ถ้าอยากเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ตัวจริง, จงอย่าแต่งงาน อย่าซื้อบ้าน และอย่าซื้อรถ!
พูดอย่างนี้ คุณอาจงุนงงไม่น้อย เพราะในสังคมไทยเรานั้น การมีคู่ มีบ้าน และมีรถ ดูเหมือนจะเป็น ‘เครื่องประกาศสถานะ’ ว่าฉันคือ ‘ผู้ใหญ่’ เต็มตัวคนหนึ่งหนึ่ง คู่ บ้าน และรถ จึงเป็นเสมือนขั้นตอนของพิธีกรรมในชีวิตที่ทุกคนต้องผ่าน เริ่มต้นด้วยการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แล้วพอผ่อนไปได้สักระยะหนึ่ง ก็คิดลงหลักปักฐานด้วยการแต่งงาน ซึ่งสังคมไทยโดยทั่วไปจะยอมรับให้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีบ้าน รถ และสินสอดในระดับหนึ่งเพื่อสำแดงความเป็นผู้ใหญ่และความมั่นคงในชีวิต
เราจึงมี ‘ชีวิตภาคบังคับ’ ที่ต้องดิ้นรนขวนขวายแสวงหาสิ่งเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับกไลการตลาดและโฆษณาด้วยแล้ว การมีคู่ การมีบ้าน และการมีรถ จึงเป็นเสมือน ‘นิพพาน’ ของไลฟ์สไตล์คนเมืองที่ต้องแบกรับหนี้และการผ่อนทั้งรถและบ้านไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต
มันเป็นทั้งภาวะจำยอมและภาวะหน้าชื่น ที่แทบไม่มีใครลุกขึ้น ‘ตั้งคำถาม’ กับวิถีชีวิตเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว
แต่กระนั้น, ในโลกที่เป็นต้นตำรับของทุนนิยม ต้นตำรับของบริโภคนิยม ต้นตำรับของวิถีชีวิตข้างต้น และแม้กระทั่งต้นตำรับของ ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ เต็มขั้น-อย่างสหรัฐอเมริกา, คุณรู้ไหมว่า ณ ที่แห่งนั้นกำลังเกิด ‘เทรนด์’ ใหม่ที่ไม่ใช่แค่กระแสวูบวาบ แต่เป็นแนวโน้มใหญ่ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการแต่งงาน, การซื้อบ้าน และการซื้อรถ,
หลายคนขนานนามคนรุ่นใหม่เหล่านี้ว่า Generation Walk หรือคนรุ่นที่อาศัย ‘การเดิน’ เป็นหลักในชีวิต!
จะเป็นไปได้อย่างไร-หลายคนร้องค้าน เพราะรู้อยู่ว่าอเมริกานั้น รถยนต์เปรียบเสมือนขา ถ้าไม่มีรถยนต์ ก็ไม่มีวันไปไหนได้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างลอสแองเจลิสที่สร้างขึ้นด้วย Car Scale หรือ ‘สเกลรถยนต์’ ไม่ใช่สเกลมนุษย์ที่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้
ถึงฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ Generation Walk ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว และกำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกา!
พวกเขาเป็นใคร และมีเหตุผลอะไรในการมีชีวิตอยู่โดยปฏิเสธ ‘คุณค่า’ ที่หลายคนในสังคมไทยเห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอย่างการแต่งงาน มีบ้าน และมีรถ ที่สำคัญ มี Generation Walk ในเมืองไทยบ้างไหม
ถ้าคุณสงสัยเช่นนั้น-โปรดตามเรามา!
No Car!
นาตาลี แม็ควีห์ เป็นเด็กสาวอายุ 25 ปี เธออาศัยอยู่ในเมืองเดนเวอร์ ใจกลางอเมริกากันเลยทีเดียว เธอมีงานดีๆ สองงาน อย่างหนึ่งคือเป็นนักวิจัย อีกอย่างหนึ่งคือเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สอนปรัชญาระดับมหาวิทยาลัย
แต่เธอไม่ต้องการมีรถยนต์อยู่ในครอบครอง
นาตาลีบอกว่า เธอเป็นกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ คนในรุ่นเดียวกับเธอเริ่มเห็นว่าการครอบครองพวงกุญแจรถยนต์นั้นเป็นเรื่องเร่อร่าล้าสมัยไปแล้ว
ในยุคก่อน กุญแจรถยนต์ไม่ได้เป็นแค่เศษเหล็กชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่มันมีความหมายพิเศษสำหรับวัยรุ่นอเมริกัน นั่นคือหมายถึง ‘เสรีภาพ’ ในการไปไหนมาไหน ซึ่งในประเทศที่เสรีภาพเป็นหลักใหญ่ใจความหนึ่งของประชาธิปไตย การบรรลุเสรีภาพจึงเปรียบประดุจสรวงสวรรค์ของวัยรุ่นเลยทีเดียว
สำหรับคนไทย เราอาจไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเพราะอะไรกุญแจรถ (และรถยนต์) ถึงสำคัญกับวัยรุ่นอเมริกันยุคนั้นมากถึงขนาดนั้น แต่การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้นั้น เชื่อหรือไม่ว่าเราต้องย้อนกลับลึกไปถึง ‘รูปแบบ’ การสร้างและวางผังเมืองของสหรัฐอเมริกากันเลยทีเดียว!
Car Culture
ไม่รู้ว่าคุณเคยเล่นเกม Sim City บ้างหรือเปล่า
ถ้าเคย คุณคงพอรู้ว่าไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันไหน วิธีเล่นให้ประสบความสำเร็จคือต้องสร้าง ‘แยก’ พื้นที่ระหว่างที่อยู่อาศัย เขตอุตสาหกรรม และพื้นที่ค้าขายออกจากกัน แล้วต่อเชื่อมพื้นที่เหล่านี้ด้วยการคมนาคม
นั่นคือวิธีคิดในการสร้างเมืองของอเมริกาโดยแท้
การ ‘แบ่ง’ เมืองออกเป็นย่านใหญ่ๆให้สะเด็ดน้ำจากกันนั้น ทำให้สิ่งสำคัญในการสัญจรของผู้คนคือรถยนต์ เมืองใหญ่ในอเมริกาจึงขาดรถยนต์ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาชอบความหรูหรา เบาะหนัง หรือสมรรถภาพของมันตั้งแต่ต้น แต่เพราะถูก ‘กำหนด’ โดยโครงสร้างใหญ่ ตั้งแต่การสร้างเมือง ให้ต้องสมาทานตัวเองเข้ากับรถยนต์
จนกระทั่งเกิดเป็น ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ ขึ้นมา
รถยนต์คือฝันที่เป็นจริงในการสร้าง ‘รถม้าที่ไม่มีม้า’ ของมนุษย์ รถยนต์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่แล้ว แต่ไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วก็ใช้การได้ทันที ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อชีวิตคน เพราะต้องรอให้เกิดเครือข่ายของถนนและมีการสร้างสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับรถยนต์ขึ้นมาเสียก่อน
ไม่มีที่แห่งไหนบนโลกที่ผู้คนกระตือรือร้นจะใช้รถยนต์มากเท่าอเมริกา รถยนต์กลายเป็นพาหนะหลักของการขนส่ง และมีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการขนส่ง แล้วที่สุดก็กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอื่นๆในวิถีชีวิตของมนุษย์ ถนน ไฮเวย์ ลานจอดรถ หรือย่านชานเมืองที่เป็นแหล่งพักอาศัย ล้วนแต่เป็นกุญแจหลักสำคัญของวัฒนธรรมรถยนต์ อเมริกาสร้างเครือข่ายของถนนเชื่อมระหว่างศูนย์กลางของเมืองและย่านชานเมือง สร้างลานจอดรถในเมือง สร้างไฮเวย์ขึ้นเชื่อมระหว่างเมือง และกระตุ้นเร้าให้ผู้คนใช้รถยนต์กันอย่างเสรี ที่สุด-รถยนต์ก็กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี
ที่จริง จุดเริ่มต้นของรถยนต์และเครือข่ายถนนมีกำเนิดในยุโรป ในปี 1836 ฝรั่งเศสสร้างเครือข่ายไฮเวย์สายแรกของโลกขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร ในที่สุด เครือข่ายไฮเวย์ที่ว่าก็ถูกใช้สำหรับยานพาหนะต่างๆแทนที่การเคลื่อนกำลังพล แรกทีเดียวเป็นรถม้าหรือรถจักรยาน แต่เมื่อศตวรษที่ 20 ย่างกรายเข้ามา ทั้งรถม้าและรถจักรยานก็ต้องหลีกทางให้กับรถยนต์
และเมื่อมีการคิดประดิษฐ์รถยนต์ขึ้นโดยก๊อตฟรีด์ เดมเลอร์ กับ คาร์ล เบนซ์ ในปี 1885 โฉมหน้าของโลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
รถยนต์กำลังก้าวเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ถึงเยอรมนีจะเป็นประเทศที่มีการประดิษฐ์รถยนต์ขึ้นมาเป็นประเทศแรก แต่พอถึงปี 1906 ก็กลายเป็นอเมริกา ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ยิ่งเมื่อมีการค้นพบว่า เท็กซัสมีบ่อน้ำมัน ก็ยิ่งเร่งเร้าให้อเมริกาผลิตรถยนต์ต่อไปไม่หยุดมือ
และแล้ว ยุคของเฮนรี่ ฟอร์ด ก็มาถึง
ฟอร์ดประกาศว่า จะทำให้ครอบครัวอเมริกันทุกครอบครัวมีรถยนต์ให้ได้ครอบครัวละหนึ่งคัน เขาใช้วิธีผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้รถยนต์มีราคาถูกลงอย่างมาก สายการผลิตของฟอร์ดทำให้ฟอร์ดโมเดลทีกลายเป็นตำนานสำคัญของโลกรถยนต์ ถึงตอนนี้ รถยนต์ก็เข้าแทนที่รถม้าและรถอื่นๆไปเรียบร้อยแล้วทั้งในยุโรปและอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการตัดถนนเพิ่มขึ้นทั้งในยุโรปและอเมริกามากมายเพื่อลดความคับคั่งของการสัญจรโดยรถไฟ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกก็ก้าวสู่ยุคแห่งรถยนต์เต็มรูปแบบ จากอัตราส่วนของรถหนึ่งคันต่อคน 3.75 คน ในต้นทศวรรษ 1950s กลายมาเป็นรถหนึ่งคันต่อคน 2.25 คน ในปลายทศวรรษ 1960s ในอเมริกา อัตราส่วนนี้มีค่าค่อนข้างคงที่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดรถยนต์ในอเมริกาอิ่มตัวมานานแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความพยายามในการเปลี่ยนจากการขนส่งสาธารณะมาเป็นการขนส่งแบบส่วนตัว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิธีคิดในการเดินทางและเคลื่อนย้ายตัวเองอย่างสิ้นเชิง มีผลกระตุ้นให้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกับถนน และมีการผลักดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือสนับสนุนรถยนต์ ไม่ใช่การขนส่งสาธารณะอื่นๆ
วัฒนธรรมรถยนต์ทำให้ ‘เมือง’ ส่วนใหญ่ของอเมริกามีหน้าตาและผังเมืองในแบบที่เห็น กล่าวคือมีศูนย์กลางกระจุกตัวอยู่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วมีย่านชานเมืองมากมายกระจายตัวออกไปหลายย่าน หน้าตาของเมืองแบบนี้ยิ่งกระตุ้นเร้าให้วัฒนธรรมรถยนต์เติบโต และเมื่อประกอบเข้ากับการละเลยเพิกเฉยการขนส่งสาธารณะด้วยแล้ว วัฒนธรรมรถยนต์จึงเข้มแข็งขึ้นเป็นทวีคูณ
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแนวคิดต้าน!
New Urbanism
ครั้งหนึ่ง นักออกแบบเมืองสองสามีภรรยา คือ อังเดร ดัวนี (Andrés Duany) และเอลิซาเบธ พลาเทอร์-ไซเบิร์ค (Elizabeth Plater-Zyberk) ได้ไปอยู่ในเมืองอย่างนิวฮาเวน ในรัฐคอนเนคติกัต และเกิดตั้งข้อสังเกตถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองขึ้นมาหลายข้อ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น ‘รากฐาน’ ให้กับแนวคิด ‘เมืองใหม่’ (New Urbanism) ซึ่งมีจุดเน้นแตกต่างจาก ‘เมืองแบบเก่า’ อย่างสิ้นเชิง
ข้อสังเกตที่ว่าคือ
1. แต่ละย่านจะมี ‘ศูนย์กลาง’ ของตัวเองที่ชัดเจน บางทีก็เป็นจัตุรัส บางทีก็เป็นสวน หรืออาจเป็นสี่แยกหัวมุมถนนก็ได้ ตามศูนย์กลางพวกนี้มักมีที่หยุดรถสาธารณะ
2. ผู้อยู่อาศัยในแต่ละย่านสามารถเดินมายังศูนย์กลางที่ว่านี้ได้ในห้านาที ระยะทางเฉลี่ยคือ 400 เมตร
3. ผู้อยู่อาศัยในย่านนั้นๆมีหลายแบบ ทั้งที่เป็นบ้าน อพาร์ตเมนต์ หรือห้องแถว ทำให้มีคนอยู่หลากแบบ ทั้งคนชรา คนหนุ่มสาว คนโสด ครอบครัว คนจนและคนรวย
4. ตาม ‘ขอบ’ ของย่าน จะมีร้านรวงและสำนักงานหลายๆแบบเพื่อรองรับความต้องการของผู้อยู่อาศัย
5. ตามสนามหลังบ้านสามารถสร้างโรงเรือนเล็กๆให้เช่าหรือทำเป็นที่ทำงานได้
6. โรงเรียนอยู่ใกล้มากพอที่เด็กๆจะเดินไปกลับได้
7. มีสนามเด็กเล่นอยู่ในย่านนั้นๆ ทุกคนไปได้ง่ายๆ ไม่ไกลเกินไป
8. ถนนในย่านนั้นๆทำหน้าที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ กระจายการจราจร
9. ถนนค่อนข้างแคบและมีต้นไม้ปลูกให้ร่มเงาตลอด ความแคบของถนนทำให้รถไม่สามารถแล่นเร็วได้ ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเดินและขี่จักรยาน
10. อาคารบริเวณศูนย์กลางเมืองจะอยู่ใกล้กับถนน
11. ที่จอดรถและประตูเข้าที่จอดรถจะอยู่ด้านหลังอาคาร ไม่ใช่ด้านหน้า ทำให้ไม่มีการเลี้ยวรถเข้าอาคาร ซึ่งทำให้รถติดและกีดขวางการจราจร แต่รถต้องเข้าไปในซอยด้านหลังเพื่อเข้าสู่อาคารอีกทีหนึ่ง
12. การจัดการย่านนั้นๆมักเกิดขึ้นด้วยท้องถิ่นเอง มีการรวมตัวเพื่อหารือและถกเถียงสาธารณะในเรื่องของการบำรุงรักษาพื้นที่ ความปลอดภัย และการเปลี่ยนแปลงต่างๆเช่นสร้างอาคารหรือรื้ออาคาร รวมถึงการเก็บภาษีด้วย
ข้อสังเกตเหล่านี้ต่อมาพัฒนากลายมาเป็นขบวนการออกแบบเมืองที่เรียกว่า New Urbanism ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ต้นยุคแปดศูนย์แล้ว และค่อยๆเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเองของอเมริกา
ถ้าถามว่า แล้ว New Urbanism คืออะไร คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ เป็นวิธีสร้างเมืองให้เกิด ‘ความสามารถในการเดิน’ (Walkability) ให้ได้มากที่สุด
และเมื่อโครงสร้างเมืองเริ่มเปลี่ยนไป ก็เป็นการแผ้วถางทางให้เกิด Generation Walk ขึ้นได้นั่นเอง!
Why Walk?
จอร์แดน ไวส์แมน ผู้ช่วยบรรณาธิการของนิตยสาร The Atlantic เขียนไว้ในบทความชื่อ Why Don’t Young Americans Buy Cars? ทำนายถึงคนกลุ่มใหม่ในโลกที่กำลังเกิดขึ้น และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์
คนกลุ่มนี้คือ Generation Walk!
พวกเขาไม่สนอกสนใจจะ ‘ซื้อรถ’ หรือเห็นรถยนต์เป็นสรณะ หรือเป็น ‘เครื่องหมาย’ ของความเป็นผู้ใหญ่มากเหมือนกับคนรุ่นก่อนหน้า
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเดิมทีเดียวการออกแบบเมืองของอเมริกาที่แบ่งเป็นย่านๆ ทำให้แต่ละเมืองแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ นั่นก็คือ City กับ Suburb เหมือนกับเราคนไทยแบ่งออกเป็น ‘ใจกลางเมือง’ กับ ‘ย่านชานเมือง’ โดย City นั้นมีเอาไว้ทำงาน เช้าก็ขับรถเข้าเมืองมาทำงาน เย็นก็กลับออกไปอยู่ในย่าน Suburb
ในตอนกลางวัน City อาจดูหรูหราเต็มไปด้วยตึก ย่านการค้า พิพิธภัณฑ์ ถนนสวยๆ แต่ในตอนกลางคืนที่ทางแถวนั้นจะมืดตื๋อ เงียบเชียบ ไม่ค่อยมีคนอยู่ ขณะที่ย่าน Suburb จะเต็มไปด้วยห้างชานเมืองอย่างวอลมาร์ทและอื่นๆ
คนอเมริกันสมัยก่อนเมื่อคิดว่าตัวเอง ‘โต’ มากพอ ก็จะต้องซื้อรถและบ้านอยู่ในย่านชานเมืองเพื่อเดินทางไปกลับ นั่นจึงเป็นตัวการหล่อเลี้ยงวงการอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เป็นอย่างดี
แต่แล้ว Generation Walk ก็สืบเท้าเข้ามาในสังคม!
ประธาน Toyota USA อย่าง จิม เลนตซ์ ต้องออกมาพูดเมื่อปีที่แล้วว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกานั้นท่าจะแย่ เพราะกำลังเผชิญหน้ากับการที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจรถยนต์มากเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว และเป็นเทรนด์ใหม่ที่แม้ไม่ได้ถล่มทลายลงทันที แต่แนวโน้มเป็นอย่างนี้ไปไม่หยุดยั้ง
เรื่องนี้สะท้อนสิ่งที่ ‘ลึก’ มากของการ ‘ผลัดเปลี่ยนโลก’ มนุษย์นั้นอยากได้เสรีภาพ เสรีภาพของโลกยุคเก่าคือกุญแจรถยนต์ แต่สำหรับโลกยุคใหม่ เพียงคลิกโลกไซเบอร์ก็มีอาหารหรูหรามาส่งถึงบ้าน มีหนังสือเล่มใหม่มเสิร์ฟถึงหน้าจอ และพูดคุยกับเพื่อนได้ตลอดเวลาผ่านสื่อสังคมจนพอเจอหน้ากันจริงๆไม่รู้จะคุยอะไรกันด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น การ ‘ไปไหนมาไหน’ โดยใช้รถยนต์-จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’ มากเท่ากับการได้เป็น ‘พลเมืองเน็ต’ ที่ไม่ถูกปิดกั้น!
ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2000 หรือรุ่นมิลเลนเนียลส์นั้น เทรนด์นี้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น อย่างหนึ่งเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับโลกอินเตอร์เน็ตดี แต่อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะเกิดการ ‘เคลื่อน’ ของที่อยู่อาศัย จากที่ต้องเดินทางไกลจาก Suburb เข้า City เพื่อมาทำงาน รวมถึงต้องจ่ายภาษีแพงกว่า มีค่าใช้จ่ายมากกว่า ทั้งจากค่าน้ำมันรถ ค่าดูแลรักษาบ้าน ฯลฯ คนในรุ่นเอ็กซ์หรือวายจึง ‘ย้าย’ เข้ามาอยู่ใน City กันมากขึ้น เมื่ออยู่ใน City กุญแจรถจึงไม่เท่ากับ ‘เสรีภาพ’ อีกต่อไปแล้ว แต่กุญแจรถของคนเมืองกลายเป็น ‘กรงขัง’ พวกเขาให้ต้องติดตังอยู่บนถนนหรือการวนหาที่จอดรถ-ซึ่งไม่ใช่เสรีภาพ!
ยิ่งคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ที่เป็นผลิตผลจากคนรุ่นเอ็กซ์และวายด้วยแล้ว พวกเขาเกิดและโตใน City เลย ดังนั้นจึงยิ่งไม่เห็นความสำคัญของรถยนต์เข้าไปใหญ่ เพราะมีระบบขนส่งมวลชนเอาไว้ให้แล้ว ทำไมต้องลำบากดิ้นรนไปขับรถ
ที่สำคัญ แนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องแต่งงานก็ลดน้อยลงด้วย พวกเขาอยู่เป็นโสดกันนานขึ้น ถึงจะอยู่ด้วยกันหรือแต่งงานกัน แต่พวกเขาก็เปลี่ยน ‘วิธีคิด’ จากที่เดิมจะต้องเตรียมตัวมีลูกเยอะๆ จึงต้องซื้อ ‘บ้าน’ เอาไว้ในย่านชานเมือง กลายมาเป็นการซื้ออพาร์ตเมนต์ขนาดย่อมๆพออยู่กันแค่สองคน เพราะไม่คิดจะมีลูกอีกต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึง ‘ซื้อบ้าน’ กันน้อยลงมาก การอยู่อพาร์ตเมนต์ในเมือง (ไม่ว่าจะซื้อหรือเช่า) นั้นสะดวกกว่า ประหยัดกว่า ปลอดภัยกว่า และเหมาะสมกับวิถีชีวิตมากกว่า รถยนต์จึงยิ่งกลายเป็นของเกะกะ วิถีชีวิตของคนเมืองที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ นั่งร้านกาแฟใกล้บ้าน เดินไปร้านหนังสือ หรือขี่จักรยานไปสวนสาธารณะใกล้บ้าน จึงทำให้รถยนต์ไม่ใช่วัตถุแสดงศักดิ์ศรีหรือสถานภาพทางสังคมอีกต่อไป
แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า Generation Walk ไม่ใช้จ่ายเงิน กลายเป็นพวกอามิช (Amish) เคร่งครัดในวัตรปฏิบัตินะครับ พวกเขาก็ยังอยู่ในโลกทุนนิยมบริโภคนิยม เพียงแต่หันไปซื้อสิ่งอื่นๆเพื่อประกาศสถานภาพแทน อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด จักรยานเก๋ๆ หรือเอาเงินไปใช้จ่ายกับไลฟ์สไตล์อื่นๆแทน เช่น เดินทางท่องเที่ยว ไปพักผ่อนในโรงแรมบูติก ดื่มกาแฟหรูเลิศราคาแพง บรันช์วันอาทิตย์ในโรงแรมหรูๆ ฯลฯ
ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะพวกเขาไม่ต้อง ‘ใช้จ่ายเวลา’ ไปกับการเดินทางเข้าออกเมืองทุกวัน อย่างน้อยก็วันละสองชั่วโมง!
Generation Walk
คนรุ่นเอ็กซ์อาจยังติดอยู่กับบ้านชานเมืองและขับรถคันโก้อยู่ แต่คนรุ่นวายและรุ่นหลังจากวาย (เช่นรุ่นมิลเลนเนียม) นั้น มีแนวโน้มจะหันมาอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าคนรุ่นก่อน
ว่ากันว่า ตอนนี้คนรุ่นนี้ในอเมริกาอาศัยอยู่ในเมืองถึงราว 32% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนในรุ่นเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์มาก วอลสตรีทเจอร์นัลสำรวจพบด้วยว่า คนราว 88% อยากอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าอยู่ใน Suburb แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใน Suburb จริงๆ ก็ขออยู่ในย่านที่ไม่ใหญ่มาก ขอให้อยู่ไม่ห่างจาก ‘ศูนย์กลางชานเมือง’ (เช่นห้างร้าน) ในระยะที่ ‘เดินถึง’ หรือไม่ก็มีขนส่งสาธารณะไปถึงใจกลางเมืองใหญ่ได้อย่างสะดวก
‘ความต้องการ’ ที่ว่านี้ สอดรับกับ New Urbanism มากทีเดียว!
New Urbanism ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้แพร่หลายเฉพาะในอเมริกา จะว่าไป แม้กระทั่งในเกาหลีใต้และในกรุงแมดริดของสเปนก็นำแนวคิดนี้ไปใช้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือโครงการ ‘รื้อทางด่วน’ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงโซล และโครงการแบบเดียวกันนี้ในกรุงแมดริดที่ชื่อว่า Madrid Rio
วัฒนธรรมรถยนต์ทำให้เกิดความจำเป็นต้องสร้าง ‘ทางด่วน’ ขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่ทางด่วนเหล่านั้นนอกจากไม่มีชีวิตจิตใจแล้ว มันยัง ‘ตัดขาด’ ย่านที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันอีกด้วย ผู้คนในสองย่านไม่สามารถสัญจรไปหากันได้สะดวก จากที่เคยเดินหรือขี่จักรยานไปได้ กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ แต่การ ‘รื้อทางด่วน’ ลงนั้น ได้สร้างคุณภาพชีวิตใหม่ให้เกิดขึ้นกับเมือง มีหลักฐานว่าคนมีความสุขมากขึ้น และที่น่าทึ่งก็คือ-แก้ปัญหาการจราจรได้ด้วย
มหานครนิวยอร์คเองก็มีแนวคิดในการ ‘รื้อทางด่วน’ หลายสายเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและถนนเล็กๆ เพื่อเพิ่ม Walkability ให้กับเมืองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะทางด่วนเก่าๆที่ใกล้จะหมดอายุแล้ว
ทุกวันนี้ สัดส่วนของรถใหม่ที่ขายให้กับคนอายุ 21-34 ปี (ที่เคยสูงถึง 38% ในปี 1985) ได้ตกลงมาเหลือ 27% แต่คนซื้อรถที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ยังคงเพิ่มสูงขึ้นตามปกติ นี่แสดงให้เห็นว่ารถยนต์เริ่มกลายเป็น ‘สัญลักษณ์’ ของ ‘คนแก่’ ไปเสียแล้ว
ในด้านของใบขับขี่รถยนต์ก็เช่นกัน ในปี 1994 คนวัย 20-24 ปี มีใบขับขี่มากถึง 87% แต่ตัวเลขเริ่มขยับต่ำลงมาเหลือ 82% ในปี 2008 และมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีอายุน้อย ในปี 1994 คนอายุ 16 ปี (ซึ่งเป็นวัยกระหายอยากได้ใบขับขี่) มีคนทำใบขับขี่ 42% แต่ในปี 2008 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือแค่ 31% เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ขับรถเพราะอยากเดินกันทั้งหมด เนื่องจากอีกปัจจัยหนึ่งคือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกาทำให้พ่อแม่ไม่มีเงินซื้อรถให้ลูกด้วย
อินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊คทำให้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหา ‘ข้อมูล’ ตามที่ต่างๆมากเหมือนก่อน เพียงนั่งคลิกอยู่หน้าจอ เราก็ได้ข้อมูลเรื่องต่างๆจากทั่วโลกแทบครบถ้วนแล้ว และสามารถประชุม เจรจาธุรกิจ หรือแม้กระทั่งทำงานออนไลน์ได้ด้วย การเดินทางไปด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องจำเป็นน้อยลง
ตัดภาพกลับไปที่ นาตาลี แม็ควีห์ กันอีกครั้ง
นาตาลีไม่ได้คิดมาตั้งแต่ต้นว่าเธอจะไม่ใช้รถ แต่เมื่อมาอยู่ในเมืองใหญ่ เธอเห็นว่ารถยนต์นั้นทั้งไม่จำเป็นและแพงเกินเหตุ เธอใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ ระหว่างทาง เธอสามารถอ่านหนังสือหรือทำอะไรอื่นๆไปด้วยได้ และบางครั้งถ้าอยากออกกำลังกาย เธอก็จะเดินไปทำงาน
ในเดนเวอร์ที่เธออาศัยอยู่นั้น วิถีชีวิตแบบนาตาลีถือว่าแปลกพอสมควร แต่ถ้าเป็นเมืองใหญ่ตามชายฝั่งของอเมริกา เช่นนิวยอร์คหรือซานฟรานซิสโก มีคนจำนวนมากทีเดียวที่ไม่ซื้อรถ
แคธริน จอฟเฟรดี หญิงสาววัย 24 ปี อีกคนหนึ่ง เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ได้คิดจะเป็น Generation Walk มาตั้งแต่ต้น แต่แล้วเธอก็เลิกขับรถทั้งที่ขับมาตั้งแต่เรียนไฮสคูลและได้ใบขับขี่ตั้งแต่อายุ 16 ปี ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเธอย้ายมาทำงานที่วอชิงตัน ดีซี นั่นทำให้เธอสามารถใช้บริการขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวก อีกทั้งการขับรถก็จะเป็นภาระในเรื่องที่จอดและอื่นๆด้วย
อย่างไรก็ตาม เดฟ โคล ประธานของ Center for Automotive Research ที่ทำวิจัยเรื่องรถยนต์ก็บอกว่า Generation Walk นั้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวในวัยหนึ่งเท่านั้น เมื่อคนเหล่านี้เติบโตขึ้น เริ่มมีลูก สร้างครอบครัว สร้างบ้าน ที่สุดก็ต้องกลับมาซื้อรถกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์เริ่ม ‘รู้สึกตัว’ และพยายามหันมาคิดค้นแผนการตลาดและสินค้าใหม่ๆเพื่อใช้กับคนรุ่นนี้กันมากขึ้น
ในสายตานักวิเคราะห์หลายคน Generation Walk เป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ คนรุ่นนี้คือกลุ่มคนที่ต้องมา ‘รับผิด’ กับ ‘ปัญหา’ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม โชคดีที่สื่อใหม่และเทคโนโลยีทำให้พวกเขาสามารถ ‘แสดงออก’ และ ‘เชื่อมโยง’ กันได้ง่าย พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาแก้ปัญหาในสถาบันทางการเมืองอย่างเป็นทางการเหมือนคนรุ่นก่อน
พวกเขาสามารถ ‘เปลี่ยนโลก’ ได้ด้วยวิธีง่ายๆอย่างการเปลี่ยน ‘ไลฟ์สไตล์’ แล้วทำให้ไลฟ์สไตล์ของตัวเองเปลี่ยนองค์รวมของสังคมที่โอบอุ้มพวกเขาอยู่อีกต่อหนึ่ง
สำหรับสังคมไทย ผมไม่รู้หรอกว่าเราจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน แต่ว่ากันว่า ถ้าอยากเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ อย่างแท้จริงและยั่งยืน ก็ต้องหันมาทบทวน ‘ไลฟ์สไตล์’ ของตัวเองดู ว่ามันมีส่วนทำลายและทำร้ายตัวเองมากแค่ไหน
Generation Walk เป็นทางเลือกหนึ่ง