1
ในงานลอนดอนมาราธอนครั้งหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกจะลงวิ่งมาราธอนโดยไม่ใส่ผ้าอนามัย
เปล่า-เธอไม่ได้อยู่ในระยะปลอดประจำเดือนจึงไม่ใส่ผ้าอนามัย ประจำเดือนของเธอกำลังมาด้วยซ้ำ ทว่าเธอก็เลือกที่จะวิ่ง
และวิ่ง-โดยไร้ผ้าอนามัย!
2
คิราน คานธี คือผู้หญิงคนนั้น เธอคือมือกลองของนักร้องอย่าง M.I.A. และเป็นนักศึกษาของ Harvard Business School เธอเลือกวิ่งมาราธอนครั้งนี้โดยไม่ใส่ผ้าอนามัย เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า ทั้งโลกควรจะเห็นว่าประจำเดือนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้หญิง (และของผู้คนทั่วไป) ได้แล้ว มันไม่ใช่ของสกปรก ไม่ใช่ของที่จะทำให้คาถาอาคมเสื่อม หรือเป็นสิ่งที่สร้างความแปดเปื้อนเป็นมลทินใดๆเลย
เธอใส่กางเกงวิ่งสีแดง แต่เลือดประจำเดือนสีแดงเข้มก็ไหลลงมาเปรอะเปื้อนบริเวณเป้ากางเกงของเธอ
“ฉันวิ่งมาราธอนตลอดทาง โดยมีเลือดประจำเดือนไหลลงไปที่ขา” เธอบอก “ฉันวิ่งอย่างนี้ก็เพื่อพี่น้องของเราที่ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยมาใช้ได้ และวิ่งเพื่อพี่น้องของเราที่แม้จะต้องปวดท้องประจำเดือน ทว่าก็จำต้องซ่อนประจำเดือนเอาไว้ พร้อมกับแสร้งทำเป็นว่าประจำเดือนไม่ได้มีอยู่จริง”
เธอวิ่งระยะฟูลมาราธอนด้วยเวลาสี่ชั่วโมง สี่สิบเก้านาที และสิบเอ็ดวินาที เป็นการวิ่งที่ไม่ช้าไม่เร็วเกินไปนัก แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ เธอวิ่งทั้งที่อยู่ในระยะมีประจำเดือน อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงจำนวนมากมักรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว แต่เธอบอกว่าแม้จะมีอาการปวดท้องและเป็นกังวลกับการแข่งขัน ทว่าเธอก็รู้สึกมีพลังกับสิ่งที่เธอทำลงไป
หลังการแข่งขัน เธอถ่ายภาพกับครอบครัวและเพื่อน โดยยังสวมใส่กางเกงวิ่งที่มีรอยเปื้อนเลือดประจำเดือนนั้นอยู่อย่างภาคภูมิใจ
“ในการวิ่งมาราธอน เราสามารถเอาชนะอาการเหยียดเพศได้” เธอบอกเช่นนั้น
3
ผู้ชายที่วิ่งมาราธอนก็อาจมีเลือดไหลได้ ไม่ใช่เลือดประจำเดือน แต่มักเป็นเลือดที่เกิดจากการเสียดสี โดยเฉพาะที่หัวนม หลายคนวิ่งไปโดยมีเลือดไหลอยู่ที่เสื้อ ซึ่งเห็นชัดยิ่งกว่าเลือดประจำเดือน แต่เลือดเหล่านั้นก็ไม่เคยถูกรังเกียจเดียดฉันท์ในระดับเดียวกับเลือดประจำเดือน
คำถามก็คือ แล้วแนวคิดรังเกียจประจำเดือนของโลกตะวันตกมาจากไหน
หลายคนอาจนึกถึงนิยายเรื่อง Red Tent ซึ่งเป็นเรื่องของดินาห์ในพระคัมภีร์ไบเบิล ในนิยายเรื่องนั้นเล่าถึงกระโจมที่ผู้หญิงต้องเข้าไปอยู่เมื่อมีประจำเดือนตามธรรมเนียมยิวโบราณ ช่วงเวลาที่ผู้หญิงต้องแยกตัวออกไปแบบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า นิดดาห์ (Niddah) ซึ่งเป็นภาษาฮีบรูว์ แปลว่าการแยกหรือการถูกแยก ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะถือกันว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนเป็นผู้หญิงที่ไม่สะอาด ต้องชำระล้าง โดยการชำระล้างก็ต้องทำในอ่างที่เรียกว่า มิกเวห์ (Mikveh)
แต่เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า ‘มิกเวห์’ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน แต่คำนี้หมายถึงการทำพิธีชำระล้างของศาสนายิว เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมา ตัวอย่างเช่น คนที่จะเข้าไปในวิหาร ก็จะต้องจุ่มตัวลงไปอ่างมิกเวห์เพื่อให้สะอาดบริสุทธิ์เสียก่อน จึงจะเข้าไปในวิหารได้ หรือแม้กระทั่งผู้ชายที่เพิ่งหลั่งน้ำอสุจิ ไม่ว่าจะเพราะมีเพศสัมพันธ์หรือว่าฝันเปียก ก็จะถือว่าไม่สะอาดบริสุทธิ์ ต้องมาจุ่มตัวลงไปในอ่างมิกเวห์เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้แล้ว ยังมี ‘เหตุ’ ให้ต้องจุ่มตัวลงในอ่างมิกเวห์อีกมากมายหลายเหตุผล เช่น ก่อนจะแต่งงาน เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะต้องทำพิธีนี้ หรือถ้าไปสัมผัสกับศพ หรือกระทั่งกินเนื้อที่มาจากสัตว์ซึ่งล้มตายลงเอง ก็จะต้องมาล้างตัวในอ่างมิกเวห์นี้ด้วยเช่นกัน
พูดว่าอ่างมิกเวห์ หลายคนอาจนึกถึงอ่างอาบน้ำ แต่จริงๆแล้วมิกเวห์มีขนาดใหญ่พอสมควร เท่าที่ผมเคยเห็นที่เยรูซาเล็ม มิกเวห์มีลักษณะเกือบจะเป็นโรงอาบน้ำกันเลยทีเดียว คือจะต้องมีทางให้น้ำไหลเข้า แล้วก็มีทางลงเป็นบันไดลงไปในอ่างแช่ตัว แล้วน้ำจากอ่างแช่ตัวก็จะไหลออกไปที่อ่างข้างนอกอีกทีหนึ่ง พูดง่ายๆก็คือ คล้ายๆอ่างออนเซนหรือโรงอาบน้ำนั่นแหละครับ
เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า การจุ่มตัวในอ่างมิกเวห์ จะเป็นต้นธารของพิธีรับศีลล้างบาปของชาวคริสต์ เพราะแม้แต่ในศาสนายิวเอง ถ้าจะเข้ามานับถือศาสนายิว ก็จะต้องล้างตัวในอ่างมิกเวห์ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น หลายคนจึงอาจคิดว่าการ ‘ล้างตัว’ เช่นนี้ จึงน่าจะเป็นไปเพื่อสร้างความสะอาดบริสุทธิ์ให้ตัวเอง และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องแปลว่าก่อนการล้างหรือจุ่มตัว คนคนนั้นต้อง ‘สกปรก’ หรือ ‘ไม่บริสุทธิ์’ แน่ๆ-โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่มีประจำเดือน
แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูที่ ‘ราก’ ของศัพท์ภาษาฮีบรูว์ เราจะพบว่าความบริสุทธิ์ (Purity) หรือไม่บริสุทธิ์ (Impurity) ในภาษาอังกฤษนั้น เป็นการเทียบคำมาจากคำว่า Tahara (หมายถึงบริสุทธิ์) กับ Tumah (หมายถึงไม่บริสุทธิ์) โดยเป็นการเทียบคำที่โดยความหมายแล้วต้องถือว่าไม่สมบูรณ์นัก
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ Tahara กับ Tumah นั้น ไม่ได้มีนัยในแง่ลบแฝงมาด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวลาเราพูดคำว่า ‘ไม่บริสุทธิ์’ หรือ Impurity เราจะนึกถึงสิ่งสกปรกที่แฝงมาด้วยความเลวร้ายชั่วช้า แต่ในภาษาฮีบรูว์ คำว่า Tumah อาจจะหมายถึงความสกปรกก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้มีนัยแฝง (Connotation) หมายถึงความเลวร้ายชั่วช้าด้วย เช่นเดียวกัน Tahara ก็ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ที่เลอเลิศสูงส่ง ทั้งสองอย่างเป็นเพียง ‘สภาวะ’ อย่างหนึ่งที่แตกต่างกันเท่านั้น และการจะเปลี่ยนสภาวะ Tumah มาเป็น Tahara นั้น ก็ทำเพียงแค่จุ่มตัวลงในอ่างมิกเวห์เท่านั้นเอง
เมื่อเป็นอย่างนี้ เอาเข้าจริงแล้ว ประจำเดือนก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นของต่ำหรือชั่วร้ายมาตั้งแต่โบราณ
มันเป็นเพียงแต่ ‘สภาวะ’ ที่แตกต่างไปจากอีกสภาวะหนึ่ง, ก็เท่านั้น
4
ในอีกด้านหนึ่ง ประจำเดือนหรือ Menstruation เป็นคำที่สัมพันธ์กับ ‘พระจันทร์’ อย่างลึกซึ้ง เพราะคำว่า Menses (หรือที่เราเรียกว่า ‘เมนส์’) เป็นคำที่มาจากภาษาละติน แปลว่า Mensis ซึ่งแปลว่า Month หรือเดือน เหมือนคำว่า ‘ประจำเดือน’ ของไทย ซึ่งนั่นแปลว่าประจำเดือนเกี่ยวข้องกับ ‘คาบ’ ระยะเวลาราว 30 วัน (จริงๆคือ 29.1-29.5 วัน) จริงๆด้วย เพราะฉะนั้น หลายขนบธรรมเนียมในยุคโบราณ จึงเห็นว่าเลือดของผู้หญิงนั้นสัมพันธ์กับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ประจำเดือนจึงมีอะไรบางอย่างที่สูงส่งและ ‘มีฤทธิ์’ อยู่ในตัว
อินเดียนแดงเผ่าเชอโรกีเชื่อว่า เลือดประจำเดือนของผู้หญิงนั้นมีพลังอำนาจ และสามารถใช้ในการทำลายศัตรูได้ แม้กระทั่งชาวโรมันโบราณก็เชื่อกันว่า ประจำเดือนช่วยทำให้พายุฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บ หรือลมหมุน สลายคลายตัวไปได้เช่นเดียวกัน และถ้าผู้หญิงที่มีประจำเดือนเปลือยกายเดินเข้าไปในทุ่ง บรรดาศัตรูพืชทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนอนหรือตัวบุ้ง ก็จะหลุดร่วงลงมาจากฝักข้าวโพด ในแอฟริกายิ่งเชื่อกันว่าเลือดประจำเดือนนั้นมีพลังเวทย์ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อชำระล้างให้เกิดความบริสุทธิ์และเพื่อทำลาย
ด้วยเหตุนี้ ประจำเดือนที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างลี้ลับอธิบายไม่ได้ (ในสมัยก่อนโน้น) แถมยังเป็นสิ่งที่เกิดเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อันตรายและคุกคาม ‘อำนาจ’ ของผู้ชาย
ในยุคกลาง เมื่อคริสต์ศาสนามีผู้ชายเป็นใหญ่ ประจำเดือนที่เคยถูกมองว่าเป็นของ ‘อันตราย’ ถูกลดรูปเหยียดหยันลงกลายเป็น ‘ของต่ำ’ ที่มีความชั่วร้ายแฝงฝังอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้น ศาสนจักรออร์โธด็อกซ์จึงห้ามผู้หญิงที่ีอยู่ในระยะมีประจำเดือนเข้าไปทำพิธีในโบสถ์ แม้ความเชื่อนี้จะไม่เป็นที่นิยมอีกแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นเราเห็นว่า-โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้นเปราะบางมากเพียงใด เพราะกระทั่งเลือดที่ไหลออกมาจากซอกขาของผู้หญิงก็ยังถูกมองว่าเป็นอันตราย ต้องห้าม และต้องควบคุมเอาไว้ในที่ทางเฉพาะ
ในโลกตะวันออก คำอธิบายเรื่องประจำเดือนคลับคล้ายโลกตะวันตก แต่มักเน้นย้ำไปที่ความสกปรกหรือร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงมีประจำเดือนมากกว่าการมีอำนาจลี้ลับที่ต้องควบคุม อาทิเช่น ห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุ ห้ามผู้หญิงทำซูชิ (แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีผู้หญิงเป็นเชฟซูชิกันแล้ว) เป็นต้น
พูดแบบเหมารวมก็คือ ทั้งโลกมองประจำเดือนคลับคล้ายกัน นั่นคือเป็นเลือดน่ากลัวที่ต้องจำกัดเอาไว้ในบางพื้นที่เท่านั้น
โดยส่วนตัว ผมว่าความคิดแบบนี้คลับคล้ายเราไม่เคยได้ก้าวออกมาจากกระโจมของชาวยิวสมัยโบราณเลย
5
การกระทำของคิราน คานธี ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนาน และน่าจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการกระทำของเธอน่าจะส่งผลต่อ ‘วัฒนธรรมประจำเดือน’ เป็นการกระชากศีรษะเราให้เงยขึ้นมามองประจำเดือนด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง
ใช่-มันเกี่ยวพันกับดวงจันทร์ เกี่ยวพันกับน้ำขึ้นและน้ำลง เกี่ยวพันกับอำนาจที่อยู่นอกโลก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องกริ่งเกรงประจำเดือนเสียจนเกิดปฏิกิริยาด้านกลับ นั่นคือ ‘เหยียด’ ประจำเดือนให้กลายเป็นของต่ำหรือสกปรก ซึ่งเท่ากับเหยียดเจ้าของของมันด้วย-นั่นก็คือผู้หญิง
การวิ่งของคิรานบอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรมองประจำเดือนอย่างที่มันเป็นจริงๆ นั่นก็คือเป็นแค่ก้อนเลือดก้อนหนึ่งที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย เหมือนเลือดที่ไหลออกมาจากที่อื่นๆ ไม่ได้เลวร้ายไปกว่ากัน ไม่ได้มีอำนาจเหนือไปกว่ากัน และไม่ได้ดีงามสูงส่งไปกว่ากัน
การยอมรับประจำเดือนอย่างที่มันเป็น โดยการตัด ‘สัญญะ’ ทั้งหลายทั้งปวงทิ้งไปย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราทำได้ มันจะนำเราไปสู่ความเข้าใจในเรื่องอื่นๆที่กว้างขวางขึ้นอีกมาก
วัฒนธรรมประจำเดือนจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อมวลมนุษยชาติเช่นนี้เอง