ไม่ได้ดูหนังที่ ‘ดี’ ในระดับนี้มาสักพักแล้ว ต้องขอบคุณสหมงคลฟิล์มที่ชวนไปดูหนังเรื่องนี้ในรอบพรีวิวด้วยครับ
ที่จริง ตอนเดินเข้าโรงก็ไม่นึกหรอกว่า Stronger โดยฝีมือของผู้กำกับเดวิด กอร์ดน กรีน (David Gordon Green) ที่นำแสดงโดยเค กิลเลนฮาล (Jake Gyllenhaal) และทาเทียนา มาสลานี (Tatiana Maslany) จะทำให้เกิดความรู้สึกสั่นสะเทือนภายในได้มากขนาดนี้
นี่คือหนังประเภท ‘สร้างแรงบันดาลใจ’ ที่สร้างจากเรื่องจริง (ฝรั่งเรียกว่าเป็น Inspirational True-Life Story) ที่หากฝีมือไม่ ‘ถึง’ จริงๆ (หมายถึงทั้งผู้กำกับและนักแสดง) ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่หนังจะล้นเกินจนเข้าข่ายกลายเป็นเมโลดราม่าฟูมฟายที่พยายามบีบคั้นอารมณ์คนดูจนไม่น่าดู
ถ้าเป็นอย่างนั้น – หนังมักจะล้มเหลวในแง่เสียงวิจารณ์
แต่ Stronger ไม่เพียงไม่เป็นอย่างนั้น แต่ยังขยับเส้นความดีงามเหนือมาตรฐานขึ้นไปอีก ด้วยเรื่องราวที่หลายคนน่าจะรู้อยู่แล้ว กับชีวิตของ เจฟ บาวแมน (Jeff Bauman) ผู้ต้องเสียขาทั้งสองข้างไปเพราะระเบิดจากการก่อการร้ายในงานวิ่งบอสตันมาราธอนปี 2013
[คำเตือน: ถัดจากนี้ไป อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่องนี้]
หนังเริ่มต้นก่อนหน้าบอสตันมาราธอนจะเริ่มขึ้นเล็กน้อย ด้วยการฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างเจฟกับแฟนสาวคือเอริน เฮอร์ลีย์ (Erin Hurley) อันเป็นความสัมพันธ์แบบเดี๋ยวรักเดี๋ยวเลิก เจฟผู้ร่าเริงกับชีวิตห่างหายจากเธอไปพักหนึ่ง แต่แล้วจู่ๆ ก็หวนกลับมาอีกครั้ง คืนนั้น เมื่อเขารู้ว่าเอรินกำลังจะร่วมงานวิ่งบอสตันมาราธอนเพื่อหาเงินไปช่วยการกุศล เขาช่วยเธอเรี่ยไรเงินบริจาคอย่างเต็มอกเต็มใจ กระตือรือร้น เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และสัญญากับเธอว่าวันพรุ่งนี้เขาจะไปอยู่ที่นั่น – ที่เส้นชัย เพื่อชูป้ายเชียร์เธอ
เขาไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์ร้ายกาจที่สุดในชีวิตกำลังจะเกิดขึ้น
เมื่อเกิดระเบิดขึ้นนั้น เจฟเสียขาของเขาไปทั้งสองข้าง เป็นการเสียอวัยวะที่ร้ายแรงเพราะเขาต้องถูกตัดขาเหนือหัวเข่า เนื้อเรื่องทำนองนี้ถ้าผู้กำกับควบคุมหนังของตัวเองไม่ดี หนังก็อาจจะออกมาล้นเกินได้ แต่ Stronger กลับนวลเนียน แม้คงความเข้มข้น ลึกซึ้ง เอาไว้เต็มที่ แต่ไม่มีร่องรอยของการยัดเยียดใดๆ โดยเฉพาะกับการแสดงของนักแสดงนำทั้งคู่ที่ต้องเรียกว่าเหมือนไม่ได้แสดง แต่เป็นการแสดงที่เปี่ยมไปด้วย ‘ความเข้าใจ’ ใน ‘บาดแผล’ (Trauma) ที่เกิดขึ้นกับทั้งภายนอกและภายในของตัวละคร ในระดับที่เแทบจะกลายกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวละคร
ถ้ามีใครบอกว่า เจค กิลเลนฮาล หรือ ทาเทียนา มาสลานี ได้ออสการ์ประจำปีนี้ไปครอง – ผมจะไม่ประหลาดใจเลย เพราะนี่คือการแสดงที่ลึกซึ้งและพิเศษอย่างยิ่ง ผมมารู้ทีหลังว่า ผู้กำกับจ้างแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาเจฟ บาวแมน ตัวจริง มาคอยแนะนำนักแสดงเพื่อให้ได้เล่นได้สมจริงที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่นักแสดง (โดยเฉพาะเจค) จะเล่นได้สมบทบาทถึงขนาดนี้
ตัวบทเองก็ถักทอขึ้นมาอย่างชาญฉลาด โดยค่อยๆ คลี่ปมเรื่องที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วทีละน้อย หนังไม่ได้ฉายภาพตระหนกโดยทำให้เราเห็นเหตุการณ์ระเบิดโดยละเอียดตั้งแต่ต้น เราเห็นการระเบิดจากที่ไกล แต่ก็แรงพอที่จะทำให้ตกใจเพราะมาในจังหวะที่ไม่คาดฝัน ผู้กำกับไม่พาเราเข้าไปเห็นเหตุการณ์แบบคลุกวงในตั้งแต่ต้น แต่รักษาระยะห่างให้เรา กันเราออกจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ทำให้เราเป็นคนวงนอก เป็นผู้เห็นเหตุการณ์อยู่ไกลๆ
แม้แต่เจฟ บาวแมน เอง หนังก็ไม่ได้พยายามแสดงภาพความจำของเขาออกมาให้เห็นตั้งแต่ต้น เจฟอยู่ตรงนั้น ชูป้ายเชียร์แฟนสาวของตัวเองที่เขาใช้เวลาเขียนอยู่นาน แต่เมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เขากลับคล้ายถูกผลักให้ออกห่าง ทุกอย่างเหมือนความฝัน เหมือนไม่ได้เกิดขึ้นจริง เมื่อสมองกีดกันเขาจากความทรงจำอันเป็นกระบวนการเยียวยาตัวเองอย่างหนึ่ง โชคดีที่เขาจำเรื่องหนึ่งได้ – เขาเห็นคนร้าย
เวลาคนเราพบเจอเรื่องเลวร้ายในชีวิตอย่างนี้ หลายคนมักบอกให้เราลุกขึ้นสู้ – ให้ต้องเข้มแข็ง, เจฟก็เช่นกัน ไม่รู้จักกี่ครั้งที่มีคนบอกเขาให้ ‘แข็งแรงแบบบอสตัน’ (Boston Strong) และยกเขาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของบอสตัน แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า ภายในของเขาสับสน อ่อนล้า และเปราะบางมากเพียงใด
เจค กิลเลนฮาล แสดงบทบาทของเจฟ บาวแมน ออกมาอย่าง ‘จริง’ และ ‘เป็นธรรมชาติ’ ถึงระดับที่ฝรั่งเรียกว่า Verisimilitude คือเหมือนกับเขาเป็นเจฟ บาวแมน จริงๆ
จากภาพภายนอก เราอาจบอกไม่ได้เลยว่า เจฟต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความรู้สึกของตัวเองแค่ไหน แต่นอกจากบาดแผลภายนอกที่เกิดขึ้นกับขาทั้งสองข้างของเขาแล้ว ยังมี ‘บาดแผล’ หรือ Taruma ที่เกิดขึ้นภายในอย่างซับซ้อนอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่การกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน หรือการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับแฟนสาว กับครอบครัว และที่สำคัญที่สุดก็คือกับตัวเองที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีก
ฉากที่ผมชอบมาก คือฉากที่หมอเปิดผ้าพันแผลขาทั้งสองข้างของเจฟออกมาครั้งแรก หมอบอกเจฟว่ามันจะเจ็บมาก และมันก็เจ็บสาหัสจริงๆ
“บางคนก็เลือกที่จะมอง แต่บางคนก็เลือกที่จะไม่มอง” หมอบอกกับเจฟ ผมคิดว่านี่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของหนัง เพราะไม่ว่าเราจะเลือกมองดูหรือไม่มองดูทุกข์สาหัสที่เกิดขึ้นกับชีวิต มันก็จะเกิดขึ้นกับเราอยู่ดี เรื่องร้ายกาจขนาดนี้จะทำให้เรา ‘เจ็บ’ ในระดับที่ยากทานทนอยู่เสมอ คำถามก็คือ เราสามารถรวบรวมความแข็งแกร่งมากพอจะยอมรับความเจ็บปวดนั้น แล้วใช้มันเป็นพลังงานในการเดินหน้าต่อหรือไม่
ผู้กำกับกำกับฉากนี้ได้ฉลาดมาก เขาให้กล้องโฟกัสเฉพาะที่ใบหน้าของเจฟ (ซึ่งแสดงโดย เจค กิลเลนฮาล) เราเห็นการถอดผ้าพันแผลแบบรางเลือนเอาท์จากโฟกัส แต่เห็นใบหน้าของเจฟชัดเจน ในขณะที่เอริน (หรือทาเทียนา) นั่งอยู่ใกล้ๆ เธอเข้าและออกจากโฟกัสเป็นระยะๆ แค่เข้าโรงหนังไปดูการแสดงในฉากนี้ฉากเดียวก็คุ้มค่าแล้ว เพราะแม้เราแทบไม่เห็นการถอดผ้าพันแผลเลย แต่เจคทำให้เรารับรู้ความเจ็บปวดที่เกิดจากการถอดผ้าพันแผลนั้นในแบบที่ต้องหรี่ตา สูดปาก และหวาดเสียวไปกับความเจ็บปวดนั้นด้วย
เจฟ (หรือเจค) ที่อยู่ในโฟกัสของกล้องกำลังรับรู้ความเจ็บปวดอย่างชัดเจน ส่วนเอรินแฟนสาวของเขา แม้พยายามทำความเข้าใจและรับรู้ความรู้สึกอย่างเต็มที่ แต่ที่สุดแล้วเธอก็เข้าใจได้จริงเพียงบางส่วนเท่านั้น การโฟกัสเข้าออกของเธอจึงเหมือนหนังกำลังบอกเราว่า ไม่ว่าจะมีคนรักเรามากเพียงแต่ แต่ความเจ็บปวดก็ยังเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครแบ่งเบาความเจ็บปวดนั้นจากเราได้ ดังนั้น เราจึงต้องแบกรับมันด้วยตัวเองให้ได้ เพราะต่อให้มีใครบางคนนั่งอยู่ด้วยและโอบกอดเราอยู่ตลอดเวลา แต่คนคนนั้นก็ไม่อาจเข้าใจความเจ็บปวดของเราได้เต็มที่
Stronger เคลือบตัวเองด้วยความจริงธรรมดาสามัญ คือการกำกับและการแสดงที่เป็นธรรมชาติ แต่พาเราเข้าสู่ความจริงที่ซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าของตัวตนและความรู้สึกของมนุษย์ที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งเมื่อทำสำเร็จ เราจะสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นอยู่ภายใน และไม่อาจลืมเลือนความรู้สึกเหล่านั้นได้เลย
ใครรู้สึกท้อแท้ท้อถอยกับชีวิต Stronger จะทำให้คุณรู้ว่า คนที่ต้องเผชิญหน้าฝ่าฟันกับเรื่องหนักหนาสาหัสแห่งชีวิตนั้น เขาต้องใช้ความแข็งแกร่งมากขนาดไหน
Stronger น่าจะเป็นกำลังใจที่ดีให้กับทุกคนที่กำลังต้องการกำลังใจ
เพราะนี่คือการรวบรวมความแข็งแกร่งเมื่อชีวิตพังทลายโดยแท้