รีวิว : สิงคโปร์มาราธอน 2017

เมื่อเดินเข้าไปรับเสื้อและแผ่นป้ายติดเสื้อในงานสิงคโปร์มาราธอน ผมค่อนข้างประหลาดใจไม่น้อย

เราคงรู้อยู่ว่า สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระเบียบ แต่กระนั้น การได้เห็นความเป็นระเบียบในงานมาราธอนที่สิงคโปร์ ก็ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจ

วันที่ไปรับ bib หรือแผ่นแสดงหมายเลขประจำตัว ผมพบว่าทุกอย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย เคลียร์ ชัดเจน ตั้งแต่ทางเข้าที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล กระทั่งถึงการกั้นแถวในพื้นที่ขนาดใหญ่โตมโหฬาร จนเชื่อว่าต่อให้คนมากกว่านี้สัก 100 เท่า สถานที่ก็ยังรองรับได้สบายมาก

อย่างไรก็ตาม ผมแอบคิดว่าเป็นไปได้หรือเปล่าที่วันไปรับ bib คนอาจจะน้อย ทำให้ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็เสร็จ แต่พอถึงวันวิ่งจริง ผมรู้เลยว่าผู้เข้าร่วมงานมีจำนวนมหาศาล แต่ต่อให้มีผู้ร่วมงานหลายหมื่นคน เรากลับ ‘รู้สึก’ ได้เลยว่าไม่มีอะไรเละเทะ ทุกอย่างเข้าใจง่าย มีรสนิยมดี มีการจัดการที่เห็นได้ชัดว่าวางแผนมาแล้วอย่างดี ตั้งแต่จุดปล่อยตัวที่จัดไว้เป็นช่วงๆ A B C D E แต่ไม่ได้เรียงไปทั้งหมดบนถนนเส้นเดียวซึ่งจะยาวมาก ทว่าจัดให้บางส่วน (เช่นกลุ่ม B กับ C) อยู่ในถนนแยก แล้วค่อยๆ ปล่อยทีละกลุ่ม

ที่สำคัญ นักวิ่งที่มาเข้าแต่ละกลุ่มก็มากันอย่างเป็นระเบียบ เข้าในช่องทางที่จัดไว้ให้ ไม่ลัดเลาะรีบเร่งหรือกระโดดข้ามรั้วตรงไหนเลย ส่วนคนที่มาช้าก็มีช่องทางให้เข้าแยกจากคนอื่นอีกทีหนึ่ง เพื่อให้สามารถรีบเดินหรือวิ่งไปถึงกลุ่มของตัวเองได้

ระเบียบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากภายนอก แต่รู้สึกได้เลยว่ามันเป็นระเบียบที่เกิดจากภายใน คึอเป็นกลุ่มสังคมที่ได้รับการ ‘ฝึก’ ให้มักคุ้นกับระเบียบมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น แม้ผู้เข้าร่วมงานจะมาจากหลากเชื้อชาติอย่างที่เรียกได้ว่า ‘ร้อยพ่อพันแม่’ คือมีทั้งคนเชื้อสายจีน อินเดีย ฝรั่ง ฯลฯ แต่ทั้งหมดกลับสอดประสานลงตัวไม่น่าเชื่อ

ที่สำคัญก็คือ ระบบเสียงตอนปล่อยตัวนุ่มนวลมาก เวลาไปงานทำนองนี้ สิ่งน่ารำคาญอย่างหนึ่งคือเสียงลำโพงที่ดังลั่นปริแตก อาจเป็นเพราะหลายคนมีจำนวนลำโพงน้อย จึงต้องพยายามเปิดให้ดังไว้ก่อน ทว่างานนี้ใช้ลำโพงจำนวนมากวางเรียงรายไปตลอดสองข้างถนน เปิดไม่ดังมาก แต่ดังพอจะสร้างความเร้าใจได้ นั่นแสดงให้เห็นความใส่ใจในมลพิษทางเสียงที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดงานด้วย

แม้จะมี ‘ระเบียบ’ ร่วมกัน แต่ในรายละเอียดแล้ว เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าคนแต่ละเชื้อชาติมีอะไรๆ แตกต่างกันมาก เช่น คนสิงคโปร์ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมกับความเร้าใจในงานเท่าไหร่ แต่เป็นพวกฝรั่งที่สนุกกับการเชียร์หรือแสงสีเสียงมากกว่า สิงคโปร์มาราธอนได้แสดงให้เราเห็นความหลากวัฒนธรรมหรือ multiculture ให้เห็น เช่น ระหว่างวิ่ง บางครั้งก็ได้ยินเสียงเพลงอินเดีย คละเคล้าไปกับเสียงเพลงจีน หรือกระทั่งเพลงบรอดเวย์ของฝรั่ง ซึ่งคนแต่ละชาติเปิดฟังพร้อมกับวิ่งไปด้วย รวมทั้งมีฝรั่งบ้าพลังลากยางวิ่ง หรือมีอาหมวยใส่ชุดบัลเลต์วิ่ง ที่สำคัญคือกลิ่นของผู้วิ่งจะอบอวลผสามผสานกันไปหมด มีตั้งแต่กลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นชีส กลิ่นผักดองแบบจีน กลิ่นเหล่านี้ระเหิดระเหยออกมากับเหงื่อหลากเชื้อชาติ เป็นที่จรุงใจอย่างยิ่ง

เรื่องหนึ่งที่ผมจับตาดูก็คือขยะ เพราะในการวิ่งมาราธอนแทบทุกงานที่เคยไป (กระทั่งในโลกตะวันตก) แก้วน้ำที่ใช้ดื่มมักถูกเขวี้ยงใส่ถังด้วยความรีบและเหนื่อย จนบางครั้งก็หลุดมือกลายเป็นขยะเกลื่อนไปทั่วเส้นทาง ผมพบว่า แต่ช่วงแรกๆ ของการวิ่งไม่มีขยะบนพื้นเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ต้องเลยระยะ 10 กม. ไปแล้ว ถึงจะเริ่มเห็นขยะบนถนน แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณมากนัก ส่วนใหญ่เป็นแก้วกับเจลที่ผู้จัดแจก (ซึ่งต้องแอบเมาท์ว่า เจลรสชาติเหมือนกินพลาสติกเหลว เลวร้ายมาก กินไปนิดเดียวต้องโยนทิ้ง เชื่อว่าหลายคนคงทิ้งบนถนนนั่นเอง)

เมื่อเข้าถึงปลายทางแล้ว การจัดการก็ดีมากอีกเช่นกัน ไม่มีอาการเบียดเสียดเยียดยัดเลยแม้แต่น้อย แต่จะจัดทางเดินเพื่อรับเหรียญ รับของ รับอาหารต่างๆ ก่อนจะออกมาในลานที่มีที่นั่งและร้านรวงต่างๆ เห็นได้ชัดว่า ในเรื่องการจัดพื้นที่นี่ เขาให้ความสำคัญกับ ‘เรื่องสำคัญ’ ที่เป็นแก่นแกนใจกลางของงานจริงๆ เช่น ‘พื้นที่’ ของการไปรับ bib หรือเข้าเส้นชัยจะใหญ่โตมาก อาจใหญ่กว่าพื้นที่สำหรับ ‘ร้านค้า’ (ที่เป็นสปอนเซอร์) ทั้งหมดรวมกันด้วยซ้ำ ทำให้การจัดการไม่แออัด แต่ถ้าคนจัดงานคือการสยบยอมต่ออำนาจทุนที่ให้เงินมาจัดงาน แล้วต้องให้พื้นที่กับทุนเหล่านั้นเหนือ ‘กิจกรรม’ แล้วละก็ งานก็มักจะไปไม่รอดทุกราย เพราะจะกลายเป็นการจัดการในพื้นที่แคบๆ ที่สร้างปัญหาต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ง่าย

ที่ชอบมากอีกอย่างหนึ่งคือความช่างคิดที่ละเอียดถี่ถ้วนของป้ายบอกระยะทาง ซึ่งจะมี ‘คำเชียร์’ เขียนไว้ด้วย ช่วงแรกๆ เป็นเรื่องทางร่างกาย เช่น ‘ลองคิดดูสิ ว่าที่วิ่งไปนี่จะเบิร์นแคลอรี่ไปเท่าไหร่’ แต่เมื่อวิ่งไปไกลเข้าเรื่อยๆ ป้ายพวกนี้จะเริ่มมีคำพูดที่ลึกซึ้งเป็นปรัชญามากขึ้น เช่น ‘การวิ่งมาราธอนไม่ใช่ก้าวใหญ่ (big leap) แต่เป็นการก้าวเล็กๆ (small steps) ทีละก้าว’ แต่ที่ผมชอบที่สุดก็คือ ‘คุณจะเริ่มการวิ่งที่แท้จริง ก็เมื่อคุณลืมว่าตัวเองกำลังวิ่งอยู่’ (You will start a real run when you forget that you are running)

ผมแอบคิดว่า ระเบียบวินัยในสังคมก็เป็นแบบเดียวกัน นั่นคือเราจะเริ่มมีระเบียบวินัยอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อไม่ได้ถูกบังคับ แต่ทุกอย่างเป็นไปอย่างนั้นเองจนกระทั่งเราลืมไปเลยว่าเรา ‘ต้อง’ เป็นอย่างนั้น

ซึ่งใช่ – นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย