เราจะมีวิธีจัดการกับ ‘ความเกลียด’ ในตัวเราอย่างไร

 

อยากให้ผมลองตอบคำถามอะไร ทิ้งคำถามต่างๆ ไว้ได้ ที่นี่ เลยนะครับ

ผมจะค่อยๆ ทยอยตอบครับ

 

Q : พี่หนุ่มมีวิธีการจัดการกับความรู้สึกเกลียดของตัวเองยังไงบ้างคะ

อย่างเช่น เวลาที่มีคนมาพูดคำพูดที่ทำให้เรารู้สึกแย่ แล้วเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องพูดแบบนั้นทั้งที่มันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลยเพราะเรื่องนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาด้วยซ้ำ มันทำให้หนูเกลียดเขาไปเลย แต่ที่ไม่ชอบมากกว่าก็คือความรู้สึกเกลียดที่ยังวนเวียนอยู่ทั้งที่มันก็ผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้ว ไม่รู้ว่าพี่หนุ่มเคยเป็นแบบนี้ไหม ถ้าเป็นแล้วจะแก้ไขยังไงดีคะ บางทีเราลืมไปแล้ว แต่จู่ๆ มันก็ย้อนกลับมาอีก รบกวนด้วยค่ะ

 

A : ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ ที่พอเรารู้สึก ‘เกลียด’ ใครหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วจู่ๆ จะมาบอกว่าให้ต้องรัก (หรืออย่างน้อยก็ ‘เฉยๆ’) กับคนนั้นหรือสิ่งนั้น

ปกติแล้ว เวลาเรารู้สึก ‘เกลียด’ เราจะแผ่พุ่งพลังงานแห่งความเกลียดนั้นออกไปสู่ ‘เป้าหมาย’ ซึ่งก็คือคนคนนั้นหรือสิ่งสิ่งนั้นใช่ไหมครับ พลังงานที่เราใช้ไปกับความเกลียดนั้น ยิ่งเกลียดก็ยิ่งมีมาก ยิ่งเกลียดก็ยิ่งรุนแรง และยิ่งรุนแรง – ที่สุดก็จะยิ่งทำให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อย

เวลาเกลียด เวลาโกรธ คือช่วงเวลาที่ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาหลายอย่างเกิดขึ้น ต่อมหมวกไตทำงานหนัก อะดรีนาลินฉีดพุ่ง โน่นนั่นนี่ ซึ่งจะทำให้เรามีอาการหลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นแรงขึ้น หน้าแดง ความดันโลหิตสูง ฯลฯ พวกนี้คือการที่ร่างกายใช้พลังงานทั้งนั้น แต่เป็นการใช้พลังงานเพื่อ ‘เตรียมตัว’ จะต่อสู้หรือหนีจากสิ่งที่เราเกลียด ซึ่งเป็นกลไกวิวัฒนาการที่อยู่ในสมองดึกดำบรรพ์ของเรา

ความเกลียดจึงไม่ใช่เรื่องผิดร้ายอะไร ความเกลียด ความกลัว และความโกรธ เป็นกลไกที่ทำให้เราอยู่รอดในแง่ของวิวัฒนาการมาด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้เราเอาพลังงานที่ซ่อนอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ กลายเป็นพลังงานสำรองเพื่อต่อสู้ดิ้นรนกับศัตรู

พลังงานเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันไม่ได้หายไปง่ายๆ นะครับ อะดรีนาลินที่ไม่ได้ใช้ โมเลกุลพลังงานอย่าง ATP ที่ถูกสร้างขึ้นก็ยังวนเวียนอยู่ในร่างกายของเรา นั่นแหละคืออาการ ‘วนเวียน’ ของความรู้สึกเกลียดที่ว่า

เทคนิคหนึ่งในการรับมือกับความเกลียดที่ว่า ก็คือแทนที่จะเอาพลังงานนั้นแผ่พลุ่งออกไป ‘โกรธ’ หรือ ‘ตำหนิ’ คนที่เราเกลียด เราลองเปลี่ยนมา channel พลังงานนั้นเข้าสู่ตัวเราเองบ้างดีไหม ด้วยการพิจารณาดูพลังงานความเกลียดเหล่านั้น ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร มีกลไกอะไรในเรื่องเหล่านั้นบ้างที่ทำให้เราเกลียด

ถ้าเราเกลียดคนที่ชอบว่าเรา นินทาเรา ลองดูว่าทำไมเราถึงเกลียดคำนินทานั้น มีอะไรทำให้เรารู้สึกขัดเคืองไม่พอใจกับสิ่งนั้น ถ้าเราเกลียดคนที่มาแอบชอบเราแล้วคอยตามตื๊อ ลองดูว่าเพราะอะไรเขาถึงทำให้เราเกลียด

แน่นอน – นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราคุ้นเคยกับการแผ่พุ่งพลังงานความโกรธออกไปหาคนอื่นมาตลอด ไม่ใช่แค่ตลอดชีวิตของเราเท่านั้น แต่ตลอดวิวัฒนาการของสายพันธุ์มนุษย์ อันเป็นกลไกเอาชีวิตรอดอย่างหนึ่ง

วิธีคิดแบบนี้คือการใช้พลังงานก้อนเดียวกัน หวนกลับมาทำความเข้าใจตัวเอง ซึ่งแน่นอน ดังนั้น แทนที่ความเกลียดจะส่งผลเชิงลบ มันจะกลายเป็นผลลัพธ์เชิงบวก คือทำให้เรารู้ว่าเราเกลียดเรื่องนี้หรือคนนี้เพราะอะไร และเมื่อเรารู้แล้ว ก็เหมือนมีภูมิคุ้มกันต่อไปในอนาคต คือเมื่อเกิดเรื่องทำนองเดียวกันอีก เราจะรู้ทันตัวเองเลยว่า – อ๋อ, อีกเดี๋ยวเราจะเกลียดจะโกรธแล้วนะ อะดรีนาลินกำลังจะหลั่งแล้วนะ หัวใจเรากำลังเต้นแรงแล้วนะ ฯลฯ

แต่เมื่อรู้ทันแล้ว ที่สุดเราก็จะโกรธน้อยลง เกลียดน้อยลง ซึ่งหากฝึกไปเรื่อยๆ ในทุกๆ เรื่อง ผลลัพธ์สุดท้ายก็จะกลายเป็นว่าเราอาจยังโกรธเกลียดอยู่ก็ได้ แต่เรารับรู้ความโกรธเกลียดนั้น แล้วมันก็จะคลายตัวลงได้โดยอัตโนมัติ

ความเกลียดก็เหมือนคลื่นนั่นแหละครับ ถ้ามันไม่ได้รับพลังงานเพิ่มเติม มันก็จะค่อยๆ ราบเรียบลงทีละน้อย