อยากให้ผมลองตอบคำถามอะไร ทิ้งคำถามต่างๆ ไว้ได้ ที่นี่ เลยนะครับ
ผมจะค่อยๆ ทยอยตอบครับ
Q : ทำไมคนเราถึงกลัวความแก่คะ
A : ที่จริงแล้ว มนุษย์เราไม่ได้กลัวความแก่มากเท่ากลัวความเปลี่ยนแปลงหรอกครับ คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งจะว่าเป็นเรื่องดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ คือการที่เราอยากให้อะไรๆ ที่ดีๆ เป็นไปเหมือนที่มันเคยเป็นมาตลอด
ความปรารถนาแบบนี้ ในด้านหนึ่งทำให้เราพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เพื่อรักษาการดำรงอยู่นั้นๆ เอาไว้ เช่น เราไม่อยากให้เกิดความแห้งแล้ง อยากให้ผืนดินชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา เราก็เลยคิดสร้างฝายขึ้นมาเพื่อกั้นน้ำเอาไว้ หรือเวลาที่จะสร้างบ้าน เราก็ค่อยๆ พัฒนาวิธีสร้างบ้านให้แข็งแรง หนักแน่นมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออากาศร้อนหนาว เราก็คิดสร้างเครื่องปรับอากาศต่างๆ ขึ้นมา เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเราที่สุด
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้เลยว่า ความปรารถนาเช่นนี้ ทำให้เรา ‘ต่อสู้’ กับความเป็นไปของธรรมชาติ เพื่อให้ชีวิตของเราเป็นไปในแบบที่เราปรารถนา แต่เอาเข้าจริงแล้ว พลังอำนาจของมนุษย์ในอันที่จะต่อกรกับความเป็นไปเหล่านี้ แม้จะสำเร็จบ้าง แต่ก็ต้องถือว่าไม่มีทางสู้ความเป็นไปของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้เลย
ในโลกตะวันตก การสร้างบ้านให้มั่นคงแข็งแรงทนแดดทนฝนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในโลกแบบเซนของญี่ปุ่น เราจะเห็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง คือการสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่และกระดาษ ถ้าเราเคยดูการ์ตูนอย่างโดราเอมอนหรืออิคคิวซัง เราจะเห็นเลยว่าเพียงเอานิ้วจิ้มประตูที่ทำจากกระดาษ ประตูก็ทะลุแล้ว
นั่นคือปรัชญาอีกด้านหนึ่งของชีวิต คือการสร้าง ‘บ้าน’ ที่เข้าใจถึงความไม่แน่นอน ไม่จีรังยั่งยืน อาจเพราะญี่ปุ่นอยู่ใกล้กับวงแหวนไฟมากกว่า จึงเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งกว่า ถ้าจะสร้างบ้านให้มั่นคง ก็ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่นการสร้างปราสาทใหญ่ๆ ทั้งหลาย แต่บ้านทั่วไปนั้น มีคนวิเคราะห์ว่า ผู้คนสร้างให้บ้านมีอาการ ‘ยอมรับ’ ต่อความเปลี่ยนแปลง นั่นคือแลดูบอบบาง พังสลายไปได้ง่าย แต่ในเวลาเดียวกันก็สร้างใหม่ได้ง่ายด้วยเช่นกัน
มนุษย์เราดูเหมือนกลัวความแก่ ก็เพราะเรากลัวความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราเห็นว่าไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะเป็นแบบนั้นเสมอไป บางคนอยากรักษาตัวตนเอาไว้ให้หนุ่มสาว จึงดูแลทะนุถนอมร่างกายของตนเองให้แข็งแรงแบบเดียวกับบ้านของคนตะวันตก แต่บางคนก็ดูแลตัวเองคล้ายบ้านของคนญี่ปุ่น คือโอบรับความเปลี่ยนแปลงและความไม่จีรังเหล่านั้น
กลัวแก่หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่าความเข้าใจของเราเองที่มีต่อ ‘วิธีมีชีวิต’ ของเรา นั่นคือการเห็นลึกไปถึงปรัชญาอันเป็นฐานรากของชีวิตของเราครับ