เมื่อคืนมีโอกาสได้ไปดูละครเวที Bangkok Notes มา เลยอยากบันทึกถึงสั้นๆ นะครับ
1. ละครเรื่องนี้เป็นงานระดับอาจารย์นะครับ ผู้กำกับคือคุณ Oriza hirata ชาวญี่ปุ่น แอบไปอ่านประวัติมา พบว่าละครเรื่องนี้เล่นรอบแรกที่โตเกียวในปี 1994 คือมากกว่า 20 ปีมาแล้ว แต่พอเอามาเล่นตอนนี้ กลับยังดูร่วมสมัยอยู่มากๆ
2. ความ ‘ร่วมสมัย’ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่พอดูได้ในสมัยนี้ด้วยนะครับ แต่ประเด็นที่พูดถึงในละคร คือประเด็นที่นอกจากจะเป็นสากลมากๆ แล้ว ยังก้าวไปข้างหน้าในอนาคต คือละครเป็นเรื่องในอนาคตอันใกล้อยู่แล้ว แต่เหมือนมีบางสิ่ง ‘ผลัก’ อนาคตนั้นออกไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ ทำให้ละครเรื่องนี้ทันสมัยอยู่เสมอ
3. นอกจากยุคสมัยแล้ว สถานที่ก็สำคัญ เพราะตอนแรกละครเรื่องชื่อ Tokyo Notes แล้วก็มีการไปเล่นที่โน่นที่นี่ โดยเปลี่ยนชื่อและดัดแปลงบทและฉากให้รับกับที่ต่างๆ เลยเกิดเป็น Seoul Notes รวมถึง Bangkok Notes ในครั้งนี้ด้วย
4. อยากบอกว่า ตอนเข้าไปไม่ได้คาดหวังอะไรมาก นอกจากตื่นตะลึงที่มีนักแสดงมากกว่า 20 คน (เข้าใจว่า 22 หรือ 23 คน) ทำให้กริ่งเกรงไปว่า จะวุ่นวายเวียนหัวจำใครไม่ได้หรือเปล่า แต่ปรากฏว่าไม่เลย
5. (อาจมีสปอยล์นะครับ) นี่คือเรื่องราวของมนุษย์ที่เกี่ยวพันร้อยรัดกันอยู่ แต่ละคนมีปัญหา มีความทุกข์ส่วนตัว ทั้งที่บอกเล่าได้ บอกเล่าไม่ได้ ไม่ได้บอกเล่าแต่ปะทุออกมาทางคำพูด แววตา และถะถั่งออกมาทางความรู้สึก ละครทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นเศร้า เศร้าจนอยากร้องไห้แต่กลับร้องไม่ออก ตื้อตันและคลอเบ้า
6. การได้เฝ้าดูเรื่องราวธรรมดาๆ ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องดูแลพ่อแม่ คนที่พ่อแม่ตายทิ้งมรดกเอาไว้ให้จัดการด้วยการเลี่ยงภาษีมรดก คนที่ต้องคอยดูแลผลประโยชน์ของคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์นั้นด้วย คนที่เจ็บปวดเพราะความรักมายาวนานแต่ยังจดจำรอยแผลเหล่านั้นได้ทั้งหมดแจ่มชัด คนที่อยากมีอนาคตต่างออกไปจากปัจจุบันแต่ไม่อาจหาทางเดินออกไปได้ คนที่ต่อต้านสงครามแต่ต้องยอมจำนนให้คนที่อยากไปสงคราม และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนเกิดขึ้นบน ‘ฉาก’ เดียวกัน
7. ฉากนั้นคือล็อบบี้ของมิวเซียมหรือแกลเลอรี่เล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ก็ตั้งอยู่บน ‘ฉาก’ อันมองไม่เห็นของมหาสงครามที่ทำให้โลกระอุแตกแยก ผู้คนถกเถียงกันอย่างเบาบางถึงเรื่องของสงครามใหญ่นั้น แต่กระนั้น ผลกระทบของสงครามกลับมาถึงตัวน้อยเสียยิ่งกว่าความกลัวมุม การค้นพบว่าคนรักมีคนรักอื่น การต่อรองผลประโยชน์เฉพาะหน้า และเรื่องอื่นๆ อีกมากที่แลดู ‘เล็ก’ กว่าสงครามนั้น
8. แน่นอน ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ การฉุดรั้งของความเหนื่อยหน่ายแห่งการมีชีวิต ความชื่นบานชั่วคราว รอยยิ้มที่ปะทุสดใสเพื่อจะลับหาย การคืนกลับสู่การปลอบโยนและโอบกอดของเพศหญิง ความเป็นแม่ อุดมการณ์แฝงเร้นในแบบ Political Lesbianism และอื่นๆ อีกมากมาย
9. ละครเรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่า – แท้แล้ว, ชีวิตก็ไม่ได้มีอะไรมากนักหรอก นอกไปจากการกอบเก็บเศษซากที่ยังหลงเหลือของชีวิตผู้อื่นมาประกอบสร้างขึ้นเป็นชีวิตของตัวเอง
10. และนั่นเอง ที่เป็นเรื่องสากลแห่งสารัตถะ (หรืออสารัตถะ) แห่งความเป็นมนุษย์ เสียงอึงคะนึงของสงครามอาจดังเป็นฉากหลังอยู่แผ่วๆ แต่เป็นสงครามแห่งการมีชีวิตอยู่ตรงหน้านี้ต่างหากที่กำลังแผดเผาเราให้ตายทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และพยายามดิ้นรนให้ยังคงอยู่ในความตายนั้น