1
คุณให้นิยาม ‘ความทรงจำ’ ว่าคืออะไรครับ
หลายคนอาจคิดว่า ความทรงจำมีลักษณะเป็น ‘เรื่อง’ คือสมองของเราจะเก็บเรื่องเรื่องหนึ่งเอาไว้ในลิ้นชัก เหมือนกับพับเสื้อเก็บไว้ในตู้ แต่ที่จริงแล้ว ความทรงจำเป็นสิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้นมากมายนัก
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า การจะให้นิยาม ‘ความทรงจำ’ นั้น เป็นเรื่องที่ยากพอๆ กับการให้นิยามคำว่า ‘เวลา’ เลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะความทรงจำคือส่ิงที่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา
ความทรงจำไม่ใช่เสื้อทั้งตัวที่ถูกพับเก็บเอาไว้ เมื่อเราหยิบมันคลี่ออกมา เสื้อตัวนั้นก็จะเปิดเผยทุกอย่างออกมาให้เราเห็นอย่างแน่นอนชัดเจน ทั้งเนื้อผ้า สี รูปทรง และกระทั่งกลิ่นที่เก็บกักอยู่ในเส้นใยผ้า
แต่ความทรงจำ ‘กระทำ’ กับเสื้อตัวนั้นราวกับเครื่องสับ มัน ‘ทำลาย’ เสื้อตัวนั้นจนยับเยินกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้ว ‘ฝัง’ เศษเสี้ยวของเสื้อตัวนั้นเอาไว้ตามที่ต่างๆ ในสมองของเรา
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่า สมองเก็บความทรงจำของเราไว้เป็นที่ๆ เช่น สีสันเก็บไว้ในพื้นที่สมองส่วนหนึ่ง รูปทรงเก็บไว้ในพื้นที่สมองอีกส่วนหนึ่ง แล้วจากนั้น เมื่อเกิดกระบวนการ ‘รื้อฟื้นความทรงจำ’ (Recollections) สมองของเราก็จะ ‘สร้างเรื่อง’ ขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำเอาเสี้ยวส่วนเหล่านั้นมาถักร้อย ทอขึ้นกระทั่งกลายเป็นเสื้อที่ละม้ายเหมือนเสื้ือตัวเดิม และเราก็จะรู้สึกเหมือนเสื้อตัวนั้นเป็นเสื้อตัวเดิมด้วย
แต่ที่จริงแล้ว, มันไม่ใช่เสื้อตัวเดิม
ในหนังเพลงเก่าแก่เรื่อง Gigi (1958) มีอยู่เพลงหนึ่งชื่อ I Remember It Well เป็นฉากที่คู่รักทบทวนความหลังกัน ฝ่ายชายบอกว่า – เราพบกันตอนสามทุ่ม, ผู้หญิงบอกว่า – ไม่ใช่หรอก สองทุ่มต่างหาก / ฝ่ายชายบอกว่าในวันนั้นเขาไปตรงเวลา แต่ฝ่ายหญิงบอกว่าเขาไปสาย / ฝ่ายชายบอกว่า เดตนั้นในดินเนอร์นั้น มีแสงจันทร์แสนงามแห่งเดือนเมษายน แต่ฝ่ายหญิงกลับบอกว่านั่นคือเดือนมิถุนายนต่างหาก และไม่ใช่คืนที่มีดวงจันทร์ด้วย
บทสนทนาในเพลงเป็นอย่างนั้นไปตลอด ตั้งแต่ที่ร้านอาหาร กระทั่งเมื่อเดินกลับบ้านไปด้วยกัน จนในที่สุด เมื่อถูกฝ่ายหญิงแก้ไขมากเข้า ฝ่ายชายก็ถึงขั้นต้องเอ่ยถามว่า – นี่ฉันแก่ชราลงแล้วหรือไร
ไม่หรอก – ฝ่ายหญิงตอบ, เธอยังหนุ่มแน่น เป็นเจ้าชายแห่งความรักอยู่เสมอ และนั่นทำให้ฝ่ายชอบจบเพลงลงด้วยการพูดว่า Ah, yes, I remember it well
2
ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ เพลงนี้คือเพลงที่บอกเล่าให้เราฟังถึงการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองที่ละเอียดอ่อนและละเมียดละไมที่สุดเพลงหนึ่ง
นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบลึกซึ้งขึ้นไปอีกขั้น ว่าที่จริงแล้ว สมองของเราไม่ได้เก็บความทรงจำเอาไว้เป็นที่ๆ หรอกนะครับ แต่เป็น ‘ตัวสมอง’ นั่นเองต่างหากเล่า – ที่คือความทรงจำ
ความทรงจำสถิตย์อยู่ ก็เพราะโมเลกุล เซลล์ และเซลล์ประสาทของเรา สามารถ ‘บอกเวลา’ ได้!
ความทรงจำของมนุษย์ถูกบันทึกเอาไว้ในอณูเล็กจิ๋วทุกอณู ตั้งแต่ใบหน้าของแม่ที่ปรากฏเลือนรางผ่านม่านตาของทารก ส่งสัญญาณไปยังเปลือกสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับการมองเห็น การได้ยินเสียง สัมผัส ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเก็บไว้ในสมองของเรา ไม่ใช่แค่ที่ใดที่สุด แต่ทุกๆ ที่ล้วนอาบเอิบและเปี่ยมล้นไปด้วยความทรงจำชุ่มฉ่ำ สมองย่อยประสบการณ์ต่างๆ ลงไปเป็นประสบการณ์เล็กๆ มากมาย คล้ายหน้าต่างบานเล็กๆ เรียงซ้อนทับกันไปตามช่วงเวลา เมื่อรื้อฟื้น ความทรงจำเหล่านี้จึงจะหวนกลับมารวมร่างกันเข้าตามบานหน้าต่างแต่ละบาน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Time Window หรือบานหน้าต่างแห่งกาลเวลา
ความทรงจำจึงเหมือนชีวิตมนุษย์ มันไม่เคยเหมือนเดิม ทว่าทุกครั้งที่เรานึกถึงฤดูร้อนนั้น จุมพิตนั้น ความฝันนั้น ที่เคยเกิดขึ้นและจบลง – เราได้สร้างมันขึ้นมาใหม่ ได้สัมผัสและเกิดประสบการณ์นั้นใหม่ – อีกครั้ง, เสมอ
ความทรงจำและการรื้อฟื้นความทรงจำจึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของชีวิต