ใครๆ ก็บอกว่า ผู้ชายเป็นเพศที่ ‘ใหญ่’ หรือ ‘เหนือ’ กว่าผู้หญิง มาเป็นเวลานับพันๆ ปี กันทั้งนั้นใช่ไหมครับ
แต่คำถามก็คือ เรารู้ได้อย่างไร ว่าเมื่อครั้งโบราณโน้น ผู้ชาย ‘ใหญ่’ หรือ ‘เหนือ’ กว่าผู้หญิงเหมือนในปัจจุบันจริงๆ ตามมาด้วยคำถามที่ว่า – ก็แล้วอาการ ‘ใหญ่’ หรือ ‘เหนือ’ กว่าที่ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรกันแน่
เชื่อไหมครับ ว่าคำตอบต่อคำถามนี้ วางตัวอยู่บน ‘การค้นพบ’ ทางวิทยาศาสตร์!
เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งมีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เล่มหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เล่าถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งที่เราค้นพบในมนุษย์โบราณ ซึ่งถ้าแค่ค้นพบเฉยๆ ก็ไม่กระไรนัก แต่การค้นพบนี้ มีการนำมา ‘ตีความ’ อีกต่อหนึ่ง แล้วการตีความที่ว่า ก็นำไปสู่คำตอบ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของคำถามที่เราจั่วหัวเอาไว้ข้างต้น
การค้นพบนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน เป็นการขุดค้นและศึกษาซากกระดูกของมนุษย์โบราณสมัยนีโอลิธิค (Neolithic) กับยุคบรอนซ์ (Bronze Age) ถึง 175 ร่าง
ใครๆ ก็รู้ใช่ไหมครับ ว่าจีนนั้นเป็นประเทศที่ชายกับหญิงมีสถานะแตกต่างกันแค่ไหน โดยเฉพาะจีนยุคโบราณ คือถ้าใครมีลูกเป็นหญิงนี่ แทบจะต้องเอาขี้เถ้ายัดปาก เพราะการเกิดเป็นหญิงไม่มีความสำคัญอะไรเท่าไหร่เลย ไม่เหมือนการมีลูกเป็นชาย ที่จะทำหน้าที่สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลต่อไปได้
เล่ากันว่า แม้แต่ขงจื่อเองยังเคยพูดไว้ว่า ผู้หญิงนั้นเป็นเพศที่จัดการได้ยาก ถ้าปล่อยให้ผู้หญิงอยู่ใกล้ตัวมากเกินไป เธอก็จะไม่เชื่อฟังหรือกระด้างกระเดื่องได้ แต่ถ้าให้ผู้หญิงอยู่ห่างตัวเกินไป ก็จะเกิดความเกลียดชังขึ้นมาได้เหมือนกัน พูดอีกอย่างก็คือ – เอาใจไม่ถูกนั่นแหละครับ
คำกล่าวที่ว่ากันว่าเป็นของขงจื่อนี้จะเป็นขงจื่อจริงหรือไม่ก็ไม่รู้นะครับ แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ คำพูดทำนองนี้แสดงให้เห็นถึง ‘อคติทางเพศ’ ที่แพร่หลายในดินแดนจีนมาตั้งแต่โบราณนานนมแล้ว
ดังนั้น การศึกษาซากกระดูก 175 ร่างที่ว่านี้ เมื่อมีการค้นพบอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงเป็นชาย จึงน่าสนใจ และน่านำมาเล่าต่อเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ ในซากกระดูกทั้ง 175 ร่างนั้น มีการศึกษาเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (หรือ connective tissue) ซึ่งก็คือคอลลาเจนที่ยังหลงเหลืออยู่ มีการศึกษาธาตุที่เป็นองค์ประกอบในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ว่านี้ และพบว่ามีธาตุสองธาตุที่มีนัยที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
อย่างแรกก็คือคาร์บอน เพราะการตรวจสอบคาร์บอนที่หลงเหลืออยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จะทำให้เรารู้ว่าคนกิน ‘ธัญพืช’ (grain) ประเภทไหนบ้าง อย่างที่สองคือไนโตรเจน การตรวจสอบไนโตรเจนที่เหลืออยู่ จะทำให้เรารู้ว่าคนคนนั้นกิน ‘เนื้อ’ มากน้อยแค่ไหน
ยิ่งพอซากกระดูกที่ว่ามีอยู่ด้วยกันสองยุค คือยุคนีโอลิธิก (คือราวๆ 10,000 ปีที่แล้ว) กับยุคบรอนซ์ (คือราวๆ 2,000 ถึง 3,000 ที่แล้ว) ก็เลยทำให้เราศึกษาเปรียบเทียบได้ว่าคนสองยุคนี้ กินอาหารแตกต่างกันอย่างไร
แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เปรียบเทียบแค่นั้นนะครับ เพราะเมื่อนำผลมาพินิจดูอย่างละเอียด เขาพบด้วยว่า มนุษย์ในยุนีโอลิธิคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง จะกินอาหารเหมือนๆ กัน คือกินทั้งเนื้อและธัญพืช
ต้องบอกก่อนว่า ยุคนีโอลิธิคนี่ คือยุคที่มนุษย์เริ่มหันมาทำเกษตรเป็นครั้งแรก คือเริ่มจะอยู่ติดที่ เพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ดังนั้น การพบว่ามนุษย์ยุคนี้กินอาหารเหมือนกันทั้งสองเพศ จึงเป็นการบ่งบอกว่า ก่อนหน้านี้มนุษย์สองเพศน่าจะกินอาหารแบบเดียวกันมาโดยตลอด
แต่พอพ้นยุคนิโอลิธิคไปแล้ว ‘เมนู’ ของมนุษย์เพศชายกับเพศหญิง กลับเริ่มแตกต่างกัน!
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้บอกว่า ‘เมนู’ อาหารของคนสองเพศนั้น จะเริ่มแตกต่างกันเมื่อมนุษย์ค่อยๆ เริ่มทำเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อมาถึงยุคบรอนซ์ ก็จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ผู้หญิงกับผู้ชาย (ในจีน) กินอาหารแตกต่างกัน
หลายคนอาจจะบอกว่า ก็แน่ละสิ เพราะเมื่อเราปลูกธัญพืชได้ มนุษย์ก็ต้องกินอาหารประเภทแป้งและธัญพืชต่างๆ มากขึ้น แต่ผลการศึกษาระบุว่า เมื่อมาถึงยุคบรอนซ์แล้ว ผู้ชายก็ยังคงกินธัญพืชและกินเนื้อเหมือนกับในยุคนีโอลิธิคอยู่ดี ในขณะที่ผู้หญิงกลับกินเนื้อน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
กระดูกของผู้หญิงแสดงให้เห็นถึงอาการกระดูกเปราะบาง (เรียกว่า cribra orbitalia) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ในตอนเด็กๆ ผู้หญิงไม่ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องพอเพียง ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับคติความเชื่อที่ว่า เด็กผู้หญิงไม่ใช่เกียรติใช่ศรีของวงศ์ตระกูล ไม่เหมือนเด็กผู้ชาย จึงน่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การเลี้ยงดูเด็กหญิงคงทำไม่ค่อยดีนัก ทำให้ได้รับสารอาหารน้อย
เขาบอกว่า ผู้หญิงจะกินเนื้อน้อยลง แต่หันมากินวีต (Wheat) มากขึ้น ซึ่งทำให้นักมานุษยวิทยาหลายคนตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่า ที่ผู้หญิงต้องกินวีตแทนเนื้อ เป็นเพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจระหว่างเพศขึ้นมา
สมัยนีโอลิธิค ผู้หญิงจะเป็นผู้ดูแลจัดการทรัพยากรพอๆ กับผู้ชาย อาหารที่ได้รับจึงเหมือนๆ กัน แต่พอมาถึงยุคหลังๆ โอกาสในการจัดการทรัพยากรทางอาหารของผู้หญิงลดลง คนที่มีโอกาสสั่งสมความมั่งคั่งมากกว่าคือผู้ชาย ทำให้เกิดการใช้อำนาจแบบใหม่เพื่อกดผู้หญิง
นอกจากนี้ ปลายยุคบรอนซ์ในจีน ยังเป็นยุคที่เกิดสงครามไปทั่วทั้งดินแดนจีนด้วย สงครามทำให้เกิดความรุนแรง และแน่นอน – ในความรุนแรงที่ต้องขันแข่งกันนั้น เพศชายย่อมเป็นที่พึงปรารถนามากกว่าเพศหญิงที่ถูกมองว่าอ่อนแอ
มีนักจิตวิทยาอธิบายเอาไว้ว่า การที่ผู้ชาย ‘กดขี่’ ผู้หญิง มาตลอดประวัติศาสตร์ (ส่วนใหญ่ของโลกน่ะนะครับ) เป็นเพราะผู้ชายมีความปรารถนาในอำนาจและการควบคุม ทำให้ผู้ชายต้องพยายามเอาชนะและปราบคนกลุ่มอื่นอยู่เสมอ จริงอยู่ว่า ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนเป็นอย่างนี้ และผู้ชายบางกลุ่ม (เช่นคนที่เป็นทาส หรือมีสีผิวชาติพันธุ์แตกต่าง) ก็ถูกกดพอๆ กับผู้หญิงเหมือนกัน แต่คนที่มีอำนาจสูงสุดและสามารถ ‘กด’ คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ดี เพียงแต่ต้องเป็นผู้ชายในกลุ่ม ‘อัลฟ่าเมล’ เท่านั้นเอง
สตีเฟน โกลด์เบิร์ก นักสังคมวิทยาที่โด่งดังเสนอว่า การที่ผู้ชายเป็นอย่างนี้เป็นเพราะผู้ชายมีลักษณะที่ชอบการแข่งขันโดยธรรมชาติ และการที่ผู้ชายชอบการแข่งขัน เป็นผลมาจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่อยู่ในตัว ฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิดความก้าวร้าวและอยากควบคุม ดังนั้นการที่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ชายจะเป็นแบบนี้
นอกจากจีนแล้ว เราจะเห็นว่า ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และในเอเชีย (คือแทบทั้งโลกที่เป็น ‘โลกเก่า’) ผู้หญิงจะอยู่ใต้อำนาจของผู้ชายมาตลอด ในบางที่ ถ้าผู้หญิงถูกข่มขืน จะต้องส่งตัวเมียของชายที่เป็นผู้ข่มขืนไปรับโทษ (เช่นให้เมียของชายคนนั้นถูกข่มขืนบ้าง) แม้กระทั่งในสังคมกรีกโบราณที่ถือว่าทรงปัญญาและเป็นต้นกำเนิดประชาธิปไตย ก็ยังไม่ได้มอบสิทธิใดๆ ให้ผู้หญิงในการตัดสินเลือกตั้ง ทั้งยังมีข้อกำหนดในการควบคุมบังคับผู้หญิงหลายอย่าง เช่น ห้ามออกนอกบ้านในตอนค่ำ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ การค้นพบ ‘ร่องรอย’ ของอาหาร และความแตกต่างในการกินระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในกระดูกชาวจีนโบราณ จึงพอจะบ่งบอกถึงแนวโน้มได้ว่า ความไม่เสมอภาคทางเพศนั้นไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่เริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เราลงหลักปักฐานกลายเป็นสังคมเกษตรนั่นเลยทีเดียว
ดังนั้น การสร้างความเสมอภาคทางเพศจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะมันเป็นมรดกตกทอดที่เกิดขึ้นยาวนานเหลือเกิน