การสงบศึกในคืนคริสต์มาส

1

เรื่องเล่าของคริสต์มาสที่มักทำให้ผมน้ำตาไหล ไม่ใช่เรื่องของของขวัญ ความชื่นชมยินดี หรือสีสันของการให้ใดๆ

มันคือเรื่องเล่าของทหาร

ใช่แล้ว-ทหาร…แต่เป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

 

2

ในปีพันเก้าร้อยสิบสี่ บนแนวรบตะวันตก ทหารเยอรมันและอังกฤษรบกัน สังหารกัน ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มันคือเรื่องปกติธรรมดาในสนามรบ เมื่อทหารหนุ่มต้องออกรบ-ตามคำสั่งของ ‘คนแก่’ จากมาตุภูมิของตัวเอง พวกเขาต้องหลั่งเลือดและทำลายฝ่ายตรงข้าม, ผู้ที่ได้พบเห็นฤดูหนาวและคริสต์มาสมาไม่มากนักพอๆกัน

ก็ใช่-หลายคนที่ล้มร่างไม่อาจลุกยืนขึ้นได้อีก พวกเขาไม่อาจมองเห็นท้องฟ้ายามเย็นอันแสนงามและสายฝนสีเทาอันเยียบเย็นได้อีก

แต่มีใครสนใจพวกเขากระนั้นหรือ

 

3

ปลายปีนั้น คริสต์มาสใกล้จะมาถึงแล้ว อากาศบนแนวรบตะวันตกหนาวเหน็บ แล้วในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะถึงคริสต์มาส ทหารหนุ่มเหล่านี้ก็ได้ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

พวกเขาข้ามเส้นแนวรบตะวันตก

ไม่ใช่เพื่อไปฆ่ากัน

แต่เพื่อไป ‘แลกเปลี่ยน’ คำอวยพร ทักทาย และพูดคุยกัน

เพราะนี่คือคริสต์มาส

 

4

ในห้าเดือนแรกของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารเยอรมันบุกโจมตีเบลเยี่ยมเพื่อจะรุกเข้าสู่ฝรั่งเศส ทว่ากองกำลังของฝรั่งเศสและอังกฤษสู้รบเป็นสามารถเพื่อป้องกันดินแดนของตนเอาไว้ กองกำลังของทั้งสองฝ่ายยันกันอยู่ตามแนวรบและสนามเพลาะ แนวรบตะวันตกจึงเกิดขึ้น ยืดยาวจากทะเลเหนือกระทั่งถึงชายแดนของสวิส โดยมีทหารของทั้งสองฝั่งประจำการอยู่รวมแล้วราว 100,000 นาย ตามแนวรบตะวันตก

แล้วคริสต์มาสก็กำลังจะมาถึง เป็นคริสต์มาสแรกของสงครามโลกครั้งแรก!

ที่จริง มีหลักฐานบอกว่า ทหารหนุ่มทั้งฝั่งเยอรมันและอังกฤษเหล่านี้ ได้ ‘สงบศึก’ อย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ราวต้นเดือนพฤศจิกายนของปีพันเก้าร้อยสิบสี่แล้ว เป็นไปได้ว่าเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว ความเป็นอยู่นั้นยากลำบากมากขึ้น ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของ ‘ชีวิต’ มากขึ้น ดังนั้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยนบทสนทนา และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวข่มขู่รุนแรง

แต่หันมามี ‘ความเป็นคน’ ระหว่างกันมากขึ้น เช่นเมื่อค่ำลง ทหารทั้งสองฝั่งจะไม่ยิงกัน ต่างฝ่ายต่างสามารถออกหาอาหารต่างๆมาประทังชีพ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อถึงเวลาเย็น หลัง ‘ทำงาน’ ในการ ‘ฆ่า’ กันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทหารแต่ละฝ่ายต่างรู้ว่าจะมีการ ‘หยุดยิง’ อย่างไม่เป็นทางการราวครึ่งชั่วโมงก่อนมืด เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้เก็บศพเพื่อของตนไปฝังในหลุมศพ

ระหว่างนี้ ทหารเยอรมันและทหารฝรั่งเศสได้แลกเปลี่ยนหนังสือพิมพ์กันด้วย และเมื่อถึงเดือนธันวาคม ในเช้าวันที่ 1 ธันวาคม ทหารอังกฤษคนหนึ่งก็ได้บันทึกถึงการมาเยือนของทหารเยอรมันคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาเพียงเพื่อ ‘มาดูว่ามีความเป็นอยู่กันอย่างไร’

แน่นอน นี่ย่อมไม่ใช่ความพึงพอใจของทหารระดับสูงที่ ‘แก่’ กว่า นายทหารหนุ่มอย่างชาลส์ เดอ โกล เคยเขียนเอาไว้ในวันที่ 7 ธันวาคม ถึงความปรารถนาอันแสนเศร้าของเหล่าทหารฝรั่งเศส ในอันที่จะปล่อยให้ศัตรูได้อยู่อย่างสงบ ในขณะที่ผู้บัญชาการทหารอย่างวิคตอร์ ดูร์บัล เขียนบันทึกถึงผลลัพธ์อันไม่น่าพึงปรารถนา กับการที่เหล่าทหารไปทำความคุ้นเคยกับข้าศึกศัตรูเช่นนี้

บางคนบอกว่า สภาวะอากาศที่หนาวเหน็บแสนเข็ญ และสนามเพลาะในที่ลุ่มต่ำที่ถูกน้ำท่วม เป็นตัวการทำให้ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันไม่ได้ สภาวะละม้ายการสงบศึกจึงเกิดขึ้น แต่กระนั้นเมื่ออากาศดีขึ้นแล้ว การสงบศึกก็ยังดำเนินต่อไป

สนามเพลาะของทหารทั้งสองฝ่ายอยู่ใกล้กัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างสามารถตะโกนทักทายกันได้ นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการสงบศึกอย่างไม่เป็นทางการขึ้น เสียงที่แล่นผ่านอากาศไปยังฝ่ายตรงข้ามไม่ได้มีแต่เสียงทักทาย ทว่ายังมีข่าวสาร การแสดงความเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของความหนุ่มที่ต้องสูญเสียไป รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข่าวสารเรื่องฟุตบอลด้ย เพราะทหารเยอรมันหลายคนเคยอยู่ในอังกฤษมาก่อน โดยเฉพาะในลอนดอน จึงคุ้นเคยกับทั้งภาษาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมฟุตบอล แต่นอกจากนี้แล้ว อีกเสียงที่แลกเปลี่ยนกันไปมาก็คือเสียงเพลงซึ่งมักจะดังขึ้นในยามเย็น บางครั้งอาจเป็นการร้องลอยๆ แต่หลายครั้งเป็นความพยายามให้ความบันเทิงหรือเปิดการแสดงให้อีกฝ่ายได้เห็นอย่างจริงจัง ยิ่งคริสต์มาสใกล้เข้ามา อารมณ์รื่นเริงก็ยิ่งเจิดจ้าขึ้นถึงขั้นที่มีบันทึกของทหารสก็อตคนหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า เขาวางแผนจะจัดคอนเสิร์ตปาร์ตี้ในวันคริสต์มาสขึ้นมาเลยทีเดียว

ยิ่งใกล้คริสต์มาสเท่าไหร่ ผู้คนก็ยิ่งลังเลสงสัยต่อสงครามมากข้ึนเท่านั้น กลุ่มผู้หญิงอังกฤษ 101 คน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้หญิงแห่งเยอรมนีและออสเตรีย เพื่อร้องขอสันติภาพ กระทั่งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบห้า ก็ได้วิงวอนขอให้เกิดการสงบศึกอย่างเป็นทางการ พระองค์ตรัสว่า-ในค่ำคืนที่เทวดาร้องเพลง ขอให้เสียงปืนจงเงียบลงเถิด แต่คำวิงวอนนั้นก็ไร้ผล ไม่มีการประกาศสงบศึกอย่างเป็นทางการ

ทว่าลึกลงไปในสนามรบ กลับเป็นอีกเรื่อง

 

แม่ที่รัก,
ผมเขียนจากสนามเพลาะนะ ตอนนี้เป็นเวลา 11 โมงเช้า ข้างๆผมเป็นปืนใหญ่ พื้นลื่นจับแข็งทุกหนทุกแห่ง ผมกำลังสูบกล้องยาสูบอยู่ แน่ละสิ แม่ต้องบอกว่าในกล้องย่อมมียาสูบ แต่เดี๋ยวก่อน ยาสูบนี่เป็นยาสูบเยอรมันนะ แม่อาจจะหัวเราะ สงสัยจะมาจากเชลยหรือพบในสนามเพลาะที่เรายึดได้ใช่ไหม โอ๊ย! ไม่เลย! มาจากทหารเยอรมันต่างหาก ใช่ ทหารเยอรมันเป็นๆจากสนามเพลาะของเขานี่แหละ เมื่อวานนี้ทหารอังกฤษกับเยอรมันได้เจอหน้าและจับมือกันบนพื้นดินระหว่างสนามเพลาะ และแลกเปลี่ยนของที่ระลึก จับมือกัน ใช่ มันคือวันคริสต์มาสนี่นะ มันยอดเยี่ยมมากเลยใช่ไหมครับแม่
จดหมายของ เฮนรี่ วิลเลียมสัน
ทหารวัย 19 ปี ที่ต่อมาในอนาคตจะเป็นนักเขียน

 

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกถึงการเล่นฟุตบอลกันระหว่างศัตรู ในพื้นที่ระหว่างกลางด้วย แม้ว่านักประวัติศาสตร์หลายคนจะสงสัยว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศและพื้นที่ไม่น่าจะอำนวยเช่นนั้น เป็นไปได้ว่าทหารอังกฤษเล่นฟุตบอลกันเอง แต่อาจไม่ใช่กับทหารเยอรมันก็ได้ แต่กระนั้นก็ไม่มีใครตัดความเป็นไปได้ที่ว่า ทหารอังกฤษและทหารเยอรมันได้ร่วมเล่นฟุตบอลกันในวันคริสต์มาสของปีพันเก้าร้อยสิบสี่

ที่จริงแล้ว นี่คือเรื่องมหัศจรรย์

 

5

หลังคริสต์มาส หนังสือพิมพ์บางฉบับรายงานว่า การสู้รบอันไร้สาระและเป็นโศกนาฎกรรมกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง 

แน่นอน ผู้บัญชาการทหาร (ซึ่งแก่ชรากว่า) ของทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์สงบศึกเช่นนี้ขึ้นอีก มีการสั่งห้ามการกระทำเช่นนี้ แต่กระนั้นก็ยังเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นอีกประปราย โดยเฉพาะเมื่อถึงวาระสำคัญทางศาสนา เช่นวันอีสเตอร์หรืออื่นๆ

แต่กระนั้นก็น่าเศร้า ที่สงครามได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อผ่านไปสองสามปี ก็ไม่เกิดการสงบศึกใดๆขึ้นอีก

สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือความตายและหลุมฝังศพที่พอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

6

ลูกเชสต์นัทคั่วอยู่กับเปลวไฟ

ภูตน้ำแข็งแอบหยิกจมูกของเธอ

คณะนักร้องประสานเสียงแห่งคริสต์มาสขับเพลง

ผู้คนแต่งกายราวกับเอสกิโม

ทุกคนรู้ว่า ไก่งวงและช่อมิสเซิลโทว์

ช่วยให้เทศกาลนี้สดใส

เด็กน้อยดวงตาเป็นประกาย

คืนนี้พวกเขาหลับตาลงยากเย็นนัก

จากเพลง The Christmas Song

แต่งโดย บ๊อบ เวลส์ และเมล ทอร์เม่

 

นั่นคือภาพแห่งคริสต์มาสที่ผู้แต่งเพลงทั้งสองได้ ‘วาด’ ขึ้นจากจินตนาการ

พวกเขาแต่งเพลงนี้ในฤดูร้อน ในเดือนที่ร้อนที่สุดของปี หลายสิบปีถัดจากปีพันเก้าร้อยสิบสี่ พวกเขาวาดฝันถึงคริสต์มาสที่อยากให้เป็น คริสต์มาสที่ยังมาไม่ถึง จนทำให้เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงคริสต์มาสที่โด่งดังที่สุดในวัฒนธรรมแห่งคริสต์มาส

ในปีพันเก้าร้อยสิบสี่ คริสต์มาสได้มาถึงทหารหนุ่มแห่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คริสต์มาสอยู่กับพวกเขา และพวกเขาก็ ‘พยายาม’ อย่างเหลือเกินที่จะฉลองคริสต์มาสด้วยความรักและชื่นชมยินดีระหว่างกัน

ผมไม่รู้หรอกครับ ว่าทหารหนุ่มในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้วาดภาพคริสต์มาสของตัวเองเอาไว้แบบไหน

แต่ผมเชื่อว่า ภาพคริสต์มาสเหล่านั้นคงแตกต่างจากภาพคริสต์มาสของเหล่าทหารแก่กระหายสงครามไม่น้อยเลย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s