ช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรธุรกิจที่บริหารโดย ‘คนรุ่นใหม่’ หลายแห่งพร้อมๆกัน
หลายคนมักจะบอกว่า คนรุ่นใหม่ประมาณเจนวายนั้น เป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำงานหนักไม่เอาเบาไม่สู้ แต่สิ่งที่ได้พบมา ทำให้ไม่แน่ใจนักว่าคนเหล่านี้เป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า
สิ่งที่ได้พบมาก็คือ หลายคนที่รับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อแม่นั้น ได้ ‘สาง’ ระบบธุรกิจแบบเดิมที่เคยหนักหน่วงถ่วงอึ้ง เต็มไปด้วยกระบวนการขั้นตอนที่ล่าช้า เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตโนมัติ ใช้ ‘ความออนไลน์’ และ ‘ความดิจิตัล’ เข้ามาช่วย ทำให้แทบทุกงานที่ได้ติดต่อสื่อสารด้วย ลุล่วงไปด้วยดีแค่คลิกๆคุยๆกันผ่านอีเมล (หรือแม้กระทั่งการแชต) เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
เมื่อเจอการทำงานแบบนี้ ก็ทำให้นึกไปถึงการทำงานกับหน่วยงานราชการ ซึ่งหลายคนก็คงรู้ว่ามี ‘ลักษณะเฉพาะ’ อยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการที่ไหนก็ตาม มักจะมีอะไรบางอย่างคลับคล้ายคลับคลากับธุรกิจของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
แต่เป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ไม่มีลูกนะครับ
คือไม่มี ‘ลูก’ ที่จะมาสานต่อหรือสะสางความอึมครึมหนักหน่วงถ่วงระบบ แล้วใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ทุกสิ่งดำเนินไปในแบบที่ราบรื่นสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น
ระบบราชการนั้นถือกำเนิดมาด้วยเจตนาดี คือเจตนาจะให้เกิดการ ‘ตรวจสอบ’ กันและกันทุกขั้นทุกตอน แต่ด้วยความที่มันไม่เคยได้รับการปรับปรุงพัฒนาเลย ระบบที่อุ้ยอ้ายอ้วนเผละนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
ระบบราชการทุกวันนี้ จะเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ดูแล้วรู้เลยว่าออกแบบมาเพื่ออ้างการตรวจสอบ แต่กลับเอื้อให้ไม่เกิดการตรวจสอบอย่างที่สุด เพราะงุนงง ซับซ้อน จนคนทำงานทั้งหลายต้องเอาเนื้อสมองและสติปัญญาใช้ไปกับขั้นตอนกระบวนการที่วางหมากไว้หลายชั้นยิ่งกว่าเล่นหมากรุกกับอัลฟาโก-จนไม่เหลือสติปัญญาและอารมณ์เอาไว้ทำงานให้ดีๆ ได้เหมือนที่หน่วยงานเอกชนเขาเป็นกัน
ที่แย่กว่านั้นคือ หลายครั้งขั้นตอนที่ซับซ้อนทำให้เกิดปัญหาเชิงเทคนิค (technicality) แบบประหลาดๆ เช่น ต้องเวลาเขียนจดหมายต้องเคาะเว้นวรรคเท่านั้นเท่านี้ให้เป๊ะ หรือต้องมีสำเนาเอกสารไม่รู้จักกี่สำเนา แล้วทุกหน้าต้องมีการเซ็นชื่อกำกับทั้งหมด เพื่อให้รู้แน่ๆว่าเป็นไอ้คนนี้นะที่สั่งงานมา ไม่ใช่คนอื่น เวลาต้อง ‘รับผิดชอบ’ จะได้โยนกลับไปหาได้
แต่เป็นระบบแบบนี้นี่เอง ที่ในที่สุดก็ผลักคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่สีเทา หลายคนหาวิธีทำงานบ้าๆบอๆเหล่านี้ให้ลุล่วงไป โดยใช้วิธีบิดข้อบังคับหยุมหยิมต่างๆบางอย่าง จนกระทั่งบ่อยครั้งกับบางงาน จึงมีแต่คนที่พร้อม corrupt เท่านั้นที่จะทำ
ดังนั้น ระบบราชการที่คิดว่าออกแบบมาป้องกันการทุจริต จึงคล้ายๆคนสร้างบ้านป้องกันโจรด้วยการสร้างประตูหน้าไว้ยี่สิบชั้น ติดล็อกแน่นหนาเข้ารหัสซับซ้อนดูขึงขัง แล้วเก็บเพชรไว้ในห้องด้านหลังสุด โดยลืม (หรือไม่ก็จงใจ) ไปว่า โจรสามารถเปิดประตูหลังกริ๊กเดียวเข้ามาได้ง่ายมาก และโจรที่ฉลาดก็ล้วนแต่เข้าทางประตูหลังทั้งนั้น
ระบบแบบนี้จึงอ่อนแอ เปราะบาง ขึงขังเฉพาะกับคนด้อยอำนาจ แต่ใครหาช่องทางประตูหลังเจอ (ซึ่งก็มักเป็นคนที่มีเส้นสนกลในในทางอำนาจ) ระบบนี้มักศิโรราบค้อมหัวกุมเป้าให้ เป็นระบบที่ผลาญทรัพยากรกับเวลาในการทำงานไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ดูแลรักษาลำดับชั้นทางอำนาจ แถมยังป้องกันทุจริตได้ยากด้วย แทบทุกครั้งที่ติดต่อกับหน่วยงานราชการจึงรู้สึกตลกกับความรุ่มร่ามล้าสมัยเหล่านี้เสมอ
ธุรกิจเอกชนแบบเก่าๆที่มีระบบราชการเป็นต้นแบบ กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยใช้ทั้งเทคโนโลยีและสำนึกของคนรุ่นใหม่
คำถามก็คือ-ระบบราชการจะเปลี่ยนแปลงไปแบบนั้นได้ด้วยหรือเปล่า
คำตอบคือ…???