ทำงานแบบฟรีแลนซ์ให้มีประสิทธิภาพ

เดี๋ยวนี้คนทำงานเป็นฟรีแลนซ์แบบ Work From Home หรือทำงานที่บ้านกันเยอะมาก 

แต่ปัญหาของการทำงานที่บ้านก็คือ มันมักไม่ค่อยมีประสิทธิภาพหรือ ‘ได้งาน’ สักเท่าไหร่ ลองดู 14 วิธีการต่อไปนี้นะครับ เผื่อจะช่วยให้คุณ ‘ได้งาน’ มากขึ้น

 

1. เริ่มงานตั้งแต่เช้า

หลายคนคิดว่า ทำงานฟรีแลนซ์แปลว่าจะเริ่มงานเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจฉัน ส่วนใหญ่ก็เลยอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ ปาเข้าไปบ่ายโมงแล้วยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ถ้าเราเริ่มงานได้ตั้งแต่เช้า ยิ่งเช้าเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เราจะพบว่าเหลือเวลาในแต่ละวันเยอะขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 

2. ทำเหมือนไปทำงานที่ออฟฟิศ

เตรียมตัวให้พร้อม เช่น ตื่นก็ต้องตื่นตามเวลา ไม่ใช่ลุกขึ้นมาแล้วงัวเงียขอนอนต่อเพราะคิดว่ามีเวลาทั้งวัน กินข้าวเช้าก็กินให้เรียบร้อย ไม่อ้อยอิ่งเป็นฮิปสเตอร์ที่ค่อยๆ ละเลียดชงกาแฟ วันไหนว่างค่อยทำแบบนั้น

 

3. จัดตารางเวลาให้เหมือนไปทำงานที่ออฟฟิศ

อันนี้สำคัญ เพราะถ้าเราไปทำงาน เราจะรู้เลยว่ากี่โมงต้องทำอะไรบ้าง แต่เวลาทำงานอยู่บ้าน เรามักเลื่อนเปื้อนไปเรื่อยเปื่อย ถ้าเราจัดตารางเวลาให้ดี เก้าโมงต้องทำอะไร สิบโมงต้องทำอะไร ก็จะทำให้งานออกมาได้ตามเวลา

 

4. จัดที่ทำงานให้ดี

ถึงทำงานที่บ้านก็ต้องมีที่ทางเฉพาะ เป็น Work Space ของคุณ คือพอนั่งตรงนี้ปุ๊บ ก็จะรู้สึกเลยว่าต้องทำงาน จะช่วยให้เกิดการ Frame Mindset แล้วอยากทำงานขึ้นมา

 

5. ออกนอกบ้าน

บางทีนั่งทำงานที่บ้านก็ไม่ได้งาน อาจต้องออกนอกบ้านไปหาร้านกาแฟหรือที่ทำงานอื่นๆ เอาไว้นั่งทำงานบ้าง บรรยากาศที่มี ‘คนอื่น’ อยู่ด้วย มันช่วยให้เรา ‘แสดง’ ว่าเรากำลังทำงานอยู่ได้ดีกว่า แม้ว่าเราจะรู้ตัวว่าเรากำลัง ‘แสดง’ ว่าเราทำงานอยู่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืองานจริงๆ

 

6. ทำให้การเข้าถึงโซเชียลมีเดียยากขึ้น

อันนี้มีหลายวิธี เช่น ล็อกเอาท์ไปเลย หรือไม่ก็ใช้ App หลายอย่างที่ช่วยให้คุณเข้าถึงโซเชียลมีเดียไม่ได้ คือตั้งเวลาได้ว่า ในหนึ่งชั่วโมงจะเล่นโซเชียลมีเดียได้กี่นาที อะไรทำนองนี้ เป็นการกำจัด ‘ทางเข้า’ (Gateway) สู่โซเชียลมีเดีย ซึ่งจะช่วยให้เรา ‘ได้งาน’ จริงๆ

 

7. ทำแล้วทำอีก

ควรวางแผนการทำงานล่วงหน้าเอาไว้ และสัญญากับตัวเองว่าจะทำให้ได้ตามแผน ถ้าทำได้ตามแผน แต่เวลายังไม่หมด ขอให้ทำงานอื่นต่อไปอีก อย่าเพิ่งหยุดทำงาน เพราะมันจะฝึกนิสัยให้เราใช้เวลาในการทำงานตามตารางเวลา

 

8. หาช่วงเวลาทำงานที่ดีที่สุด

งานมีหลายแบบ ถ้าเป็นงานคิด หลายคนชอบช่วงเช้า แต่หลายคนก็ชอบช่วงดึก ดังนั้นจึงควรจัดเวลาให้การคิดงานให้เหมาะสมกับตัวเอง

 

9. ติดต่องานช่วงบ่าย

แต่ถ้าเป็นงานติดต่อพูดคุยกับผู้คน ช่วงบ่ายของแต่ละวันจะดีที่สุด ไม่ว่าจะต้องโทรศัพท์คุย หรือออกไปพบปะ ไปประชุมงาน เพราะหลังคิดงานมาทั้งเช้า ช่วงบ่ายๆ คุณจะเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายการอยู่คนเดียวแล้ว การได้พบคนอื่นในช่วงบ่าย (อาจจะไม่ใช่ทุกวัน) จะช่วยให้คุณไม่รู้สึกซึมเศร้า

 

10. เปิดเพลงที่เหมาะสมกับงาน

เรื่องนี้เป็นอภิสิทธิ์ของคนที่ทำงานที่บ้าน เพราะสามารถเปิดเพลงได้ตามใจชอบโดยไม่ต้องใส่หูฟังให้ร้อนหู ถ้าเป็นงานคิด ควรเลือกเพลงสงบๆ เบาๆ ลองหาเพลย์ลิสต์ที่ช่วยให้เรามีสมาธิ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะใน YouTube หรือ App ดนตรีต่างๆ เช่น Spotify หรือ Apple Music บางทีจะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น

 

11. หาสิ่งขัดจังหวะบ้าง

สิ่งที่จะขัดจังหวะการทำงานของเรานั้น ไม่ใช่ไม่ดีเสมอไป หลายอย่างก็ดีนะครับ เช่น การเอาขวดน้ำและแก้วน้ำมาไว้ใกล้ตัว จิบน้ำไปเรื่อยๆ ระหว่างทำงาน จะทำให้เราปวดปัสสาวะเป็นระยะๆ แล้วจะได้ลุกไปเข้าห้องน้ำบ้าง หลายคนทำงานกันแบบอุทิศตัว ไม่ลุกไปไหนเลย ซึ่งไม่ดี เพราะอาจทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมต่างๆ ได้หลายอย่าง เวลาทำงานที่ออฟฟิศ มักจะมีช่วงที่คนอื่นพัก ทำให้เรารู้ตัวว่าควรจะพักแล้ว แต่การทำงานที่บ้านอาจทำเพลินจนลืมตัว การหาสิ่งขัดจังหวะจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

12. ต้องมีเวลาพักที่ชัดเจน

คล้ายๆ ข้อ 11 แต่อันนี้คือเวลาพักที่ต้องพักจริงๆ เหมือนพนักงานออฟฟิศมีพักเที่ยง คุณก็ต้องพักกินข้าวกลางวัน หรือพักไปเดินเล่น หรือทำอย่างอื่นบ้าง เพื่อเป็นการรีชาร์จตัวเองด้วย อย่าทำงานโดยใช้เวลา 100% ไปกับงาน

 

13. หาสิ่งกำหนดเวลา

บางคนใช้วิธีซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าเพื่อกำหนดเวลาทำงาน เช่นหากต้องเขียนงานหนึ่งชิ้น ก็จับผ้าใส่เครื่อง ตั้งเวลาเอาไว้กี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ จากนั้นก็มาทำงาน พอทำงานเสร็จก็ได้เวลาไปตากหรืออบผ้าพอดี ทำให้คุณได้งาน ได้ซักผ้า และได้เครื่องกำหนดเวลาไปพร้อมกันด้วย

 

14. กำหนดเวลาเลิกงาน

ทำงานที่บ้านก็ต้องมีเวลาเลิกงานด้วยเหมือนกัน ถ้าคุณไม่กำหนดเวลาเลิกงานเอาไว้ เวลาของคุณจะไม่เป็นตาราง ซึ่งไม่ดี เพราะไม่ได้แปลว่าคุณจะทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่คุณจะเอาเวลาทำงานไปปนเปกับเวลาว่าง ทำงานนิดนึงแล้วก็ไปนอนเล่นโซเชียลมีเดียแล้ว อะไรทำนองนี้ ดังนั้น การกำหนดเวลา ‘เลิก’ ทำงาน จึงจะทำให้คุณรู้ว่าควรเร่งหรือควรผ่อนตัวเองในการทำงานอย่างไรบ้าง