วิทยาศาสตร์แห่งไมเกรน

คุณเคยสงสัยไหม ว่าทำไมเราต้องปวดหัวไมเกรนด้วย 

ไมเกรนคืออะไรกันแน่?

ที่แน่ๆ คุณคงรู้เหมือนผม ว่าไมเกรนไม่ใช่อาการปวดหัวธรรมดาๆ มันเป็นมากกว่าการปวดตุบๆ เป็นมากกว่าการปวดเป็นคลื่นๆ เป็นมากกว่าการปวดเป็นริ้วๆ เป็นมากกว่าการปวดหัวแล้วคลื่นไส้ เพราะไมเกรนอาจเป็นได้ทุกอาการที่ว่ามา เพิ่มเติมด้วยความรู้สึกเหม็นโน่นนี่ ได้กลิ่นอะไรๆ ก็พานจะรู้สึกอยากอาเจียน ซ้ำยังเซนซิทีฟกับแสงและเสียงต่างๆ ด้วย เวลาเป็นไมเกรน เลยต้องเปิดแอร์ให้เย็นจัดที่สุด ปิดม่านให้มืด ไม่มีเสียงอะไรใดๆ ทั้งสิ้น นอนนิ่งเงียบอยู่กับพื้นเหมือนตายไปแล้ว

ไมเกรนเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนราว 10% ของทั้งโลก หลายคนบอกว่า เป็นไมเกรนไม่เป็นไรหรอก แค่กินยาแล้วเข้านอน ประเดี๋ยวตื่นมาก็หาย 

ในอดีต แพทย์และนักวิจัยไมเกรนทั้งหลายเคยคิดว่า ไมเกรนคืออาการผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง แต่ปัจจุบันนี้ แพทย์ถือว่าไมเกรนคืออาการผิดปกติที่เกิดจากการรับรู้ด้วยระบบประสาทแบบหนึ่ง (Sensory Perceptual Disorder) แต่ปัญหาก็คือ ระบบประสาทที่รับรู้มิติต่างๆ ในร่างกายของเรานั้นมีหลายเรื่อง ตั้งแต่แสง เสียง กลิ่น การได้ยิน รวมๆ แล้วเรียกว่าระบบรับความรู้สึก (Sensory Systems)

ที่จริงแล้ว การจะบอกว่าการปวดหัวที่คุณเป็นอยู่ ถือเป็นไมเกรนหรือเปล่าเป็นเรื่องที่บอกเองได้ยากนะครับ เพราะอาการปวดหัวนั้นมีอยู่สองแบบใหญ่ๆ คือปวดจริง ปวดเพราะมันปวดที่หัวจริงๆ มีสาเหตุมาจากหัวของเราจริงๆ เรียกว่า Primary Headaches กับอีกแบบหนึ่งคือ Secondary Headaches ซึ่งอาจจะมีต้นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ปวดหัวจากภายนอกหรือที่อื่น แล้วก่อให้เกิดอาการปวดหัวขึ้นมา แต่ถ้าเป็นไมเกรนแล้วละก็ มันจะเป็น Primary Headache ชนิดหนึ่งนะครับ

ปกติแล้ว ไมเกรนจะปวดหัวครึ่งเดียว คือปวดซีกใดซีกหนึ่ง และอาจจะมีอาการปวดได้นานตั้งแต่ 2 ชั่วโมง ไปจนถึงหลายวันไม่หยุดหย่อน หลายคนเชื่อว่า ไมเกรนถูกกระตุ้นได้ทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และเป็นเรื่องทางกรรมพันธุ์ด้วย เพราะมีรายงานว่า  2 ใน 3 ของผู้ที่มีอาการไมเกรนจะมีญาติเป็นด้วยเหมือนกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนวัยเจริญพันธุ์ เด็กชายจะมีโอกาสปวดหัวไมเกรนมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย แต่หลังวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว ปรากฏว่าผู้หญิงปวดหัวไมเกรนมากกว่าผู้ชายสองถึงสามเท่า ซึ่งแปลว่าไมเกรนน่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายด้วย 

ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วไมเกรนเกิดขึ้นจากอะไร คำตอบหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบก็คือ มันเกี่ยวข้องกับ ‘ตัวรับ’ ในเซลล์ประสาทในสมอง เป็นตัวรับที่เรียกว่า Nociceptor ซึ่งก็คือ Receptor แบบหนึ่ง ที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยการส่งสัญญาณประสาทออกมายังไขสันหลังและสมอง ซึ่งถ้าสมองคิดว่าสิ่งเร้านั้นเป็นอันตราย สมองก็จะ ‘เตือน’ ร่างกาย ด้วยการสร้างความรู้สึกเจ็บขึ้นมา เพื่อให้เราหันไปสนใจอวัยวะส่วนที่เจอกับสิ่งเร้านั้นๆ เพื่อจะได้จัดการกับสิ่งเร้า

กระบวนการนี้เรียกว่า Nociception เป็นกระบวนการที่ค้นพบโดย ชาลส์ สก็อตต์ เชอร์ริงตัน (Charles Scott Sherrington) ในปี 1906 ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กลไกการกระตุ้นอะไรพวกนี้เป็นแบบเครื่องจักร คือพอมีพลังงานจากการกระตุ้น (เช่นถูกตบถูกต่อย) พลังงานก็จะวิ่งเข้าไปหาตัวรับที่ก่อให้เกิดการตอบสนองด้วยการเคลื่อนไหว แต่เชอร์ริงตันทำการทดลองที่แสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นในรูปแบบต่างๆ นำไปสู่การตอบสนองได้หลากหลายมาก ไม่ใช่ตอบสนองแบบเป็นกลไกอย่างเดียว

ทีนี้ในส่วนของไมเกรน นักวิทยาศาสตร์พบว่า Nociceptor นั้น พอมันตรวจจับความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างขึ้นมา (เช่น แสง เสียง หรือกลิ่น) แล้วมันคิดว่าเป็นอันตราย (เป็น Threat ต่อร่างกาย) ก็จะสร้างสารสื่อประสาทประเภท Neuropeptides ออกมา สารนี้จะส่งผลต่อเซลล์รอบข้าง ทำให้เซลล์เหล่านั้นมีความอ่อนไหว (Sensitivity) มากขึ้น แล้วก็ยิ่งปล่อย Neuropeptides ออกมามากขึ้นด้วย

Neuropeptides เป็นโปรตีนโมเลกุลเล็ก (ก็คือเพพไทด์) ที่เซลล์ประสาท​ (คือนิวรอน) ใช้เพื่อสื่อสารระหว่างกัน มันจะไปทำงานกับหลอดเลือดและเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ สมอง ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เพ่ิมการไหลเวียนของเลือด

พอหลอดเลือดเป็นแบบนี้ แพทย์หลายคนก็เลยเชื่อว่าจะทำให้เกิด ‘อาการนำ’ อย่างหนึ่งของไมเกรนที่เกิดขึ้นกับหลายคน เรียกง่ายๆ ก็คืออาการตาพร่าหรือตามัว ฝรั่งจะเรียกว่าเข้าสู่ช่วง Aura คืออาจเกิดาการกับการมองเห็นได้หลายแบบ ตั้งแต่แค่พร่ามัวไปจนถึงบางส่วนของภาพเลือนหายไปเลยก็มี

หลังจากช่วง Aura แล้ว บางคนก็ไม่ได้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนตามมานะครับ เพราะเป็นไปได้เหมือนกันที่ Neuropeptides จะลดปริมาณลง แต่ถ้าเป็นตรงข้าม คือนิวโรเพพไทด์ยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดอาการขยายตัวของเส้นเลือดมากขึ้น (Vasodilation) จนถึงระดับที่ทำให้ปวดหัวแบบไมเกรนได้ การปวดหัวแบบไมเกรนจึงต่างจากการปวดหัวแบบอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นเพราะเส้นเลือดหดตัว (Vasoconstriction)

คุณอาจรู้สึกว่า บางคนเวลาเป็นไมเกรนนี่จะมีอาการที่ ‘โอเวอร์’ มากๆ ไม่รู้จะเปราะบางไปถึงไหนใช่ไหมครับ ได้กลิ่นโน่นนิดนี่หน่อยก็จะอ้วกเสียแล้ว แต่จริงๆ เป็นไปได้เหมือนกันที่ไมเกรนของบางคนจะหนักหนาถึงขั้นที่เกิดอาการ Allodynia คือจะไวกับสิ่งเร้ามากๆ จนถึงขั้นเจ็บปวดกับสิ่งที่ปกติแล้วไม่ทำให้เจ็บปวด เขาบอกว่า บางคนนี่ แค่ไอน้ำจากฝักบัวพลุ่งขึ้นมาโดนผิวก็ทนไม่ได้แล้ว เพราะว่าร่างกายมันไวต่อสิ่งเร้ามาก

ไมเกรนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายแบบ วิธีแบ่งประเภทหนึ่งคือแบ่งตามอาการ มีอยู่ด้วยกันสี่อย่าง คือ

-ไมเกรนเรื้อรัง (Chronic Migraines) จะเกิดขึ้นเดือนละ 15 ครั้งขึ้นไป

-ไมเกรนแบบคลาสสิก (Classic Migraines) เป็นอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการ Aura ของตาด้วย แบบนี้จะทนแสงจ้าไม่ได้เลย

-ไมเกรนทั่วไป (Common Migraines) เป็นไมเกรนแบบที่ไม่มีช่วง Aura มาเตือนก่อน แต่เกิดขึ้นฉับพลันทันที แต่ก่อนหน้านั้นอาจมีปัญหาเรื่องการรับรู้อื่นๆ

-ไมเกรนแบบไม่ปวดหัว (Ocular Migraines) แบบนี้คือจะมีปัญหากับสายตา คือเกิด Aura แต่ว่าไม่รู้สึกปวดหัว

ปัจจุบันนี้ ไมเกรนมียาใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา คุณสามารถปรึกษาแพทย์ได้ว่าควรใช้ยาชนิดไหนให้เหมาะกับไมเกรนของคุณ แต่ปัญหาในทางการวิจัยปัจจุบันที่นักประสาทวิทยาอย่างคุณ Teshamae Monteith แห่งมหาวิทยาลัยไมอามีในฟลอริดาบอกก็คือ การทดลองกับสัตว์ทดลองนั้นยังไม่ให้ผลที่ดีเท่าไหร่ เพราะสมองของสัตว์ไม่ซับซ้อนเท่ากับสมองของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีวิธีศึกษาไมเกรนหลายแบบ โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีการสแกนสมอง ทำให้เราเข้าใจโครงสร้าง ความสัมพันธ์ และสารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไมเกรนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การผ่าสมองของศพที่ป่วยเป็นไมเกรนหนักๆ ก็ช่วยให้เข้าใจสาเหตุของเนื้อสมองส่วนที่เป็น White Matter ซึ่งเกี่ยวข้องกับไมเกรนได้มากขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือมะเร็ง ก็อาจทำให้สมองเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงศึกษาไมเกรนในคนที่เสียชีวิตไปแล้วได้ยาก

คนที่ไม่ปวดหัวไมเกรน อาจไม่รู้ว่าไมเกรนเป็นอาการที่หนักหนามากแค่ไหน ดังนั้นการทำความเข้าใจไมเกรนเพื่อจะบำบัดรักษาให้หายขาดได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ดูสิครับ แค่เขียนถึงไมเกรนแค่นี้ ผมยังรู้สึกได้ถึงคลื่นไมเกรนเป็นริ้วๆ ที่กำลังจะเคลื่อนเข้ามาโจมตีเลย!