Millennials and the City : เมืองของคนรุ่นใหม่

สักสี่ห้าปีก่อน เทรนด์ใหม่อย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ (หรือรุ่น ‘มิลเลนเนียลส์’) ก็คือการมีไลฟ์สไตล์แบบ ‘อยู่ในเมือง 

ที่จริงเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดกับชาวมิลเลนเนียลส์เท่านั้นนะครับ แต่คนวัย 20s, 30s, 40s หรือเลยไกลไปกว่านั้น ก็กำลังย้ายตัวเองข้ามาอยู่ในเมืองกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจนเอ็กซ์ เจนบูมเมอร์

เมืองคือสถานที่ที่เต็มไปด้วยทรัพยากร มีงานให้ทำ มีบริการสาธารณสุขต่างๆ ที่ดีกว่า ที่บอกว่าคนแก่แล้วอยากย้ายไปปลูกต้นไม้ทำสวนในต่างจังหวัดนั่น จริงๆ ก็เป็นได้แค่ความฝันที่ไม่ค่อยจะสอดคล้องกับความจริง เพราะยิ่งอายุมาก ก็ยิ่งต้องอยากอยู่ใกล้โรงพยาบาลมาก ดังนั้นเทรนด์ที่เรียกว่า Urbanization จึงเกิดขึ้นกับคนทุกวัย

แต่คำถามใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ เริ่มก้าวเข้าสู่การทำงานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลก พวกเขาต้องการ ‘เมือง’ ในรูปแบบเดียวกันกับเมืองของคนรุ่นก่อนหน้าหรือเปล่า

เวลาเราพูดถึง ‘เมือง’ เรามักนึกถึงศูนย์กลางเมืองใหญ่ที่หนาแน่น แบบที่เรียกว่า Urban Downtown และเราก็มักจะคิดว่า คนรุ่นใหม่พวกมิลเลนเนียลส์ทั้งหลายนี่ ต้องอยากอยู่ในเมืองใหญ่แบบเดียวกับที่เราเคยเห็นสี่สาวเฉิดฉายในซีรีส์อย่าง Sex and the City แน่ๆ เลย

และชีวิตที่อยู่ในเมืองใหญ่ ก็ต้องเป็นชีวิตประเภทที่อยู่คอนโดฯ อาจจะซื้อหรือเช่าก็ได้ แล้วก็ไม่ใช้รถยนต์ จะใช้แต่ขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมไปถึงการปั่นจักรยานหรือเดินอะไรก็ว่ากันไป จำนวนมากอาจถึงขั้นโยนกุญแจรถทิ้งไปเลยก็มี

แต่คำถามก็คือ – นั่นคือ ‘ความจริง’ หรือเป็นแค่ ‘ความเชื่อ’ เท่านั้น?

ตัวเลขจาก U.S. Census Bureau ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 และน่าจะเป็นอย่างนี้มาจนถึงปีนี้ (ตัวเลขของปี 2016 ยังไม่มีรายงานออกมานะครับ) ระบุว่า คนอเมริกันที่อายุระหว่าง 25-29 ปี นั้น มีการ ‘ย้ายออก’ จากเมืองไปอยู่ในย่านชานเมือง (Suburbs) มากถึง 529,000 คน โดยมีคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองแค่ 426,000 คน เท่านั้น

ยิ่งถ้าเป็นคนอายุน้อยกว่านั้นลงไปอีก พบว่าแนวโน้มนี้ยิ่งชัด เพราะคนที่อายุต้น 20s จะย้ายออกจากเมืองมากถึง 721,000 คน ในขณะที่ย้ายเข้าเมืองแค่ 554,000 คน เท่านั้น

คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้จึงคือ – อ้าว! นั่นแสดงว่าเทรนด์ใหญ่อย่าง Urbanization หรือเทรนด์คนย้ายเข้าเมืองนี่ – ไม่เป็นจริงล่ะสิ นี่แปลว่าในอนาคต คนจะย้ายออกไปอยู่ชนบท ไปทำไร่ไถนากันอีกใช่ไหม?

เอิ่ม…คำตอบก็ไม่ได้ ‘เหวี่ยง’ ข้างขนาดนั้นหรอกนะครับ เพราะเอาเข้าจริง มันมีคำอธิบายที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีกหลายอย่าง 

อย่างแรกสุดก็คือ มีการสำรวจพบว่า ชาวมิลเลนเนียลส์จำนวนมากไม่ได้มีวิถีชีวิตในแบบ ‘คนเมือง’ แบบเก่าๆ กันแล้วครับ

วิถีคนเมืองแบบเก่าๆ คืออะไร?

ก็คือเริ่มแรกเดิมที เราจะอยู่ในเมืองที่แบ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัย (คือชานเมือง) แล้วไปทำงานในศูนย์กลางเมือง ทำให้ต้องตื่นแต่เช้า เดินทางฝ่าฟันการจราจรเข้าไปทำงานกันใช่ไหมครับ

แต่แล้วพอเริ่มเหนื่อยหน่าย คนก็ชักคิดว่า เอ๊ะ! แล้วทำไมไม่ย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองมันเสียเลยล่ะ ถ้ามีเงินก็ซื้อคอนโดฯ อยู่ในเมือง จะได้ไม่ต้องเดินทาง แล้วค่อยไปอยู่บ้านในย่านชานเมืองช่วงวันหยุดก็ได้ แล้วเทรนด์นี้ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดกับคนชั้นกลางในเมืองที่พอจะมีฐานะ ทำให้เกิดทั้งที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองและขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่นระบบรางขึ้นมาอย่างเฟื่องฟู

แต่พอโลกเปลี่ยนไปอีกขั้น ตอนนี้การทำงานของคนชักจะไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ที่ออฟฟิศกันแล้ว ออฟฟิศยุคใหม่มีการปรับเปลี่ยนมากมายหลายแบบ (ซึ่งคงได้พูดถึงกันในโอกาสต่อไปว่าออฟฟิศของชาวมิลเลนเนียลส์นั้นเป็นอย่างไร) ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องทำงานแบบเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น หลายคนจึงชักคิดขึ้นมาว่า อ้าว! แล้วทำไมต้องมาแออัดอยู่ในใจกลางเมือง นั่งทำงานอยู่ใน ‘กล่อง’ (เช่นที่คอนโดฯ หรือร้านกาแฟ) ที่เต็มไปด้วยผู้คนและเสียงดังจ้อกแจ้กจอแจด้วยเล่า ทำไมจะไปนั่งทำงานอยู่ในย่านชานเมืองแสนสบาย มีแดดส่อง ลมพัด นกร้อง ไม่ได้

ดังนั้นจึงเกิดวิถีชีวิตของคนเมืองรุ่นใหม่อีกแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือการย้ายออกไปอยู่ในย่านชานเมืองมากขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ ‘ผลัก’ ให้ชาวมิลเลนเนียลส์ออกไปอยู่ไกลจากศูนย์กลางเมืองมากขึ้นก็คือ ‘ค่าเช่า’ (หรือค่าผ่อนบ้าน) เพราะเมืองใหญ่นั้นเราก็รู้อยู่ว่าค่าครองชีพและราคาที่อยู่อาศัยต่อตารางเมตรนั้นสูงแค่ไหน

แต่ความ ‘แพง’ ของเมืองใหญ่ ไม่ได้สอดคล้องกับ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของชาวมิลเลนเนียลส์อีกต่อไปแล้ว ทำไมพวกเขาจะต้องจ่ายค่าเช่าบ้านหรือค่าผ่อนคอนโดฯ แพงๆ เพียงเพื่อจะซัฟเฟอร์กับเมืองอันเนืองแน่นด้วย ดังนั้นเมื่อพอจะตั้งหลักได้ หลายคนจึงเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในย่านชานเมืองมากกว่า เพราะถือเป็นทั้งการลงทุน สอดคล้องกับการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง และยังสะดวกสบายสอดรับกับไลฟ์สไตล์มากกว่า ปล่อยให้ย่านศูนย์กลางเมืองที่ ‘แพง’ เป็นที่อยู่ของพวกยัปปี้ เจนเอ็กซ์ และบูมเมอร์ ไปเถอะ

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ย่านชานเมือง’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชานเมืองเหงาๆ เงียบๆ ไร้สีสันอีกแล้วนะครับ มีการสำรวจของ Urban Land Institute ในสหรัฐอเมริกา ที่สำรวจชาวมิลเลนเนียลส์​วัย 19 ปี เลยไปจนถึงชาวเจนวายวัย 36 ปี เขาพบว่าคนกลุ่มนี้มีแค่ 13% เท่านั้นเอง ที่อยู่ในหรืออยู่ใกล้กับดาวน์ทาวน์ นอกนั้นอยู่ในย่านชานเมืองทั้งนั้น

ต้องทำความเข้าใจกับระบบเมืองของสหรัฐอเมริกาก่อนนะครับ ว่าเมืองใหญ่ในอเมริกานั้น บางทีก็จะมี ‘ย่าน’ อื่นๆ ที่อยู่ล้อมดาวน์ทาวน์ แล้วก็จะมีย่านชานเมืองรายล้อมย่านเหล่านี้อีกทีหนึ่ง ถัดจากนั้นถึงจะมีเมืองเล็กๆ รายล้อมอีกทีเป็นชั้นๆ

เขาพบว่าคนกลุ่มนี้จำนวนมาก (คือ 35%) อาศัยอยู่ในย่านที่ไม่ใช่ดาวน์ทาน์ แล้วอีก 28% จะอยู่ในย่านชานเมือง ซึ่งก็มีทั้งย่านชานเมืองเก่ากับย่านชานเมืองใหม่ ถัดจากนั้นอีก 17% ถึงจะอยู่ในเมืองเล็กที่ไกลออกไปอีกที ส่วนที่อยู่ในชนบทไปเลยมีอยู่แค่ 7%

เพราะฉะนั้น ชาวมิลเลนเนียลส์หรือคนรุ่นใหม่ทั้งหลายจึงไม่ได้อยาก ‘หนีเมือง’ ออกไปอยู่ในชนบทหรอกนะครับ พวกเขาเพียงแต่อยาก ‘สร้าง’ ย่านที่อยู่ใหม่ของตัวเองเท่านั้น จึงเกิดวลีใหม่ที่เรียกว่า Ubanizing the Suburbs คือทำย่านชานเมืองให้เป็นเมืองที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพอยู่ในตัว โดยไม่ได้มีเป้าหมายจะสร้างเมืองใหญ่ขึ้นมา

แนวโน้มนี้จึงทำให้เกิดเนื้อเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่าเป็นเนื้อเมืองลูกผสม (Hybridized Urban-Burb) ขึ้น คือกึ่งๆ ไม่ได้เป็นเมืองแบบเมื้องเมือง แล้วก็ไม่ได้เป็นชนบทขาดแคลนเสียทีเดียว ทว่ามี ‘ไลฟ์สไตล์’ (ซึ่งรวมไปถึงการทำงาน) แบบคนเมือง เพียงอยู่ใน ‘ฉาก’ ที่ไม่แออัดหนาแน่นเท่าเมือง โดยมีการคมนาคมสัญจรเป็นโครงข่ายที่สะดวกสบาย

ในไทย เราจะเริ่มเห็นเทรนด์คล้ายๆ กัน แต่ไม่เห็นชัดกับย่านชานเมืองรอบกรุงเทพฯ มากเท่ากับการสร้าง ‘ความเป็นเมือง’ ให้กับหัวเมืองในต่างจังหวัด เราจะเริ่มเห็นไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองในจังหวัดอย่างขอนแก่น ลำปาง อุดรธานี ฯลฯ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว แต่เกิดขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่อพยพหนีเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ กลับไปอยู่ที่บ้านเกิด จึงลด ‘ต้นทุน’ ค่าที่อยู่อาศัย แต่สามารถทำงานได้โดยผ่านเครือข่ายออนไลน์ ทำให้เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว แม้รายได้อาจน้อยกว่าทำงานในเมืองหลวงนิดหน่อย แต่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่ากันมาก ในขณะที่คุณภาพชีวิตก็ดีกว่าอย่างเทียบกันไม่ติด

ในอนาคตอันใกล้ เราจะเริ่มเห็นการกลายกลืนระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจไม่เกิดการแบ่งแยกระหว่างเมืองและชนบทอีกแล้วก็ได้