1
เคยเห็นผู้ชายประเภทหนึ่งไหมครับ
ผู้ชายประเภทที่ว่า จะชอบ ‘ขี้โม้’ คุยอวดโอ่เสมือนรู้ดีไปเสียทุกเรื่อง
“โฮ้ย! มันไม่ใช่ยังงั้นหรอกคุณ มันต้องอย่างนี้ต่างหาก ผมน่ะเคยทำ ผมรู้ดี”
น่าสนใจว่า ผู้ชายประเภททนี้มักไม่ใช่คนรุ่นใหม่ แต่มักเป็นคนรุ่นหนึ่งที่ยังไม่ตระหนักว่า ข้อมูลข่าวสารต่างก มันเยอะแยะมากมายจนไม่สามารถมีใคร ‘รู้ดีทุกเรื่อง’ ได้
ยิ่งถ้าคุณมีโอกาสไปนั่งอยู่ในวงของ ‘ชายผู้รู้ดีทุกเรื่อง’ หลายๆ คน ที่มานั่งรวมตัวกันด้วยแล้ว ขอบอกว่าสนุกเหลือเกินที่ได้เห็นการเกทับบลัฟแหลกโดยคนที่พยายาม ‘อวดรู้’ ที่ตัวเองมีใส่กัน โดยบอกว่าคนอื่นผิด และ ‘ผม’ ถูกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ฝรั่งมีคำเรียกผู้ชายประเภทนี้ว่าเป็นพวก Manspaliner ซึ่งถ้าเป็นอากัปกิริยาในการคุยโม้เกทับ จะเรียกว่า Mansplaining
คำว่า Mansplaining เป็นคำประเภท ‘ผสมเอา’ (ฝรั่งเรียกว่า Portmanteau) คือเอาคำสองคำมารวมๆ กัน โดยคำนี้มาจากคำว่า Man กับคำว่า Splaining (ที่มาจาก Explaining อีกที)
แล้วความหมายของมันคืออะไร?
ความหมายของคำนี้อาจฟังดูเป็นการ ‘เหมารวม’ ทางเพศอยู่สักหน่อยนะครับ เพราะมันบ่งชี้ไปที่เพศชายโดยตรง ซึ่งถ้าดูจากคำแปลของสองคำที่เป็นราก ก็แปลได้ง่ายๆ ว่า – คำอธิบายของผู้ชาย’ แต่เอาเข้าจริง คำนี้ไม่ได้ ‘เหมารวม’ ถึงผู้ชายทุกคนที่ลุกขึ้นมาอธิบายอะไรต่อมิอะไรนะครับ ทว่าเป็น ‘วิธีอธิบาย’ ของผู้ชายประเภท ‘รู้ดีทุกเรื่อง’ นี่แหละ
ลิลี รอธแมน (Lily Rothman) จาก The Atlantic เคยให้นิยามคำนี้เอาไว้โดยตีความกว้างขวางขึ้นว่าหมายถึง ‘explaining without regard to the fact that the explainee knows more than the explainer, often done by a man to a woman.’
แปลได้ว่าหมายถึง ‘การอธิบายอะไรบางอย่างโดยไม่ตระหนักรู้ถึงความจริงที่ว่า ผู้ที่ได้รับคำอธิบายนั้นรู้มากกว่าผู้อธิบาย คนที่ทำสิ่งนี้มักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง’
ผมเชื่อว่า – ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อย่างน้อยคุณต้องเคยเจอผู้ชายประเภทนี้มาบ้างล่ะน่า อย่างน้อยๆ ก็คนนึง ก็คนที่มีรายการโทรทัศน์พูดคนเดียวเป็นเวลานานๆ คนนั้นยังไงล่ะครับ!
2
ที่จริง คำว่า Splain นี่ มีใช้กันมาในภาษาอังกฤษมากกว่า 200 ปีแล้วนะครับ เป็นคำแบบไม่เป็นทางการหรือการลดรูปเพื่อใช้ในการพูดคำว่า Explain นี่แหละครับ แต่การเอามารวมกับ Man จนกลายเป็น Mansplaining เข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นในราวปี 2008-2009 หลังจากมีบทความชื่อ Men Explain Things to Me ของ รีเบคคา โซลนิต (Rebecca Solnit) ตีพิมพ์ในลอสแองเจลิสไทม์ส์ ซึ่งเธอยังไม่ได้ใช้คำว่า Mansplaining นะครับ แต่อรรถธิบายความหมายของมันเอาไว้ในบทความนั้นเต็มที่
ถึงคำนี้จะเพิ่งเกิด ทว่า ‘วิธีคิด’ แบบ Mansplaining นั้นมีมานานแล้วนะครับ มีคนยกตัวอย่างงานเขียนของ ไลแมน แอบบอตต์ (Lyman Abbott) ซึ่งเป็นนักเทววิทยาชาวนิวอิงแลนด์ เขาเขียนอธิบายเอาไว้ตั้งแต่ปี 1903 โน่นแน่ะครับ ว่าเพราะอะไรผู้หญิงถึงไม่อยากออกเสียงเลือกตั้ง โดยอธิบายยาวเหยียดถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการของผู้หญิงทั้งหลายแหล่ในสังคมอเมริกัน
พูดง่ายๆ ก็คือ ‘รู้ดี’ กว่าตัวผู้หญิงเสียอีก!
หรือย้อนกลับไปถึง จอห์น อดัมส์ หนึ่งใน Founding Father ของอเมริกาดูก็ได้ ในปี 1776 ตอนนั้นอเมริกามีกฎหมายที่ระบุว่า ผู้ชายคือหัวหน้าครอบครัวตามกฎหมาย แต่อบิเกล – ภรรยาของเขา บอกเขาว่า ผู้ชายที่ควบคุมภรรยาได้อย่างเต็มที่นั้น มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงโหดร้ายกับภรรยา และบอกเขาด้วยว่า ผู้หญิงไม่ควรจะต้องมาเชื่อฟังกฎหมายที่ตัวเองไม่ได้มีสิทธิมีเสียงอะไรในการออก (เพราะตอนนั้นผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง)
จอห์น อดัมส์ จึงกระทำการ Mansplain แก่อบิเกลว่า ผู้ชายนั้น ‘รู้ดี’ กว่าผู้หญิงอยู่แล้ว แม้ว่าจะสามารถบังคับใช้ผู้หญิงได้เต็มที่ แต่ผู้ชายก็จะยุติธรรมและอ่อนหวาน ผู้ชายเป็นนายแค่ในนาม การที่จะยกเลิกกฎหมายนี้ จะทำให้ผู้ชายต้องตกเป็นเบี้ยล่างของกระโปรงซับใน ซึ่งถ้าจะยกเลิกกันจริงๆ เขาคิดว่าจอร์จ วอชิงตัน และวีรบุรุษผู้กล้าหาญคนอื่นๆ ก็คงไม่ยอม
หลายคนอาจคิดว่า Mansplaining เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแวดวงนักการเมืองหรือการต่อสู้ทางอำนาจเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว Mansplaining เกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง และที่จริงก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับผู้หญิงเท่านั้น ต่อให้เป็นผู้ชายกับผู้ชาย ก็เกิดอาการ Mansplaining ได้เหมือนกัน ถ้าผู้ชายคนหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า เช่นเป็นบอสกับลูกน้อง
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะบอสถูกฝึกมาชั่วชีวิตให้ต้องตัดสินชี้ถูกชี้ผิด และเขาย่อมต้องชี้ถูกมากกว่าชี้ผิด (ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้ก้าวมาถึงตำแหน่งบอสหรอกนะครับ) ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนๆ บอสก็ย่อมคุ้นชินกับการแสดงตัวว่า ‘รู้ดี’ ไปเสียทุกเรื่อง และดังนั้นจึงมักเป็นคนที่พูดมาก พูดเสียงดัง (เพื่อโน้มน้าวบังคับใจคนฟัง) และเป็นผู้ตัดสินในท้ายที่สุดเสมอ
โชคร้ายที่คนที่ครอบครองอำนาจในสังคมมาตลอดเวลานับพันปีคือผู้ชาย คำว่า Manspalining จึงมีนัยและรากของคำที่จำเพาะเจาะจงไปหาผู้ชายแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราจะเห็นว่าก็มีผู้หญิง (และคนเพศอื่นๆ อีกมาก) ที่มีอาการ ‘อวดรู้’ (หรือถึงขั้น ‘สู่รู้’ ได้เลย) โดยที่ตัวเองไม่ได้รู้จริง และที่น่าอายไปกว่านั้นก็คือไป ‘อวดรู้’ กับคนที่ ‘รู้จริง’ เสียด้วย เพียงแต่คนที่รู้จริงนั้นไม่มีอำนาจเท่า จึงไม่อาจแสดงความรู้จริงออกมาได้ เพราะอาจถูกมองว่ากำลัง ‘หักหน้า’ อยู่ ซึ่งก็คือการกำกับด้วยอำนาจของลำดับชั้นทางสังคมอีกทีหนึ่งนั่นเอง
3
ทุกวันนี้ คนเถียงกันว่าเราควรใช้คำว่า Mansplaining จริงไหม หรือใช้แล้วจะเป็นประโยชน์หรือเปล่า มันจะเป็นการ ‘เหยียด’ ในด้านกลับหรือเปล่า ที่สำคัญก็คือ มันจะไปเน้นย้ำความเชื่อแบบ ‘เหมารวม’ (อาจเรียกได้ว่าเป็น Gender Essentialism) คือคิดว่าใครเกิดมาเป็นเพศไหน ก็ต้องมีบุคลิกแบบนั้นแบบนี้หรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม คำนี้ก็ได้รับเลือกจากนิวยอร์คไทม์ส ให้เป็น Word of the Year ในปี 2010 ได้รับการเสนอให้เป็นคำที่สร้างสรรค์ที่สุดโดย American Dialect Society ในปี 2012 และพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ก็เก็บคำนี้ในปี 2014
มันจึงเป็นคำที่มี ‘ประวัติศาสตร์ทางเพศ’ ที่น่าสนใจไม่น้อย!