ตึกไม้ระฟ้าและศตวรรษแห่งไม้ที่กำลังเริ่มต้น

เดี๋ยวนี้คนไม่ได้ตื่นเต้นกับตึกที่แข่งกันสร้างให้สูงลิบอีกต่อไปแล้ว เพราะไปที่ไหนก็เห็นแต่ตึกสูงจนเสียดฟ้า

แต่ถ้าบอกคุณว่า – อีกไม่นานนัก เราจะได้เห็นตึกระฟ้าเหล่านี้ที่ทำจากไม้ล่ะ, คุณจะว่ายังไง

เราคุ้นเคยกับบ้านไม้เป็นอันดี แต่พอนึกภาพตึก เราเป็นต้องนึกภาพตึกที่ทำจากคอนกรีตหรือเหล็ก เพราะคอนกรีตหรือเหล็กย่อมแข็งแรงกว่าไม้ และเวลาสร้างขึ้นไปสูงๆ โครงสร้างที่ทำจากไม้ก็น่าจะอ่อนยวบเปราะบาง ถล่มทลายลงมาได้ง่าย

แค่สร้างบ้านไม้สูงสักสามสี่ชั้นนี่ก็นึกภาพไม่ออกแล้วว่าใครจะอยากไปอยู่ชั้นบนสุด เพราะมันคงโงนเงนไปมาน่าดูชม

แต่คุณรู้ไหมว่า ตอนนี้ ‘ตึกไม้ระฟ้า’ (Wood Skyscraper) กำลังก่อตัวเกิดขึ้นในหลายเมืองเก๋ ตั้งแต่ลอนดอนจนถึงเมลเบิร์น และที่กำลังสร้างกันอยู่ใหม่หมาด ก็คือที่พอร์ตแลนด์ โอเรกอน

คุณอาจจะถามว่า ตึกไม้พวกนี้มันสูงแค่ไหนกันหรือ ตอนนี้ตึกไม้ระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก เป็นตึกชื่อ Brock Commons อยู่ในเมืองแวนคูเวอร์ สูงถึง 53 เมตร ไม่ใช่ตึกไก่กานะครับ คลิกเข้าไปดูที่นี่ แล้วคุณจะต้องประหลาดใจที่ ‘ตึกไม้’ มันสูงได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

พอรู้แล้วว่า โลกนี้เขามี ‘ตึกไม้ระฟ้า’ กัน คำถามถัดมาก็คือ – แล้วทำไมต้องอุตริไปใช้ไม้ด้วย ใช้คอนกรีตหรือเหล็กดีๆ ไม่ชอบหรือไง แล้วไม้น่ะ มันแข็งแรงมากพอกระนั้นหรือ แผ่นดินไหวมาทีจะทำยังไง ไม้ไม่ถล่มพังลงมาง่ายกว่าวัสดุอื่นหรือ

คำตอบก็คือ – ไม้ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหรอกนะครับ เราอาจจะนึกถึงไม้แบบกล่องไม้ขีด เอามาวางซ้อนๆ กัน น่าจะอ่อนแอ แต่ที่จริงแล้วไม้แข็งแรง น้ำหนักเบา และยังทนทานต่อแผ่นดินไหวด้วย

สถาปนิกที่ออกแบบตึก Brock Commons อย่าง รัสเซล แอคตัน (Russell Acton) บอกว่าหลายคนอาจคิดว่าไม้นี่ ถ้าติดไฟก็ไหม้วอดไปหมดทั้งหลังใช่ไหมครับ แต่ที่จริงแล้ว ไม้หนาๆ ที่ใช้สร้างอาคาร มันต้านทานไฟได้ดีกว่าที่คิดด้วยซ้ำ เพราะพอไหม้ จะทำให้ผิวชั้นนอกกลายเป็นชั้นของถ่าน แล้วไปปกป้องวัสดุภายใน ไม่ไหม้ลามลึกลงไป

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การสร้างตึกไม้ระฟ้าเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ เพราะว่าไม้เป็นทรัพยากรที่ยั่งยืน เป็นไม้ที่มาจากป่าปลูกและมีการจัดการที่เหมาะสม ในเวลาที่ปลูกป่า ต้นไม้ก็จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ทำให้มันปล่อยรอยเท้าคาร์บอนออกมาน้อยกว่าอุตสาหกรรมเหล็กหรือคอนกรีต

ถ้าขยับไปดูตึกที่พอร์ตแลนด์ เราจะพบว่าตึกไม้ของพอร์ตแลนด์อาจจะไม่สูงเท่า Brock Commons แต่ก็สูงถึง 12 ชั้น เป็นตึกที่สร้างจากไม้หนาหนัก (เรียกว่า Mass Timber) ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วจากรัฐโอเรกอนและสภาเมืองพอร์ตแลนด์ โดยหลักการก่อสร้างนั้นน่าสนใจมากครับ เพราะเขาใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Cross-Laminated Timber หรือ CLT กับ Glue-Laminated Timber หรือ Gluam มาผสมกัน CLT นี่ พูดง่ายๆ ก็คือการเข้าลิ้นไม้ในแบบที่ช่างไม้บ้านเราคุ้นเคยนี่แหละครับ เพียงแต่ว่ามันจะขัดกันด้วยท่อนไม้ที่หนาหนักขนาดใหญ่เท่านั้นเอง

เขาบอกว่า ไม้กลายเป็นวัสดุที่เป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับสถาปนิกนะครับ หลายคนบอกว่า ไม้กำลังจะเข้ามาแทนที่คอนกรีตและเหล็กในโลกแห่งการออกแบบ แต่ไม่ใช่ไม้อะไรก็ได้นะครับ ต้องเป็นไม้ที่ได้รับการออกแบบและปลูกมาเป็นพิเศษ เรียกว่า Engineered Timber ที่แข็งแรงกว่าไม้ทั่วไป

แอนดรูว์ วอห์ (Andrew Waugh) สถาปนิกชาวอังกฤษถึงกับบอกเลยครับว่าตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของยุคที่เรียกว่า Timber Age เนื่องจากไม้นั้นทำให้การก่อสร้างเป็นไปได้อย่างเร็วสุดๆ แม่นยำสุดๆ แถมยังสวยงามสุดๆ อีกต่างหาก

ลองนึกดูก็ได้ ว่าถ้าเลือกได้ คุณอยากอยู่กับพื้นผิวที่เป็นไม้ละเอียดอ่อนเนียนมือ หรืออยู่กับพื้นผิวคอนกรีตสากหยาบ หรือพื้นผิวเหล็กเยียบเย็น คนส่วนใหญ่น่าจะอยากอยู่กับพื้นผิวไม้มากกว่า ดังนั้น Massive Timber หรือ Engineered Timber จึงเริ่มเป็นที่นิยม โดยวิธีสร้างแบบ CLT ก็ได้รับการพัฒนาไปไกลมาก ทำให้สามารถสร้างอาคารแบบสำเร็จรูป (Prefabricated) ได้ในหลากหลายรูปแบบ และถึงจะเป็นไม้ที่หนาหนัก ก็ยังมีน้ำหนักเบาว่าคอนกรีตและเหล็กอยู่ดี

แต่ไม่ใช่แค่สร้างตึกเท่านั้นนะครับ เพราะตอนนี้นักวิจัยญี่ปุ่นกำลังคิดค้นไม้แบบใหม่ที่ผลิตจากเซลลูโลสนาโนไฟเบอร์ (Cellulose Nanofibres) ซึ่งจะแข็งแกร่งขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และน่าจะนำมาทดแทนเหล็กได้อย่างสิ้นเชิงในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งถ้าหากทำได้ จะไม่ใช่แค่ตึกระฟ้าเท่าน้ันที่ทำจากไม้ แม้แต่รถยนต์ก็อาจสร้างขึ้นจากไม้ได้เหมือนกัน

ตอนนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียโตกำลังทำงานร่วมกับบริษัท Denso Corp ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์เจ้าใหญ่ที่สุดของโตโยต้า ในการ ‘ลดน้ำหนัก’ ของรถยนต์ โดยหันมาใช้วัสดุใหม่ๆ ซึ่งก็มีทั้งพลาสติกแบบใหม่ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้เซลลูโลสนานาไฟเบอร์ (หรือเส้นใยของเนื้อไม้) ที่มีขนาดเล็กกว่าระดับไมครอนหลายร้อยเท่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงจะเป็นรถยนต์ที่ทำจากไม้ (หรืออย่างน้อยก็เป็นวัสดุที่คล้ายๆ กับไม้) นี่แหละครับ

มีคนบอกว่า ศตวรรษที่ 17 คือยุคแห่งการใช้หินมาเป็นวัสดุก่อสร้าง พอมาถึงศตวรรษที่ 18 คือยุคแห่งอิฐ แล้วเมื่อถึงศตวรรษที่ 19 ก็เกิดยุคแห่งเหล็ก ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคของคอนกรีต แต่ในศตวรรษที่ 21 จะเป็นยุคแห่งไม้

ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ!