ต้องบอกว่า เจ.เค. โรว์ลิง เจ้าแม่ผู้สร้างสรรค์แฮรี พ็อตเตอร์ นั้น เป็นนักอ่านตัวยงเลยนะครับ เธอเขียนหนังสือขึ้นมาได้ก็เพราะการเป็นนักอ่านนี่แหละ
เจ.เค. โรว์ลิง เลยชอบแนะนำหนังสือให้คนอ่าน ถ้าลองไปเก็บรวบรวมหนังสือที่เธอแนะนำไว้ น่าจะมีเป็นร้อยเล่ม ในที่นี้เลยอยากคัดมาแนะนำคุณต่อ แต่เอาแค่ 10 เล่ม ก่อนนะครับ เลือกมาเฉพาะเล่มที่น่าจะหาอ่านได้ไม่ยากนัก และไม่ได้ ‘ไกลตัว’ เรามากเกินไป (บางเล่มก็เป็นเรื่องที่เฉพาะทางมากไปหน่อย)
หลายเล่มคุณอาจเฉยๆ เพราะคาดไว้แล้วว่า เจ.เค. โรว์ลิง ก็ต้องแนะนำหนังสือประมาณนี้แหละ แต่เชื่อไหมว่าบางเล่มคุณอาจต้องประหลาดใจ
David Copperfield โดย Charles Dickens
นิยายเล่มสำคัญของ ชาลส์ ดิกเคนส์ ว่าด้วยเรื่องการผจญภัยของเด็กชายตัวน้อยที่เป็นกำพร้า และต้องระหกระเหินไปกับชีวิตวัยเด็ก ถือเป็นนิยายยักษ์ใหญ่เล่มสำคัญของโลกวรรณกรรมอังกฤษ หลายบทตอนมาจากชีวิตจริงของผู้เขียนเอง นิยายเล่มนี้สะท้อนทั้งเรื่องการใช้แรงงานเด็กและทำร้ายเด็กด้วย
Animal Farm โดย George Orwell
เล่มนี้ทุกคนคงรู้จักกันดี เป็นงานเขียนประชดประเทียดเปรียบเปรย เคยเป็นหนังสือต้องห้ามด้วย เพราะผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่การปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ไล่รวมไปถึงยุคของสตาลินในสหภาพโซเวียต ที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก
Feminism is For Everybody โดย Bell Hooks
เล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2000 ชื่อหนังสือบอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องราวของเพศ เพศสภาพ วิถีทางเพศ และสังคม โดยจะพาเราไปรู้จักกับทฤษฎีเฟมินิสม์ในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่ได้วิชาการจ๋าจนเกินไป ทว่าเป็นเรื่องที่มีรากอยู่ในเรื่องราวรอบตัวและสามัญสำนึกของเราเองในประเด็นต่างๆ ทั้งสิทธิ การใช้ความรุนแรง ไล่ไปถึงเรื่องเชื้อชาติและวัฒนธรรมด้วย
Catch – 22 โดย Joseph Heller
ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงไม่เท่าไหร่ ถือว่าเป็นหนังสือสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เล่าถึงมุมมองของตัวละครที่หลากหลาย แต่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และแสดงให้เห็นความ absurd อย่างยิ่งของสงครามและเรื่องราวในกองทัพ
Lolita โดย Vladimir Nabokov
เล่มนี้ก็แทบไม่ต้องแนะนำต่อ เพราะหลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี แถมยังเคยนำไปสร้างเป็นหนังหลายครั้งด้วย ที่สำคัญคือมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว
Macbeth โดย William Shakespeare
โศกนาฏกรรมชิ้นสำคัญของวิลเลียม เชคสเปียร์ ด้วยเรื่องของอำนาจและความกระหายอำนาจ ซึ่งในที่สุดก็นำความล่มจมมาสู่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง แมคเบธเป็นละครที่ได้รับการยกย่องว่าเข้าถึงจิตใจมนุษย์อย่างลึกซึ้งที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรมโลกเลยทีเดียว
Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln โดย Doris Kearns Goodwin
เล่มนี้ผู้เขียนซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์กันเลยทีเดียว เป็นหนังสือชีวประวัติของประธานาธิบดีอเมริกาอย่างอับราฮัม ลินคอล์น รวมไปถึงคนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่กับเขาในคณะรัฐมนตรีในช่วงปี 1861-1865 ซึ่งหลายคนก็ลงชิงชัยแข่งขันทางการเมืองกับเขา หนังสือเน้นไปยังความพยายามของลินคอล์นที่จะยุติความขัดแย้งทางการเมือง ไล่ไปจนถึงชัยชนะในสงครามกลางเมือง เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลลินคอล์นด้วย
Emma โดย Jane Austen
นิยายน่ารักเล่มนี้เป็นเรื่องของเด็กสาวเย่อหยิงหลงตัวเองที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถในการจับคู่ให้กับคนอื่น แต่ไม่เห็นเลยว่าการเข้าไปยุ่มย่ามกับชีวิตคนอื่นนั้นจะให้ผลในแง่ลบอย่างไรบ้าง เคยมีการนำไปสร้างเป็นหนังมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่ดังที่สุด น่าจะเป็นตอนที่กวินเนธ พัลโธรว์ เป็นผู้เล่นเป็นเอ็มม่า
The Story of the Treasure Seekers โดย E. Nesbit
เล่มนี้เป็นเรื่องราวของเด็กๆ กลุ่มหนึ่งที่อยากจะช่วยเหลือพ่อที่เป็นหม้ายของตัวเอง เพื่อให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เล่มนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ซี.เอส. ลิวอิส เขียน The Chronicles of Narnia ขึ้นมาในภายหลัง
Poverty Safari: Understanding the Anger of Britain’s Underclass โดย Darren McGarvey
หนังสือเล่มนี้พาคุณไปรู้จักกับ ‘คนจน’ ในอังกฤษทั่วทั้งประเทศ ไปดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้คนชนชั้นของอังกฤษถูกเข้าใจผิดจนเกิด ‘ความโกรธ’ ขึ้นมา แต่ความโกรธนี้ก็ถูกเข้าใจผิดอีกนั่นแหละ การไป ‘ซาฟารี’ ดูความจนจึงเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจสังคมอังกฤษได้ดีขึ้น