18 นิ้วแห่งนิวยอร์ค : ระยะห่างของความสัมพันธ์

 

1

อะไรคือ 18 นิ้ว-ตัวเลขนี้สำคัญอย่างไร?

E.B. White นักเขียนอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่เคยบอกไว้ว่า 18 นิ้ว คือระยะห่างที่เป็นทั้งสายสัมพันธ์และการแยกขาดของนิวยอร์คเกอร์ มันเป็นทั้งความกระหายใคร่รู้ อยากผูกมิตรสัมพันธ์ และเป็นการไว้ตัว ทิ้งระยะห่าง

18 นิ้ว คือระยะที่นิวยอร์คเกอร์สองคนจะหันหน้าเอียงตัวเข้ามาหากันเพื่อพูดคุย หากไกลกว่านี้ ถือว่าเมินหมาง ไม่สนิทสนม ไม่ได้อยากพูดคุยด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่ใกล้กว่านี้ เพราะหากใกล้กว่านี้ ก็จะไม่เหลือระยะห่างที่ห่างเหินและตัดขาดมากพอต่อการเป็นนิวยอร์คเกอร์

ใช่, มันคืออารมณ์ขัน ไม่มีใครเอาไม้บรรทัดออกมาวัดให้ได้ระยะ 18 นิ้วเป๊ะๆหรอก แต่กระนั้น อารมณ์ขันของ E.B. White ก็น่าสนใจยิ่งนัก

นิวยอร์คน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองของโลก ที่ผู้คนมีสายสัมพันธ์พิสดารบางอย่าง นิวยอร์คไม่เหมือนลอนดอน วิสัยผู้ดีอังกฤษมักทำให้ลอนดอนเนอร์สนใจแต่กิจธุระของตัวเอง แทบไม่มีใครทำความรู้จักกับใครอื่นได้หากไม่มีใครอีกคนมาคอยแนะนำตัวให้อย่างเป็นทางการ

นิวยอร์คไม่เหมือนปารีส ที่หากเดินเข้าไปในร้านแล้วไม่เอ่ยทักทายปารีเซียงผู้เป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะสนิทสนมจริงหรือไม่ก็ตาม จะถือได้ว่านั่นคือการสำแดงความหยาบคาย (ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เพราะเหตุใดร้านแบรนด์เนมจึง ‘เหยียด’ ชาวตะวันออกผู้ไร้วัฒนธรรมที่แห่กรูกันเข้าไปซื้อของ)

นิวยอร์คยิ่งไม่เหมือนเกียวโต เมืองครัดเคร่งในขนบ ที่ซึ่งผู้คนคอยสอดส่องทำความรู้จักกันและกันอย่างลับๆเงียบๆตลอดเวลา ใครหายหน้าไปไหน ใครหวนย้อนกลับมาใหม่ ใครทำผิดแบบแผน-ทุกสิ่งล้วนเป็นที่ล่วงรู้

สายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในนิวยอร์คอยู่กึ่งกลางระหว่างสายสัมพันธ์สามแบบนั้น

นิวยอร์คได้ผสมผสานพรสวรรค์แห่งความเป็นส่วนตัวเข้ากับการกระหายใคร่เข้ามีส่วนร่วมได้อย่างวิเศษอัศจรรย์ นิวยอร์คเกอร์มีคุณสมบัติที่คนเมืองอื่นไม่มี ในบางวูบ คุณอาจรู้สึกว่านิวยอร์คเกอร์รักสนุก เริงร่า ทันสมัย ใหม่สด กระโจนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆได้ตลอดคืน หัวหกก้นขวิด เมาหัวราน้ำ ตามติดข่าวสารต่างๆตลอดเวลา มีไลฟ์สไตล์นำยุค เป็นในทุกสิ่งที่คนเมืองผู้กระตือรือร้นเป็น และเป็นต้นแบบให้กับโลก

แต่ในเวลาเดียวกัน นิวยอร์คเกอร์กลับมีอีกมุมหนึ่งที่เงียบเชียบ สงบนิ่งเหมือนอยู่ในฟาร์มส่วนตัว พวกเขามีที่ทางแห่งตน ที่ซึ่งปราศจากการรบกวน ไม่มีใครเข้าถึง นอกจากคนที่คิดเห็นและเป็นเช่นเดียวกัน

E.B. White ใช้คำว่า ‘ฉนวน’ กับการที่ชุมชนอันแน่นหนาแห่งนี้มีผู้คนมากมายมากระทบไหล่กัน พวกเขาอยู่ชิดใกล้ ถูกบีบอัดเข้าหากัน เหมือนโมเลกุลของก๊าซ ที่เมื่อถูกบีบอัดแล้ว อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ความหนาแน่นเพิ่มขึ้น แรงดันเพิ่มขึ้น ปริมาตรลดลง,

มันน่าจะอึดอัด!

แต่ไม่-นิวยอร์คเกอร์มี ‘ฉนวน’ บางอย่างเอาไว้คอยคุ้มกันปัจเจก พวกเขาใช้ฉนวนนี้ป้องกันตัวจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรายล้อมรอบตัว ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นเหตุการณ์เล็กๆรายล้อมรอบตัว หรือเป็นเหตุการณ์ใหญ่โตระดับโลก ไม่ว่าจะน่าดูชม น่าตื่นตะลึง เป็นโศกนาฏกรรม หรือเป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนในโลกล่วงรู้ก็ตาม

เว้นไว้เสียแต่เหตุการณ์ 9/11 อันกระทบกระเทือนถึงทุกผู้คนแล้ว ไม่มีเหตุการณ์อื่นใดอีกที่มีความสามารถในการส่งผ่านคลื่นกระแทกไปสู่นิวยอร์คเกอร์ถ้วนทั่วทุกตัวคนได้

ถูกอยู่ว่า-นิวยอร์คคือเมืองที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ ‘ดูดซับ’ ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา นิวยอร์คจึงกลายเป็นเบ้าหลอม เป็นหม้อใบใหญ่ที่สามารถใส่อะไรลงไปก็ได้ แต่นั่นหมายความถึงระดับมหภาค

ในระดับปัจเจกแล้ว นิวยอร์คนำเสนอวิธีคิดไม่เหมือนเมืองใหญ่อื่นๆอย่างหนึ่งให้นิวยอร์คเกอร์

วิธีคิดนั้นคือ…คุณจะสนใจหรือไม่สนใจอะไรก็ได้!

ในสังคมไทย หากคุณพลาดละครหลังข่าวเมื่อคืน หรือไม่ได้ติดตามชมอารมณ์ขันของท่านผู้นำที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมบางอย่างไปทั่ว คุณมักถูกมองอย่างประหลาดอัศจรรย์ใจ “เธอตกข่าวหรอกหรือนี่” อาจมีใครบางคนกล่าวกับคุณเช่นนั้น ทว่าที่นิวยอร์ค ไม่มีใครตกข่าวอะไร มีแต่คนที่รู้บางเรื่อง ไม่รู้บางเรื่อง และไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง บางคนอาจบอกคุณว่าเกิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้น แต่จะไม่มีใครประหลาดใจหรือรู้สึกว่าคุณพิลึกพิลั่นหากคุณไม่รู้บางเรื่องที่เกิดขึ้นในแถบถิ่น ต่อให้เรื่องนั้นจะใหญ่โตและมีคนรับรู้มากมายเพียงใดก็ตาม

ความสลับซับซ้อนอันเหลือคณานับของนิวยอร์ค-ทำให้ผู้คนเข้าใจความหลากหลายในการรับรู้ได้โดยปริยาย!

ในบางเมืองเช่นเกียวโต หากมีใครสักคนตายด้วยอาการพิสดาร เช่นคานหล่นลงจากเพดานมากระแทกศีรษะตาย แรงกระเพื่อมนั้นอาจเป็นไปในวงกว้างราวกับคานได้หล่นลงกระแทกศีรษะคนทุกคนกระนั้น เช่นกันกับที่หากนางเอกละครหลังข่าวตบนางร้ายเพราะอดรนทนไม่ไหวแล้ว ผู้คนในสังคมไทยก็อาจรู้สึกราวกับตัวเองได้ตบนางร้ายนั้นกับมือกันถ้วนทั่วทุกตัวคนก็ได้

แต่ไม่ใช่ในนิวยอร์ค!

‘ฉนวน’ ที่ห่อหุ้มตัวคนแต่ละคนเอาไว้นั้น ทำให้แต่ละคนสามารถ ‘เลือก’ ได้ ว่าพวกเขาจะเสพอะไร E.B. White ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน ว่านี่คือคุณสมบัติสำคัญของนิวยอร์คเกอร์ เขาบอกว่าในเมืองใหญ่อื่นๆ ทางเลือก (Choice) แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในระดับปัจเจกเลย หากเกิดอะไรขึ้นในเมือง ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้น ทุกคนจะ ‘ต้อง’ รู้สึกถึงกันหมด แต่หากมันไม่ใหญ่มากพอ ก็จะไม่มีใครรู้สึกรู้สาอะไรเลย

ทว่านิวยอร์คเกอร์ไม่ได้เป็นแบบนั้น พวกเขารู้สึกรู้สากับ ‘เรื่องเล็ก’ ในแง่มุมเล็กๆของตัวเอง เช่นกระดุมข้อมือรุ่นใหม่ตกมาถึงแล้ว, ดุมล้อจักรยานขาดตลาด, โยเกิร์ตกลิ่นใหม่, ศิลปินระดับโลก (ในความเห็นของคนคนนั้น) กำลังจะมาเซ็นหนังสือที่ร้านหนังสือเล็กๆแถวบ้าน ฯลฯ เมืองมโหฬารสลับซับซ้อนอย่างนิวยอร์ค (แม้เพียงบนเกาะแมนฮัตตัน) นั้น-ได้ดูดซับเรื่องราวต่างๆปริมาณมหาศาลเข้าหาตัวเอง แต่ละคนจึงสามารถ ‘เลือก’ ได้อย่างเท่าเทียมว่าตัวเองจะสนใจอะไร โดยปราศจากการควบคุมดูแคลนจากคนอื่นๆในโลกกระแสหลัก

แน่นอน การอยู่ในเมืองที่ทุกคนคิดเห็นเหมือนกัน รู้สึกเหมือนกัน ระวังภัยแบบเดียวกัน กิน ขี้ ปี้ นอน และสร้างสรรค์รอยหยักในสมองขึ้นมาแบบเดียวกันเหมือนท่องจำอาขยานชุดเดียวกันมาตั้งแต่เด็กนั้น, อาจเป็นเมืองที่ดีและมีความสุขก็ได้ เมืองแบบนี้เหมือนองคาพยพเดียวกัน หากส่วนใดถูกกระทบ ส่วนอื่นๆจะรู้สึกคล้ายถูกกระทบไปด้วย ดูเผินๆจึงเป็นเมืองที่ดี มีค่านิยมที่พร้อมเพรียงเป็นระเบียบ-คล้ายว่ามีความสุข

เมื่อนิวยอร์คไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในบางมุม-นิวยอร์คจึงเละเทะเลอะเทอะ เต็มไปด้วยคนที่ทุ่มเถียงกัน เต็มไปด้วยการแข่งขันแก่งแย่งชิงดี ใครต่อสู้ไม่ได้ก็ต้องล้มตายไป ในหลายด้าน ‘ฉนวน’ ของนิวยอร์คเกอร์ไม่ได้ทำเพียง ‘ปกป้อง’ ผู้คนเอาไว้จากชีวิตในด้านอื่นๆที่ตนไม่ต้องการเท่านั้น ทว่ามันยัง ‘ห่อหุ้ม’ ผู้คนมากมายเอาไว้ใน ‘ความโดดเดี่ยว’ อีกด้วย 

ในเมืองอีกแบบ ผู้คนจะต้องพึ่งพิงแรงสั่นสะเทือนจากส่วนกลาง คล้ายมดปลวกรับฟีโรโมนมาจากนางพญา แต่นิวยอร์คไม่ได้เป็นแบบนั้น คนจำนวนมากเพียงแต่ส่ายหน้าให้กับอำนาจนำ แล้วก้มหน้าทำสิ่งที่ตัวเองรักและสนใจต่อไป เว้นแต่จะเกิดเหตุอาเพศใหญ่ เช่นการก่อการร้ายต่อตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือเฮอร์ริเคนถล่มจนเกิดหายนะครั้งใหญ่

E.B. White ยังบอกอีกว่า นิวยอร์คในยุคของเขานั้นมีเมืองอยู่สามเมืองซ้อนทับกัน เมืองแบบแรกเป็นเมืองของคนที่เกิดที่นี่ คนเหล่านี้ยอมรับเมืองในแบบที่มันเป็น แต่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าอะไรของเมืองมากนัก “นิวยอร์คแล้วไง?” พวกเขามักจะรู้สึกแบบนั้น 

เมืองแบบที่สองเป็นเมืองของคนเดินทางเข้าออกหรือ Commuter คนเหล่านี้อาจเกิดหรือไม่เกิดในนิวยอร์คก็ได้ แต่พวกเขาอาศัยอยู่ที่อื่น และเพียงแต่เดินทางเข้ามาทำงานในตอนเช้า ก่อนจะเดินทางจากไปในตอนค่ำ เป็นกลุ่มคนที่ทำให้นิวยอร์คพลุกพล่านยามกลางวัน และร้างไร้ในยามราตรี แต่ความร้างไร้นั้นก็ถูกเติมเต็มโดยนิวยอร์คแบบที่สาม นั่นคือนิวยอร์คของผู้มาเยือน คือคนที่เกิดที่อื่นแล้วเดินทางมานิวยอร์ค-ทั้งที่มาอยู่อย่างถาวรและที่มาเดินทางท่องเที่ยว 

E.B. White บอกว่า เป็นคนแบบที่สามนี้เอง ที่ทำให้นิวยอร์คสั่นสะเทือนมากที่สุด เพราะพวกเขาคือผู้คนที่เข้ามาแสวงหาความฝัน พวกเขาอาจไม่ได้เป็นนิวยอร์คเกอร์มาตั้งแต่เกิด แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่ทำให้นิวยอร์คกลายเป็นนิวยอร์คอย่างทุกวันนี้ เมืองได้ดูดซับพวกเขา ไม่ใช่แค่ตัวตน แต่รวมถึงวิถีชีวิต วิธีคิด วัฒนธรรมย่อย ความแตกต่างหลากหลาย และความเหลือคณานับแห่งชีวิต แล้วพวกเขาก็กลายเป็นเมือง กลายเป็นผู้ดูดซับผู้อื่น และเป็นผู้สร้างนิวยอร์ค

คนที่เกิดในนิวยอร์คอาจทำให้เมืองมีรากฐานมั่นคง คนที่เดินทางเข้าออกอาจทำให้เมืองมีความต่อเนื่อง แต่เป็นเหล่าผู้ตั้งรกรากเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้เมืองมีความกระหายหาในสิ่งใหม่ นิวยอร์คกลายเป็นเมืองที่มี Passion ในแบบที่เมืองอื่นในโลกไม่อาจเทียบเคียงได้

ผู้มาใหม่เหล่านี้ คือคนที่เห็นคุณค่าของห้องสมุดกลาง ลานหญ้าสีเขียวของเซ็นทรัลปาร์ค ระบบรถใต้ดินที่ซับซ้อนแต่ทั่วถึง และสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่นิวยอร์คสรรหามาให้ ในขณะที่นักเดินทางเข้าออกเมืองนั้นแปลกพิกลที่สุด เพราะส่วนใหญ่พวกเขาเพียงแต่เข้ามาทำงานในนิวยอร์ค หลายคนจึงเข้าออกโดยไม่เคยค้นพบอะไรอื่น นอกจากนิวยอร์คในช่วงเวลาเดียวกับเมื่อเขาเข้าและออกเมือง พวกเขาจึงเดินทางมานิวยอร์คทุกวัน แต่ไม่เคยรู้จักนิวยอร์คอย่างแท้จริง

 

2

18 นิ้ว อาจไม่ใช่ระยะวัดของไม้บรรทัด

แต่มันคือระยะวัดของวิถีชีวิต เป็นระยะวัดของวัฒนธรรมที่บอกเราว่า-แท้จริงแล้ว, นิวยอร์คเป็นอย่างไร