ชีวิตกับการทำความเข้าใจชีวิต : เรื่องของ โอลีฟ คิตเตอริดจ์ – เมื่อชีวิตที่ยังเหลืออยู่มีน้อยกว่าชีวิตที่ผ่านมาแล้ว

ผมคิดว่า สิ่งที่ยากที่สุดของชีวิต ก็คือการทำความเข้าใจมัน

บ่ายวันหนึ่ง ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากชั้นหนังสือในร้านหนังสือเล็กๆแห่งหนึ่ง หน้าปกสะดุดตามาก แม้เป็นเพียงหน้าปกเรียบง่าย มีตัวอักษรใหญ่โตเขียนชื่อของใครคนหนึ่งที่ผมไม่รู้จัก

ชื่อ…และนามสกุล-โอลิฟ คิตเตอร์ริดจ์

เธอเป็นใครกันนะ แวบแรก ผมคิดว่าโอลีฟน่าจะเป็นหญิงสาวร่างบอบบาง หรือเป็นเพียงเด็กสาวในวัยแรกผลิ ผู้ไม่เดียงสาอะไรกับชีวิต และเธอคงกำลังจะผจญภัยไปกับชีวิตข้างหน้า ชีวิตที่คลี่บานออกมาให้เธอได้สัมผัส

ก็ไม่ใช่ชีวิตของเด็กสาวหรอกหรือ ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักเขียน ใครๆก็เขียนถึงชีวิตของคนหนุ่มสาวกันทั้งนั้น ด้วยว่าพวกเขาและเธอนั้นเต็มไปด้วยพลัง และมีชีวิตที่รอคอยอยู่ข้างหน้ามากมายราวกับไม่รู้จักจบสิ้น พวกเขาอาจพบเจออะไรก็ได้ และเราก็คาดหมายให้พวกเขาพบเจออะไรสักอย่างที่สดใหม่ ไม่ใช่สิ่งซ้ำซากราวกับย่ำเท้าอยู่กับที่,

เหมือนกับชีวิตของเรา

เราคาดหมายให้คนหนุ่มสาวเดินทางไปไกลโพ้นสุดขอบฟ้า เพื่อเป็นตัวแทนของเราผู้เลือกแล้วที่จะอยู่เฉยๆ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งเคยคุ้นและสบายอกสบายใจ ไม่ใช่เพราะมันเป็นที่ที่น่าอยู่อย่างแท้จริงหรอก แต่เพียงเพราะเราอยู่ตรงนี้มาเนิ่นนาน ทำสิ่งเดิมๆนี้มาเนิ่นนาน และการทำสิ่งซ้ำเดิมนั้นก็ทำให้เราสบายใจ เพราะเราคิดว่ามันปลอดภัย

เรื่องราวในนิยายทั้งหลาย จึงเป็นเรื่องราวของคนแก่หรือคนวัยกลางคนน้อยกว่าเรื่องราวของคนหนุ่มสาว,

น้อยกว่ามากทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเห็นชื่อโอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์ ผมจึงคิดว่านี่น่าจะเป็นอีกชื่อหนึ่งของหญิงสาว เหมือนเจน แอร์, เหมือนจูเลียต คาปูเล็ต หรืออย่างน้อยๆก็เหมือนกับสการ์เล็ต โอฮาร่า

ใครจะคิดเล่าว่า โอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์ จะเป็นชื่อของครูวัยกลางคนที่อ้วน ร่างใหญ่ และอารมณ์ร้าย

เราจะอ่านเรื่องราวของที่อัปลักษณ์และร้ายกาจไปเพื่ออะไรกันหนอ

แต่กระนั้น เมื่อได้ลงมืออ่าน ผมพบว่าโอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์ กลายเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ต้องหยิบมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยว่าเรื่องราวที่ถักทอกันอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ช่างเหมือนการปะผ้าควิลท์แบบอเมริกัน นั่นคือหยิบฉวยเอาเรื่องเล่าของผู้คนธรรมดาสามัญในเมืองแห่งหนึ่งริมชายฝั่งของรัฐเมน ที่ซึ่งหนาวยะเยียบ และสายลมก็มักพัดมากรีดดวงตาให้ร่ำไห้อยู่เสมอ มองเผินๆ ในสีเทาทึมของอากาศ ในสายหมอกที่คลุ้มคลุ้งนั้น ไม่น่าจะมีสีสันของชีวิตใดๆอยู่มากนัก แต่ลึกลงไปในชุมชนเล็กๆแห่งนั้น ที่ซึ่งโอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์ มีชีวิตอยู่ กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ยากจะมองเห็น เว้นแต่สายตาของนักเขียนผู้คมกริบ และกรีดเฉือนลึกเข้าไปในชีวิตของผู้คนจนถึงที่สุด ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วนั้น ก็ย่อมไม่ใช่ชีวิตของผู้คนแห่งรัฐเมนเพียงที่เดียว ทว่าคือชีวิตอันเป็นสากลของพวกเราทุกๆคน

ชีวิตที่เราไม่อาจเข้าใจ

วิธีดำเนินเรื่องนั้นแสนแปลก ผมไม่อาจเรียกได้ว่านี่เป็นนิยายที่มีพล็อตร้อยเรียงอย่างแน่นหนา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจเรียกได้ว่านี่คือรวมเรื่องสั้นที่แต่ละเรื่องมีเอกเทศต่อกัน เพราะเรื่องราวทั้งหมดนั้น แม้จะอยู่ภายใต้ชื่อโอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์ ทว่าตัวโอลีฟเองก็หาได้ปรากฏตัวให้เราเห็นได้แจ่มชัดเสมอไปในทุกบทตอน บางครั้งเธอปรากฏเพียงเงาร่างอยู่ในงานเลี้ยง ในคอนเสิร์ตของเมือง ในโบสถ์ แต่บางคราวผู้เขียนก็ฉายไฟไปที่ตัวเธอ ให้เธอได้โลดแล่นบอกเล่าเรื่องราวของเธอให้เราเห็นอย่างโดดเด่น แม้ว่าจะแฝงเร้นด้วยความคลุมเครือหลายอย่าง

เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นไล่หลังอีกเรื่องหนึ่งราวกับผืนคลื่นในทะเล ครูสอนคณิตศาสตร์เกรดเจ็ดคนนี้แลดูกราดเกรี้ยวอยู่เสมอ เธอเป็นภรรยาของเภสัชกรร้านขายยา และเป็นผู้เชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมด 13 เรื่องเข้าด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องที่โยงกันอย่างแจ่มแจ้งขาดเสน่ห์ ทว่าคลุมเครือ และฉายภาพของโอลีฟ ตั้งแต่วัยกลางคนกระทั่งถึงวัยชรา มีทั้งเรื่องพื้นๆในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องน่าตื่นเต้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในชีวิตของคนเรา

เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในงานศพของชายคนหนึ่ง ที่ซึ่งภรรยาของเขาได้เรียนรู้ถึงความไม่ซื่อตรงต่อชีวิตคู่ของเขา อีกเรื่องหนึ่งเป็นการถูกจับเป็นตัวประกันในโรงพยาบาล ที่ซึ่งโอลีฟเกิดปวดปัสสาวะมากจนต้องแวะไป และเพียงแวบเดียว ชีวิตของเธอกับสามีก็ต้องเปลี่ยนไป ยังไม่นับรวมเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสามีของโอลีฟกับเด็กสาวลูกจ้างในร้าน ความเสียใจที่ยากแสดงออกเมื่อเพื่อนครูของเธอเสียชีวิต หรือความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างเธอกับลูกชายและลูกสะใภ้

ทั้งหมดนี้เปราะบาง แสนสวย คลุมเครือ มองไม่เห็นอะไรชัดเจน บางอย่างแลดูคล้ายโรแมนติกเหมือนดอกกุหลาบในสายลมฤดูร้อน บางอย่างแลดูคล้ายกราดเกรี้ยวเหมือนพายุในคืนหนาว แต่ไม่หรอก, ไม่มีอะไรเห็นได้ชัดเจนขนาดนั้น โดยเฉพาะในชุมชนเล็กๆ ที่ซึ่งทุกความสัมพันธ์สานทอกันจนเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรับรู้ถึงประสบการณ์ชีวิตที่ลุ่มลึกและกว้างขวางของผู้คน แต่ละคนมีปัญหาในชีวิตของตัวเอง ทว่าแต่ละคนก็มีความสุขในแบบของตัวเองได้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าความสุขนั้นจะถูกมองจากบางคนว่าเป็นความทุกข์ และบางความทุกข์ก็ถูกมองว่าเป็นความสุขก็ตาม

ดูเผินๆ โอลีฟไม่ใช่คนน่ารัก เธอเป็นตัวร้ายของหลายคน แต่เมื่อเรื่องราวคลี่ไป ความซับซ้อนของเธอก็ค่อยๆปรากฎขึ้น เธออาจชิงชังลูกสะใภ้ ไม่พอใจลูกชาย แต่เธอก็รักเขา อาจรักมากกว่าที่เธอคิดและแสดงออก เธออาจปากเสียกับสามีและไม่ยอมทำตามความต้องการหลายอย่างของเขา เช่นการไปโบสถ์ด้วยกัน แต่แน่นอน เธอรักเขา เพียงแต่เธอไม่อาจแสดงความรักนั้นออกมาได้นั้น

วันหนึ่ง สามีของเธอลงจากรถเพื่อไปซื้อของ จู่ๆเขาก็ล้มลง ถัดจากวันนั้น เขาก็ไม่เหมือนเดิมอีก ความชราและอาการทางสมองทำให้เขาจากไปจากเธอ แม้ไม่ใช่ทางกาย แต่เขาก็ไม่ใช่คนเดิมอีก โอลีฟดูแลเขาเหมือนไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร เธอไม่มีลูกชายอยู่ใกล้ๆ เพราะเขาย้ายไปอยู่ห่างไกลที่อีกชายฝั่งหนึ่งของทวีป เธอยังอยู่ตรงนั้น ทำทุกอย่างคล้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เธอมองดูดอกทิวลิป และคิดถึงการปลูกพวกมันเหมือนที่เคยปลูก ความพลุ่งพล่านที่อยู่ภายในนั้นมองไม่เห็นจากภายนอก เธอยังเป็นครูที่ครัดเคร่งและปากร้าย เพราะชีวิตสอนให้เธอเป็นอย่างนั้น

ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือว่าด้วยเรื่องราวของคนที่ ‘ชีวิตที่ยังเหลืออยู่มีน้อยกว่าชีวิตที่ผ่านมาแล้ว’ เท่าไหร่ และหลายเล่มที่เป็นชีวประวัติก็มักผ่านการตกแต่งชีวิตให้เลิศหรูเสียจนชีวิตนั้นไม่ใช่ชีวิต แต่เรื่องแต่งอย่าง โอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์ เรื่องราวของคนที่อาจไม่มีตัวตนอยู่จริงเลยบนโลกใบนี้ กลับทำให้ฉันรู้สึกถึงความหมายอันเลือนรางของชีวิตได้มากยิ่งกว่าการมีชีวิตอยู่จริงๆเสียอีก

ความรื่นรมย์อย่างหนึ่งในการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือการค่อยๆเลาะไปตามตะเข็บของผ้าควิลท์ มองดูรายละเอียดในเศษผ้าบางผืนเหล่านั้น ลวดลายและร่องรอยการใช้งาน ความขาดวิ่นที่บ่งบอกว่าในอดีต ผ้าแต่ละผืนเคยสวยงามมากขนาดไหน เปล่าหรอก, นั่นไม่ได้ทำให้ฉันเศร้า แต่ทำให้ฉันต้องนิ่งสงบ และศิโรราบให้กับความยิ่งใหญ่และงดงามในการผันผ่านของกาลเวลา

ชีวิตของเราก็เหมือนชีวิตของโอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์

เราไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร


โอลีฟ คิตเตอร์ริดจ์ ตีพิมพ์ในปี 2008 เป็นรวมเรื่องราวที่เขียนขึ้นโดย Elizabeth Strout นักเขียนอเมริกัน เรื่องทั้งหมดมี 13 เรื่อง เชื่อมโยงต่อกัน เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง ครอบครัว ญาติมิตร และคนรู้จักในเมืองเล็กๆชื่อครอสบี บนชายฝั่งรัฐเมน นี่คือหนังสือที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 2009 ที่คุณจะอยากอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า