1
ตอนที่ตักมัสมั่นเนื้อแสนอร่อยที่ราดอยู่บนมันฝรั่งอบทั้งเปลือกในพาวิลเลียนของ Knack Market เข้าปาก ผมพบว่าความงงงวยที่ได้รับเชิญจาก SC ASSET ให้มาร่วมพูดคุยบนเวที Scratch Talks ในงานเทศกาลดนตรี Wonderfruit ค่อยๆ จางหายไป
ผมงงอะไร?
ก็งงว่าในงานเทศกาลดนตรี – มีเวทีพูดคุยด้วยหรือ?
ความงงนี้เกิดขึ้นตอนที่ SC ASSET หนึ่งในผู้ร่วมจัดงาน Wondefruit ชวน Omnivore มาร่วมพูดคุยในงานนี้ เป็นความงงที่ดำรงอยู่กระทั่งมาถึงงาน ผมจึงเพิ่งถึงบางอ้อว่า งานนี้ไม่ได้เป็นแค่เทศกาลดนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นเทศกาลแห่งศิลปะและวิถีชีวิตไปพร้อมกันด้วย
ยิ่งเมื่อไปถึงงาน ได้เจอพี่ด้วง – ดวงฤทธิ์ บุนนาค กับพาวิลเลียนของ Knack Market ที่ขายทั้งยาดองและอาหารอร่อยแปลกลิ้นอย่างแกงต่างๆ ราดอยู่บนมันฝรั่งอบทั้งเปลือก ผมก็เริ่มเข้าใจ
พี่ด้วงเล่าว่าได้แนวคิดมาจากโคเวนท์การ์เดนในลอนดอน เป็นอาหารที่สะท้อนทั้งความเป็นอังกฤษเจ้าอาณานิคม ความเป็นอินเดีย และความเป็นอเมริกัน ในจานเดียว
อาหารจานนี้ทำให้ผมรู้ว่า งาน Wonderfruit ก็เป็นอย่างนั้นด้วย นี่คืองานที่ผสมผสานผู้คนที่อาจไม่เหมือนกันเลย คล้ายมีหลากหลายรสชาติและดูเผินๆ ไม่อาจรวมตัวเป็นหนึ่งได้ มารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้พวกเขาได้พูดคุย เต้นรำ สนทนา และเปลี่ยน และสร้าง ‘โลก’ ใบใหม่ขึ้นในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้
คนที่มางานนี้อาจไม่ได้สนใจเรื่องใดเรื่องเดียว ทว่าพวกเขาเปิดกว้าง นำความสนใจและเรื่องเล่าของตัวเองมาคละเคล้าปะปน ดื่มด่ำไปกับความหลากหลายในโลก กลางคืนฟังดนตรี เต้นรำ และสนุกสนานไปกับบรรยากาศกลางแจ้งแสงสี แต่ยามกลางวัน พวกเขาสนใจเติมเต็มตัวเองด้วยความรู้นานา ดังนั้น เวทีพูดคุยอย่างที่ SC ASSET จัดขึ้น (และเวทีอื่นๆ ที่สะท้อนแนวคิดต่างๆ กันไป) จึงอัดแน่นไปด้วยสาระความรู้หลากเรื่อง
Scratch Talks คราวนี้ ผมกับแชมป์ – ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เลยจับมือกันมาจัดรายการ Omnivore ตอนพิเศษ ว่าด้วย The Future of Living และหลังจากนั้นก็สัมภาษณ์แขกรับเชิญอีกสามท่าน คือคุณไวท์ – ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล, ป้าแป๋ว – กาญจน พันธุเตชะ และน้องเติร์ต – ธนาภพ อยู่วิจิตร
ผมคิดว่าต้องสนุกแน่
2
สหประชาชาติบอกว่า ในร้อยปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรราว 11.3 พันล้านคน มาแย่งชิงทรัพยากรกัน เมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะคือเมืองลากอส ในไนจีเรีย แอฟริกาตะวันตก ซึ่งจะมีประชากรมากถึง 76 ล้านคน ไม่นับรวมอภิมหานครอื่นๆอีกมาก
คำถามก็คือ ในภาวะแบบนี้ The Future of Living ควรจะเป็นอย่างไร
ข้อสรุปสามเรื่องใหญ่ๆ ที่ผมกับแชมป์อยากมาเล่าให้ฟังก็คือ ในอนาคต เราจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องใหญ่มากๆ สามเรื่องต่อไปนี้
เรื่องแรกคือ Sustainability หรือความยั่งยืน แชมป์เปิดเรื่องนี้ด้วยตัวอย่างธุรกิจเล็กๆ อย่าง ReReef ซึ่งเป็นธุรกิจของคนไทย ผลิตของใช้ใกล้ตัวในแบบที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืน เช่น หลอดทำจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อลดการใช้หลอดและการผลิตพลาสติก เป็นต้น
และอย่างที่เรารู้กันอยู่ ว่าในอนาคตน้ำแข็งขั้วโลกจะละลายมากข้ึน ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น เมืองจึงอาจไม่ยั่งยืนเพราะถูกน้ำท่วม วิธีแก้ปัญหาของนักวิทยาศาสตร์มีหลายอย่าง เช่น การคิดค้นสร้างเมืองบนฐานลอยน้ำ อย่างนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Seasteading Institute ในสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาต้นแบบฐานคอนกรีตลอยน้ำรูปห้าเหลี่ยมกว้าง 50 x 50 เมตร ขึ้นมา อากาศที่ฝังอยู่ในคอนกรีตจะทำให้ลอยได้ แล้วนำมาเรียงต่อกันตามความต้องการได้
ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือ บริษัท Shimizu Corp จากญี่ปุน กำลังคิดสร้างเมืองใต้น้ำที่มีลักษณะเป็นเกลียวลึกลงไปในทะเล 4 กิโลเมตร และสามารถรองรับคนได้ 5,000 คน ซึ่งเท่ากับเป็น ‘เมือง’ เมืองหนึ่งเลย ซึ่งก็ต้องไปคิดต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรให้เมืองนี้อยู่ได้จริง เช่น สกัดพลังงานจากแพลงตอน สร้างกระแสไฟฟ้าจากความต่างของอุณหภูมิ หรือสกัดเกลือออกจากน้ำทะเล เป็นต้น
เรื่องที่สองคือ Diversity และ Inclusivity หมายถึงความหลากหลายที่ต้อง ‘นับรวม’ ผู้คนที่หลากหลายเข้าไว้ในสมการด้วย แชมป์เล่าถึงเรื่องที่เขาไปเจอธุรกิจสตาร์ตอัพในพิตสเบิร์ก เขาสังเกตเห็นว่า ผู้ชายจะเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นกว่าผู้หญิง เลยคิดผลิตเสื้อผ้าที่ปรับอุณหภูมิได้ ส่วนผมชวนคุยเรื่องการวางผังเมือง และคำครหานินทาว่าผู้หญิงขับรถไม่ดี ทั้งที่ต้องขับอยู่ใน ‘โครงสร้าง’ ของเมืองและวิธีขับรถที่ผู้ชายเป็นผู้สร้างขึ้นมา
ที่จริงแล้ว เรื่องความหลากหลายและนับรวมนั้นเป็นปัญหาใหญ่มากนะครับ เพราะในอนาคตถ้าเราจะมาอยู่ร่วมกันในเมืองที่หนาแน่น เราก็ต้องคิดหา ‘วิธี’ ที่จะอยู่ร่วมกันได้ให้โอบรับผู้คนที่มีความต้องการพื้นฐานแตกต่างกันมากๆ นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่โยนไปหาเรื่องที่สาม
เรื่องที่สามที่สำคัญมากๆ จึงคือ Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ เพราะกรอบคิดแบบเดิมๆ ที่เราใช้มาเป็นพันๆ ปี อาจจะใช้ไม่ได้กับโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอีกต่อไปแล้ว
ตัวอย่างใกล้ตัวมากๆ ก็คือการคิดสร้างที่อยู่อาศัยแบบต่างๆ เพื่อให้เราอยู่ได้จริง ง่าย และสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต อย่างเช่นในอนาคต เราอาจอยู่ในบ้านที่พิมพ์แบบสามมิติก็ได้ เพราะบริษัท Winsun ในจีน ได้เริ่มผลิตแล้ว ใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมง ก็พิมพ์บ้านที่มีทุกอย่างครบได้ถึง 10 หลัง แถมบ้านที่สูงที่สุดยังมีถึง 5 ชั้นด้วย ถือว่าเป็นบ้านพิมพ์สามมิติที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ใช้สอยถึง 1,100 ตารางเมตร และใช้วัสดุรีไซเคิล
นอกจากนี้ยังมีบ้านแบบ ‘พับได้’ เพื่อให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ บ้านแบบนี้จะมีกังหันลมติดตั้งในตัว มีแผงพลังงานสุริยะบนหลังคา เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจทำให้เกิดน้ำท่วมและทอร์นาโดที่ทำนายไม่ได้ในอนาคต บีบให้คนต้องย้ายบ้านบ่อยๆ
ส่วนใครที่อยู่กับที่ไม่อยากย้าย ก็ต้องคิดสร้างบ้านที่มี ‘ภูมิอากาศจิ๋ว’ (Micro Climate) ของตัวเองขึ้นมา เช่น คิดวิธีปรับอากาศ (ที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ) ให้เย็นลง ใช้พืชดูดคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งใช้ ‘ชีวลอกเลียน’ (Biomimicry) เลียนแบบวิธีสร้างอะไรต่างๆ ของธรรมชาติ (เช่น รังปลวก) เพื่อให้มนุษย์ ‘อยู่ได้’ จริงในอนาคต
นอกจากนี้ เรายังชวนคุยเรื่อยเปื่อยไปถึงการสร้าง ‘ท่าอวกาศ’ (Space Port) หรือการออกแบบวิถีชีวิตแบบอื่นๆ เช่น Digital Nomad ที่สามารถเร่ร่อนไปได้ทั่วโลก เพราะทำงานที่ไหนก็ได้ หรือบริษัทที่ออกแบบให้คนได้ ‘หนี’ ไปจากชีวิตเดิมๆ ของตัวเอง
3
คุยกันเองเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาชวนแขกรับเชิญมาพูดคุยด้วย แต่ก่อนอื่น อยากชวนคุณมาถลกแขนเสื้อ ปลดกระดุม และทำตัวให้ ‘สบายๆ’ ให้เหมาะกับบรรยากาศของงาน Wonderfruit เสียก่อนนะครับ
แขกรับเชิญของเราทั้งสามท่าน มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันหมดเลย ทำให้เห็นชัดว่า เวทีนี้ต้องการให้เกิดความหลากหลายจริงๆ
เริ่มจากคุณไวท์ – ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัทชื่อ FireOneOne ซึ่งเป็นครีเอทีฟเอเจนซี่ที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี แบรนด์ และการออกแบบ เรื่องที่อยากชวนเขาคุยคือ Digital Transformation ว่าเราจะอาศัยโอกาสที่โลกกำลังเปลี่ยนนี้ ก่อให้เกิด ‘ความคิดสร้างสรรค์ร่วม’ (Co-Creation) ขึ้นมาได้อย่างไร คุณไวท์เล่าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ หลายอย่าง ตัวอย่างที่กำลังฮิตมากๆ ก็คือ Cryptocurrency หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘บิตคอยน์’ ว่ามันจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างโลกให้สร้างสรรค์ขึ้นได้อย่างไรบ้าง
ผมนั่งฟังคุณไวท์แล้วนึกถึงโลกที่คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่สามารถผสานรวม นำเอาความสดใหม่ พลังของคนหนุ่มสาว และประสบการณ์ที่ลึกซึ้งเข้มข้นของคนรุ่นก่อนมาผนวกรวมกัน เพื่อสร้างโลกใหม่ที่มีลักษณะ Co-Create อย่างที่คุณไวท์ว่าเอาไว้
โดยบังเอิญ ที่คุณไวท์นั่งอยู่ตรงกลางระหว่างหนุ่มน้อยหน้าสวยวัย 19 ปี อย่างน้องเติร์ต – ธนาภพ อยู่วิจิตร กับคุณป้านักท่องโลกวัย 65 ปี อย่างกาญจนา พันธุเตชะ ดังนั้น มุมมองของน้องเติร์ตกับป้าแป๋วจึงสอดคล้องกันพอดี ทำให้เราเห็นรูปร่างของโลกแห่งอนาคตที่ชัดเจนขึ้น ว่ามันจะเป็นโลกที่ต้องผสมผสานกันในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของอายุ วัย ความคิด และแม้กระทั่งเรื่องเพศสภาพ
น้องเติร์ตพูดถึงปัญหาใหญ่ของชาว LGBTQ นั่นคือการที่สังคมยังไม่เปิดกว้างให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐยังไม่รับรอง ‘ความรัก’ ของคนที่หลากหลายมากพอ ทำให้ผมแอบคิดต่อว่า ถ้าเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ากฎหมายของไทยยังไม่ Inclusive มากพอเหมือนกับเทรนด์ที่เราพูดเอาไว้ตั้งแต่ต้น ว่าโลกยุคใหม่จะต้องมีทั้ง Diversity และ Inclusivity
ป้าแป๋วก็ย้ำประเด็นคล้ายๆ กัน โดยนำกราฟมาให้ดูด้วยว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ คนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ในกราฟนั่น เห็นแล้วผมอดสะท้อนใจไม่ได้ เพราะตัวเองก็จะเริ่มเข้าสู่ ‘ภาวะผู้สูงวัย’ ในอีกทศวรรษกว่าๆ เท่านั้นเอง แล้วถ้าสังคมของเรายังไม่มีระบบรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้มากพอ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ – แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป
ดังนั้น เมื่อแชมป์ถามคำถามสุดท้ายว่า แต่ละคนมีความหวังอะไรบ้าง ผมนั่งฟังความหวังของทุกคนด้วยความหวัง และแอบคาดหวังว่า หลังจากฟังทอล์คในวันนี้แล้ว เราแต่ละคนน่าจะมีส่วนร่วมสร้าง Sustainability, Inclusivity และ Creativity ให้เกิดขึ้นกับทั้งตัวเราและสังคมรอบข้างมากขึ้น
4
บ่ายๆ อากาศอาจอบอ้าวนิดหน่อย แต่พอตกเย็นแล้ว Wonderfruit อากาศดีมาก แต่ที่ดีกว่าก็คือการได้เห็นปฏิสัมพันธ์ของผู้คน เพื่อนๆ ของน้องเติร์ตจาก The Face Men มาให้กำลังใจเขา มีหนุ่มสาวนักเดินทางไปขอคำปรึกษาเรื่องการเดินทางจากป้าแป๋ว คนรุ่นใหม่ไปคุยกับคุณไวท์
และที่ดีใจ (ปนแอบรู้สึกผิด) ก็คือแฟนๆ รายการ Omnivore มาถามว่าเมื่อไหร่จะมีตอนใหม่
น่าเสียดายที่ภารกิจในวันรุ่งขึ้นทำให้ผมกับแชมป์อยู่ต่อในงานไม่ได้ถึงดึกนัก แม้พี่ด้วงจะโฆษณาถึงเวทีดนตรีลึกลับในป่าที่ต้องเดินเข้าไปอีกไกล และจะจัดขึ้นหลังเที่ยงคืน แต่เราก็จำเป็นต้องขอตัวกลับก่อน
ตอนเดินออกมาจากงาน ฟ้ามืด แสงสุดท้ายร่ำลาฟ้าไปแล้ว ผู้คนเดินถือลูกโป่งที่มีแสงไฟวับแวมประดับเข้ามาในงานเรียงเป็นแถว ผมอดรู้สึกไม่ได้ – ว่างาน Wonderfruit นี่ ช่าง Wonder เสียจริง
เพราะถ้าจะคุยกันถึงเรื่อง The Future of Living เราก็ควรได้พูดคุยกันในบรรยากาศของงานแบบนี้…นี่เอง