สโคนหรือสคอน : ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เรื่องร้าวฉานของคนอังกฤษ

1

ปัญหาร้าวฉานในหมู่คนอังกฤษอย่างหนึ่งซึ่งอาจฟังดูไม่น่าเป็นปัญหาสักเท่าไหร่สำหรับคนชาติอื่น ก็คือคำว่า scone นั้น ควรอ่านออกเสียงว่า ‘สโคน’ (สโกน) หรือ ‘สคอน’ (สกอน)

เรื่องนี้เป็นปัญหากันมานับร้อยปีแล้วนะครับ เพราะกระทั่งในหนังสือปี 1913 ก็เคยมีคนเขียนบทกวีเอาไว้ว่า

 

I asked the maid in dulcet tone

To order me a buttered scone;

The silly girl has been and gone

And ordered me a buttered scone.

 

บทกวีนี้แปลเป็นไทยไม่ได้เด็ดขาด เพราะมันคือการ ‘เล่นคำ’ ระหว่างคำว่า tone และ gone กับคำว่า scone ซึ่งบอกชัดเจนว่าในอังกฤษนั้น มีคนเรียก scone อย่างน้อยสองแบบ คือสโคนกับสคอน

และทั้งสองแบบนี้ ต่างฝ่ายต่างก็บอกว่าตัวเองถูก!

 

2

สโคน (เรียกอย่างนี้ไปก่อนแล้วกันนะครับ) เดิมทีเดียวจะมีลักษณะกลมและค่อนข้างแบน แต่ในปัจจุบัน สโคนปรากฏตัวในหลายรูปลักษณ์ เช่น อาจมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม หรือเป็นรูปกลมทรงสูง

ทุกวันนี้ ใครๆ ก็รู้จักสโคน แต่คำถามที่ยังค้างคาใจกันอยู่ก็คือ แล้วเราควรออกเสียงเรียกสโคนว่าอะไรดี

สโคน – หรือสคอน

บางคนบอกว่าต้องเรียกสคอนสิ เพราะว่าเป็นวิธีออกเสียงที่เก๋ไก๋กว่า แม้แต่ในหมู่คนอังกฤษเองก็คิดว่านี่เป็นวิธีพูดที่ posh กว่า และนิยมเรียกกันในแวดวงอาฟเตอร์นูนทีทั้งหลาย แต่กลุ่มท่ี่เรียกสโคนว่าสโคน บอกว่านี่คือวิธีออกเสียงคำที่มีตรรกะมากกว่า เพราะมันเป็นไปตามหลักการออกเสียงในภาษาอังกฤษ cone ก็คือ ‘โคน’ เพียงแต่ใส่ตัว s เข้าไปข้างหน้า ก็ต้องออกเสียงว่า ‘สโคน’

บางคนบอกว่า การออกเสียงสโคนที่ต่างกันนี้ แสดงให้เห็นถึง ‘ชนช้ัน’ ที่ต่างกัน

นักเขียนอังกฤษอย่าง แนนซี่ มิตฟอร์ด (Nancy Mitford) เคยบอกว่า คนอังกฤษนั้นแม้จะเป็นประชาธิปไตย ดูเหมือนสมาทานความเท่าเทียมเสมอภาคกัน แต่เอาเข้าจริงกลับแบ่งตัวเองออกเป็นสองคลานอย่างชัดเจน นั่นคือคลาสที่เรียกว่า U กับ non-U

U หมายถึง Upper-class ส่วน non-U ย่อมหมายถึง Non-upper-Class ซึ่งคนสองกลุ่มนี้ จะมีวิธีพูดหรือวิธีเลือกใช้คำใช้เสียง หรือมีวิธีปฏิบัติตัวที่แตกต่างกัน 

ตัวอย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการ ‘ขอโทษ’ (เช่นเวลาจะถามทางแล้วต้องพูดว่า – ขอโทษนะครับ ห้องน้ำไปทางไหน หรือบอกว่า ขอโทษนะครับ เมื่อพูดว่าอะไร ฯลฯ) ถ้าเป็นชนชั้น U จะใช้คำว่า Sorry? หรือ Pardon แต่ถ้าเป็นชนชั้น non-U จะใช้คำว่า What? หรือถ้าเป็นชนชั้นล่างไปเลยจะไม่ออกเสียงตัว t กลายเป็น Wha?

อีกคำหนึ่งที่แบ่งชัดเจนก็คือคำว่าห้องน้ำหรือห้องส้วม (Toilet) นี่แหละครับ โดยถ้าเป็นกลุ่ม U จะใช้คำว่า lavatory (โดยออกเสียงว่า lavuhtry เน้นที่พยางค์แรก) แต่ถ้าเป็น non-U อาจมีคำให้ใช้หลายคำแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีคำว่า ‘ห้องนั่งเล่น’ ที่กลุ่ม U อาจใช้ว่า Drawing Room หรือ Sitting Room (ซึ่งในห้องแบบนี้ก็จะมี ‘โซฟา’ อยู่) แต่ถ้าเป็นกลุ่ม non-U จะเรียกว่า Lounge หรือ Living Room โดยมักจะเรียกโซฟาว่า Settees ด้วย

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงนัยทางชนชั้นเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยากที่ ‘คนนอก’ จะรู้ สังเกตเห็น หรือเข้าใจ แถมยังเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอีกต่างหาก และหลายคนก็คิดว่า ‘สโคน’ ก็คงเข้าข่ายนี้ คือเป็นเรื่องของชนชั้น

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีการสำรวจมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งได้จัดทำ The Great Scone Map หรือ ‘แผนที่สโคน’ (สคอนก็ได้เอ้า!) ขึ้นมา เขาพบว่าการออกเสียงว่าสโคนหรือสคอนนั้น เป็นเรื่องของคลาสน้อยกว่าถิ่นที่อยู่ของผู้พูด โดยในแผนที่ที่ว่านี้ พบว่าคนที่ออกเสียงว่า ‘สคอน’ มักจะเป็นคนที่มีรากมาจากสก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ หรืออังกฤษ (คืออิงแลนด์) ตอนเหนือ ในขณะที่คนที่ออกเสียงว่า ‘สโคน’ มักจะอยู่ในไอร์แลนด์ทางใต้ และตอนกลางๆ ของเกาะอังกฤษ ในขณะที่ส่วนที่เหลือของประเทศ จะมีการออกเสียงสองแบบนี้ผสมปนเปกันไป

ที่เก๋ไปกว่านั้นก็คือ มีคนบางกลุ่มที่ออกเสียงว่า ‘สคูน’ (Skoon) ด้วยอีกต่างหาก!

นอกจากเคมบริดจ์แล้ว ยังมีโพลของ YouGov ที่ทำสำรวจคนอังกฤษ (และคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ) พบว่ามีคนอังกฤษราว 51% ที่ออกเสียงว่า ‘สคอน’ ในขณะที่ 42% ออกเสียงว่า ‘สโคน’ โดยกลุ่มที่ออกเสียงว่าสคอนนั้น สอดคล้องกับผลการสำรวจของเคมบริดจ์ คืออยู่ในอังกฤษตอนเหนือและในสก็อตแลนด์ โดยกลุ่มที่อยู่ทางตอนกลางของเกาะอังกฤษ (ซึ่งรวมไปถึงคนที่อยู่ในลอนดอนด้วย) จะออกเสียงว่าสโคน

รายงานของเคมบริดจ์บอกว่าเรื่องคลาสไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการออกเสียง แต่โพลของ YouGov บอกว่าเกี่ยวสิ – เกี่ยวแน่ๆ เลย

YouGov แบ่งระดับของคนออกเป็น A B C1 C2 แล้วก็ D E เขาบอกว่ากลุ่มที่อยู่ในระดับบนๆ คือ A B และ C1 จะออกเสียงว่า ‘สคอน’ 55% (ออกเสียงสโคน 40%) แต่ถ้าเป็นคนในกลุ่ม C2 D และ WE จะออกเสียงว่า ‘สโคน’ มากถึง 45% (ออกเสียงสคอนแค่ 26%)

นอกจากนี้ YouGov ยังถามเรื่องของการทา Clotted Cream กับแยมด้วย (อันนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานว่าแบบไหน ‘ถูก’ กว่า) ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่จะทาแยมก่อน (61%) และมีแค่ 21% ที่ทาครีมก่อน

 

3

ถ้าสรุปในสรุป เราจะเห็นได้ว่ามันไม่มีข้อสรุป

การออกเสียงสโคนหรือสคอน ก็คล้ายการออกเสียงคำว่า GIF นั่นแหละครับ

เขาบอกว่า คนยุโรปชอบออกเสียง GIF ว่า ‘กิฟ’ มากที่สุด รองลงมาคือคนอเมริกัน ส่วนคนเอเชียจะออกเสียงว่ากิฟ จิฟ หรือออกเสียงเรียงตัวไปเลยว่า จีไอเอฟ มากพอๆ กัน

คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ อะไรคือความจำเป็นในการบอกว่าการออกเสียงอย่างหนึ่ง ‘ถูกต้อง’ มากกว่าการออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง เราสามารถปล่อยให้คนอื่นออกเสียงในแบบที่พวกเขาคุ้นเคยหรือต้องการได้ไหม แต่ถ้าได้, ก็แล้วคำว่า ‘มาตรฐาน’ คืออะไรกันเล่า

ข้อสรุปในข้อสรุปก็คือไม่มีข้อสรุป

นี่คือข้อสรุปไม่ได้สรุปกับเราเฉพาะเรื่องสโคนสคอนหรือกิฟกับจิฟเท่านั้น

แต่เป็นข้อสรุปไร้ข้อสรุปที่กินความเลยไกลไปถึงพื้นที่ที่เปิดกว้างหรือคับแคบในหัวใจของเราได้อีกหลายพื้นที่ด้วย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s