หนังสือตายแล้ว!
ใครๆก็พูดแบบนั้นกันใช่ไหมครับ
แต่เอาเข้าจริง เราก็เห็นกันอยู่ว่า สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือเล่มนั้น เอาเข้าจริงไม่ได้ ‘ตายสนิท’ หรอกนะครับ ความนิยมในการอ่านหนังสือเล่มยังมีอยู่ และมีอยู่มากเสียด้วย
ที่สำคัญก็คือ มีคนมองเห็นแนวโน้มนี้ในโลกตะวันตก และทำถึงขั้น ‘รื้อฟื้น’ หนังสือเก่าๆกลับมาตีพิมพ์ใหม่หลายรายทีเดียว ตัวอย่างที่ The New Yorker เคยแนะนำเอาไว้อย่างน่าสนใจ ก็คือกรณีของแบรด บิเกโลว์ (Brade Bigelow) เจ้าของบล็อกอย่าง Neglected Books
แบรดเป็นนักอ่านตัวยง เขารู้จักหนังสือมากมาย และคิดว่าตัวเองไม่มีทางไม่รู้จักหนังสือเล่มไหน (หมายถึงหนังสือภาษาอังกฤษน่ะนะครับ) แต่เมื่อเขาได้อ่านหนังสือที่แนะนำหนังสืออีกที ก็พบว่ามีนิยายอยู่เล่มหนึ่งที่เขาไม่รู้จัก
มันเป็นหนังสือชื่อ The Moonflower Vine จริงๆแล้วเป็นนิยายปี 1962 ที่ผู้เขียนคือ Jetta Carleton หนังสือเล่มนี้วางตลาดตีคู่มากับหนังสืออย่าง Raise High the Roof Beam, Carpenter ของเจ.ดี. ซาลิงเจอร์ และ The Centaur ของจอห์น อัพไดก์ และถึงขั้นได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์ในระดับที่บอกว่า นี่คือหนังสือเล่มที่จะทำให้คุณดีใจที่ตัวเองอ่านหนังสือออก
แต่คนตื่นเต้นกับ The Moonflower Vine วาบเดียว ไม่นานนัก มันก็หายลับไป แถมคนเขียนยังเขียนเพียงเล่มเดียวด้วย คนเลยไม่จดจำ แต่เมื่อแบรดรู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้ เขาเลยขวนขวายหามาอ่าน เมื่อได้อ่านแล้วคิดว่าเป็นหนังสือดีมีคุณค่า ก็เลยอยากทำให้คนอื่นๆได้อ่านด้วย เขาเลยเริ่มเขียนบล็อกชื่อ Neglected Books เพื่อเขียนถึงหนังสือที่ผู้คนลืมเลือนไปแล้ว
เขาเขียนถึงหนังสือหลายร้อยเล่ม เพื่อสู้กับอาการหลงลืมของผู้คน
บล็อกของแบรดทำให้คนอื่นเห็น แล้วที่สุดก็มีสำนักพิมพ์ติดต่อมา นั่นทำให้ The Moonflower Vine ได้เกิดใหม่อีกครั้งออกมาเป็นรูปเล่ม และกลายเป็นที่ฮือฮากันมาก
ในโลกที่หลายคนคิดว่าสื่อกระดาษจะตาย ปรากฏว่ากลับมีการรื้อฟื้นสื่อกระดาษขึ้นมาใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ!
การรื้อฟื้นของแบรดทำให้หลายสำนักพิมพ์หันมามองหนังสือเก่าที่ถูกลืม อย่างเช่นสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้รื้อฟื้นหนังสือเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ โดยจัดทำเป็นซีรีส์ เรียกว่าฟีนิกซ์ (เหมือนชื่อของนกฟีนิกซ์ที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้) หรือสำนักพิมพ์ Melville House ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์อิสระในนิวยอร์ค ก็จัดทำเป็นซีรีส์ชื่อ Neversink (แปลว่าไม่มีวันจม) คล้ายกับสำนักพิมพ์เป็นเสมือนแพช่วยชีวิตที่คอยกอบกู้นักเขียนและหนังสือที่ตกลงไปในแม่น้ำแห่งการลืมเลือนตลอดกาล-อะไรทำนองนั้น
มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ว่านี้หลายมุม มุมหนึ่งก็คือการที่หนังสือเหล่านี้ ‘ถูกลืม’ ไป โดยเฉพาะในทศวรรษที่หกศูนย์ถึงเก้าศูนย์นั้น แสดงให้เราเห็นว่า-หนังสือซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และความบันเทิง ได้ถูกสื่ออื่นๆแย่งชิงความสนใจไป หากเป็นยุคก่อน สิ่งที่แย่งชิงพื้นที่ของหนังสือไปก็คือโทรทัศน์ แต่หากเป็นยุคนี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวการก็คืออินเตอร์เน็ต
แต่อินเตอร์เน็ตก็มีบทบาทย้อนแย้งในตัวด้วย เพราะหากปราศจากอินเตอร์เน็ต แบรดก็คงไม่ได้เขียนบล็อก และกว่าความคิดของเขาจะเดินทางไปหาบรรณาธิการได้ก็คงต้องใช้เวลานานกว่านี้ ดังนั้น The Moonflower Vine จึงอาจหายสาบสูญไปตลอดกาลก็เป็นได้ อินเตอร์เน็ตจึงเป็นตัวการช่วยกระตุ้นและรื้อฟื้นหนังสือเก่าขึ้นมา
เรื่องราวการสาบสูญและค้นพบหนังสือเหล่านี้บอกเราว่ามีโอกาสดีๆซุกซ่อนอยู่เสมอ
ถ้าเพียงแต่เราจะมองให้เห็น