่เขาพูดถึงก็ยังคงอยู่ในสวรรค์อาเขต ดินแดนที่แม้จะเดินสะดุดคว่ำคะมำหงายไปบ้าง แต่ทุกคนที่อยู่ในที่แห่งนั้นก็พร้อมหลอกตัวเองเสมอว่าอยู่ในสวรรค์