ระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับผู้สร้างสรรค์ อะไร ‘ใหญ่’ กว่ากัน

คุณมาซาโนบุ สุกัตสุเกะ บรรณาธิการชื่อดังแห่งญี่ปุ่น เคยบอกเอาไว้เมื่อคราวมาบรรยายในหัวข้อ The Future of Editting ที่ TCDC ว่า สมัยก่อน, สมการระหว่างผู้สร้างสรรค์กับงานสร้างสรรค์คือ

Creator < Creation

นั่นแปลว่าตัว ‘งาน’ จะยิ่งใหญ่กว่าผู้สร้างสรรค์งาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นโมนาลิซ่ากับลีโอนาร์โด ดาวินชี หรือกวีดังเต้กับ The Divine Comedy หรือแม้กระทั่งของไทย ขุนช้างขุนแผนก็ ‘ใหญ่’ กว่าผู้เขียน (ซึ่งปัจจุบันบอกไม่ได้แน่นอนด้วยซ้ำว่าเป็นใครบ้าง ได้แต่เดาสำนวนกันไปมา) หรือพระอภัยมณีก็เป็นที่จดจำมากเสียยิ่งกว่าสุนทรภู่

แต่ในโลกยุคปัจจุบัน คุณมาซาโนบุบอกว่า เราจะเห็นปรากฏการณ์แบบใหม่ที่เขียนเป็นสมการได้ว่า

Creator > Creation 

นั่นคือ ‘ตัวตน’ ของผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้น กลับกลายมา ‘ใหญ่’ กว่าตัวผลงานได้ด้วยเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพราะโลกออนไลน์ยุคใหม่นั้น ทำให้ตัวผู้สร้างผลงานเข้าถึงได้ง่ายกว่า และผู้สร้างผลงานจำนวนมากก็ได้ทำให้ชีวิตของตัวเองกลายเป็นงานศิลปะไปด้วย ผู้คนจึงติดตาม ‘ตัว’ ของผู้สร้างสรรค์ จนผู้สร้างสรรค์อาจ ‘ใหญ่’ กว่าผลงานก็ได้

ฟังคุณมาซาโนบุแล้วทำให้ผมนึกถึงประโยคโด่งดังอย่าง-นักเขียนตายแล้ว, ซึ่งที่จริงเกิดข้ึนในยุคที่ยังไม่มีสื่อออนไลน์ ถ้ายกตัวอย่างเฉพาะคนเขียนหนังสือ เราจะพบว่าผู้เขียนเมื่อเขียนแล้วก็ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่อะไรในตัวอักษรที่เป็น ‘เรื่องเล่า’ ของตัวเองอีก มนัส จรรยงค์ ไม่ได้มีตัวตนอยู่ในเรื่องสั้นของตัวเอง เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ ก็ไม่ได้อยู่บนเรือลำนั้นกับชายชราผู้ต่อสู้กับปลาเมอร์ลิน

พวกเขาเป็นเพียงผู้ ‘สร้าง’ สรรพสิ่งในเรื่องเหล่านั้นขึ้นมา แต่เมื่อสร้างขึ้นแล้วก็จากไป ไม่ได้อ้อยอิ่งคอยดูความเป็นไปอยู่ในเรื่อง

นักเขียนจึง ‘ตาย’ ไปจากเรื่องเล่าของตัวเองด้วยอาการเรียบง่ายและสามัญธรรมดาที่สุด นั่นคือพวกเขาได้เดินออกจากเรื่องไปเงียบๆ ถึงแม้จะอยากตามไปดูความรู้สึกหรือความเห็นของผู้อ่านก็ทำไม่ได้ เพราะนักเขียนไม่สามารถมองลอดหน้ากระดาษขึ้นมายังสีหน้าและแววตาของผู้อ่านได้ งานจึงยังอยู่ ในขณะที่ผู้สร้างสรรค์งานได้จากไปตลอดกาล ทิ้งการตีความทั้งหลายเอาไว้ให้เป็นภาระของผู้เสพเท่านั้น

แต่ในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะโลกในเฟซบุ๊ค วิถีที่ว่านี้กลับตาลปัตรเปลี่ยนข้างไป 

ทุกครั้งที่เราเขียนสเตตัสเฟซบุ๊ค เราไม่เคยปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ เราไม่ได้ปล่อยให้ตัวเรา ‘ตาย’ ไปจากความเห็นหรือเรื่องเล่านั้นๆของเรา เมื่อกด send ไปแล้ว เราจะเวียนกลับมาดูมันใหม่ บางคนก็ถึงขั้นจับจ้องมองดูมันอยู่ตลอดเวลา ว่าใครจะมากดไลค์ไหม ใครจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร เพื่อจะย้อนกลับมา ‘แสดง’ ความคิดเห็นต่อเนื่องตอบโต้กันไป ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือลบ

ดังนั้น ผู้คนที่เขียนสเตตัสเฟซบุ๊คจึงไม่เหมือนคนเขียนหนังสือยุคก่อนที่ไร้ทางเลือก ต้อง ‘ตาย’ ไปจากหน้ากระดาษของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความสามารถในการ ‘ฟื้นคืนชีพ’ มาโต้เถียง หรือแม้กระทั่ง edit post ของตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าเหล่านั้นได้อีกด้วย

Creator ในโลกยุคใหม่จึงไม่เคยตาย!

เมื่อพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ลมหายใจของพวกเขาจึงยังเต้นเร่า กองไฟแห่งชีวิตยังโลดแล่น ความคิดเห็น ความรู้สึก ความสะเทือนใจ ความดีใจเสียใจ และอารมณ์ต่างๆนานาจึงยังคงปะทุ

Creator จึงใหญ่กว่า Creation ของตัวเอง และหลายหนก็ได้กลายไปเป็นศิลปะจัดวางในตัวของมันเอง และอีกหลายครั้งยิ่งกว่า ที่ ‘ความสามารถในการตาย’ ไปจากงานของตัวเองนั้น ได้เสื่อมถอยลง

คุณเคยสงสัยบ้างไหม ว่าความสามารถในการมีชีวิตอยู่ของ Creator รุ่นใหม่ กับความสามารถในการตายไปจากงานของตัวเองของ Creator รุ่นเก่าก่อนโน้น อย่างไหนทำให้เรามีความสุขกับชีวิตได้มากกว่ากัน

บางทีมันอาจเป็นความสุขคนละประเภทกันก็ได้