คุณคิดว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าจู่ๆ เราก็ปิดไฟเขียวไฟแดงในสี่แยกที่การจราจรเนืองแน่นที่สุดของกรุงเทพฯ
นรกสิครับ!
เรื่องนี้นึกภาพออกเลย ว่ารถคงติดกันยาวเหยียดแสนสาหัส รถคงไม่ได้ขยับไปไหนแน่ๆ และที่สุด กรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นอัมพาตอย่างถาวร
แต่เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงๆ นะครับ ทว่าไม่ใช่กรุงเทพฯ เป็นที่กรุงอัมสเตอร์ดัม กับแยกไฟแดงที่การจราจรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองแห่งนั้น คือแยก Alexanderplein ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางเมือง และมีรถรางผ่านถึงสามสาย
คุณอาจจะสงสัยว่า – อ้าว! ไฟแดงเสียเหรอ เสียก็ซ่อมสิ ไม่เห็นต้องเอามาเล่าให้ฟังเลย
ไม่ครับ ไม่ใช่ไฟแดงเสีย แต่ว่านี่เป็น ‘การทดลอง’ ที่ชาวเมืองทั้งหลายไม่เคยรู้มาก่อนนะครับ แต่ว่าทางการอัมสเตอร์ดัมวางแผนกันมานานถึงแปดเดือน ก่อนจะลงมือทำจริงๆ
หลายคนคงพอรู้อยู่ว่า ในอัมสเตอร์ดัมนั้น การเดินทางในใจกลางเมืองเกือบ 70% เป็นไปโดยการใช้จักรยาน และมีความต้องการ ‘พื้นที่’ สำหรับจักรยานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น นักออกแบบการจราจร (เขามีตำแหน่งนี้กันจริงๆ นะครับ เรียกว่า Traffic Designers) จึงต้องคิดหาวิธีเดินทางที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการนี้ โดยได้นำวิธีการหลายอย่างมาใช้ เช่น การเปลี่ยนจังหวะไฟเขียวไฟแดง การลดสปีดลิมิตของรถยนต์ลง การกำจัดอุปสรรคต่างๆ ของจักรยาน เพื่อให้เมืองทั้งเมืองมีถนนที่รองรับจักรยานได้ คือเรียกว่าเป็น Bicycle Streets กันแบบเต็มตัว
การ ‘ปิดไฟจราจร’ ที่แยก Alexanderplein ที่ว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนใหญ่ (Larger Mobility Strategy) ทั่วเมือง ที่จะทำให้ทั้งผู้ใช้จักรยานและคนเดินถนนสะดวกขึ้น โดยงานนี้เป็นการเสนอขึ้นมาของแผนกที่ดูแลเรื่องจักรยาน เพื่อจะลองหาวิธีใช้พื้นที่ร่วมกัน เนื่องจากพื้นที่สาธารณะในเมืองของอัมสเตอร์ดัมนั้นมีอยู่จำกัด ดังนั้นจึงต้องคิดให้ถี่ถ้วนรอบคอบ และหากลวิธีที่ทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยได้มีการหารือและประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่กว่าจะเรียบร้อยได้ ก็ใช้เวลานานถึงแปดเดือน
ก่อนการปิดไฟ มีการพูดคุยกับผู้ใช้จักรยานในตอนเช้าและเย็นราว 200 คน พบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าจะต้องปั่นป่วนวุ่นวายแน่ๆ เนื่องจากไม่มีไฟจราจรมาคอยกำกับ หนึ่งในสามบอกว่าไฟจราจรเป็นสิ่งจำเป็น มีเพียง 5% เท่านั้นที่บอกว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้
เขามีการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักปั่นก่อนด้วยนะครับ โดยบอกว่าเมื่อมาถึงตรงไฟจราจร นักปั่นทั้งหลายก็จะหยุด และรอคอยให้ไฟเขียว เพราะฉะนั้น ทุกอย่างในร่างกายก็จะโฟกัสไปที่ไฟ ศีรษะและตาจะไม่ขยับเคลื่อน ร่างกายตึงเขม็ง พุ่งเป้าไปด้านหน้า ถ้าจะมีการขยับตัวก็แค่ดูโทรศัพท์ ปรับกระดิ่งจักรยานหรือที่ถีบเท่านั้น
แต่เมื่อมีการปิดไฟจราจรแล้ว เขาพบว่าพฤติกรรมของนักปั่นเปลี่ยนแปลงไปมาก ส่วนใหญ่เวลามาถึงไฟแดง ทุกคนก็จะชะลอรถให้ช้าลง แต่ท่ีสำคัญก็คือ มีการ ‘สื่อสาร’ ระหว่างนักปั่นและผู้ใช้รถโดยใช้ดวงตา การมอง การแสดงออก และเสียง มีการ ‘ต่อรอง’ เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ต่อรองเพราะเกิดแรงเสียดทานหรือปะทะกันนะครับ มันทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องสัมพันธ์กันในฐานะมนุษย์มากขึ้น
เขาบอกว่า เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ต่อรองด้วยท่าทาง’ (Negotiation in Motion) มากขึ้น และทุกคนก็รับผิดชอบตัวเองกันมากขึ้นด้วย แม้ในระยะแรกจะมีอาการคล้ายๆ ขัดเขินอยู่บ้าง แต่ไม่นานนักทุกอย่างก็เป็นไปโดยธรรมชาติ
ในไม่ถึงสองสัปดาห์ ผู้ใช้รถใช้ถนนก็เริ่มคุ้นชินกับการไม่มีไฟจราจร โครงการนี้ประสบความสำเร็จเอามากๆ จนในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ก็สามารถย้ายไฟจราจรออกไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมีไฟจราจรอีกต่อไป และเกิดการออกแบบพื้นที่บริเวณ Alexanderplein ใหม่ รวมทั้งจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในที่อื่นๆ ทั่วเมืองด้วย
รองผู้ว่าฯ (Vice Mayor) อย่าง Pieter Litjens บอกว่าโครงการนี้แดงให้เห็นว่า การควบคุมที่น้อยลง (Less Regulation) สามารถนำไปสู่ความรับผิดชอบและความตื่นตัวของผู้ใช้รถได้
ทั้งหมดนี้ไม่ได้กำลังจะบอกคุณนะครับ ว่าเราต้องทำตามอัมสเตอร์ดัม เพราะในแต่ละเมืองก็มีปัญหาเฉพาะที่แตกต่างกันไป เพียงแต่อยากให้คุณได้รับรู้เท่านั้นเองครับว่ายังมีเมืองอีกแห่งหนึ่งในโลกที่แก้ปัญหาด้วยวิธีแบบนี้
วิธีที่เราคิดไม่ถึง