หมากับแมว ใครฉลาดกว่ากัน

หมาและแมวไม่เคยรู้เรื่องด้วย ว่าพวกมันได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงของมนุษย์ตลอดมา ว่าระหว่างหมากับแมว ใครมีสติปัญญาฉลาดเฉลียวมากกว่ากัน

บางคนบอกว่า แมวนั้นน่ารัก ส่วนหมานั้นฉลาด แต่อีกบางคนก็บอกตรงกันข้าม ถ้าถามคนทั่วไป หลายคนอาจบอกว่า หมาฉลาดกว่าแมว เพราะเราใช้หมาทำงานโน่นนั่นนี่หลายต่อหลายอย่าง ตั้งแต่การตรวจอาวุธ ตรวจยาเสพติด จนกระทั่งใช้นำทาง แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจนหรอกนะครับ ว่าหมาหรือแมวฉลาดกว่ากัน

เดวิด กริมม์ (David Grimm) นักเขียนและนักรายงานข่าวด้านวิทยาศาสตร์จากเว็บไซต์อย่าง Slate บอกว่า การที่คนเราเห็นว่าหมาฉลาดกว่าแมวนั้น อาจเป็นเพราะเราอาศัยอยู่ใน ‘ยุคทองแห่งการรับรู้ของหมา’ (Golden Age of Canine Cognition) เพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพฤติกรรม สมอง และ ‘ความคิดจิตใจ’ ของหมา แล้วตีพิมพ์เป็นบทความหลายร้อยชิ้น ทำให้รู้ว่า หมาสามารถเรียนรู้ศัพท์ได้เป็นร้อยๆ คำ แถมยังอาจมีความสามารถในการ ‘คิด’ เชิงนามธรรมได้ด้วย

แต่ในแมว กลับไม่มีการศึกษาอะไรแบบนี้สักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาในทางกายภาพของสมองของแมว พบว่าแมวนั้นมีสมองที่แม้จะเล็กเมื่อเทียบกับสมองของมนุษย์ คือมีน้ำหนักประมาณ 0.9% ของน้ำหนักตัว ในขณะที่มนุษย์มีน้ำหนักสมองราว 2.33% ของน้ำหนักตัว (และหมามีราว 1.2% ของน้ำหนักตัว) แต่นั่นไม่ได้แปลว่าแมวจะต้องโง่เสมอไป เพราะที่เคยเชื่อกันว่า สัตว์ที่ฉลาดกว่าจะมีน้ำหนักสมองมากกว่านั้น ไม่ได้เป็นแบบนั้นในทุกกรณี

มนุษย์นีแอนเดอร์ธัล ซึ่งเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ (เรียกว่า Hominid) และสูญพันธ์ุไปในราวสองหมื่นปีที่แล้ว ก็มีสมองใหญ่กว่าสมองของมนุษย์ปัจจุบัน แต่กระนั้นก็ไม่ได้ฉลาดกว่า และที่สุดก็กลายเป็นว่า เป็นมนุษย์สายพันธุ์ Homo sapiens นี่แหละ ที่เอาชนะและอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ขนาดของสมองมีความสัมพันธ์กับความฉลาดของสัตว์มากน้อยแค่ไหน มันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันหรือแค่มีความเกี่ยวเนื่องกันในบางด้านเท่านั้น และจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ รวมไปถึงสมองของแมวกับหมาด้วย

สมองของแมวบ้านโดยทั่วไปมีความยาวราว 5 เซนติเมตร หนักราวๆ 25-30 กรัม ในขณะที่แมวทั่วไปจะมีขนาดร่างกายยาวราว 60 เซนติเมตร หนักราว 3.3 กิโลกรัม (ยกเว้นแมวอ้วน!) ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว สมองของแมวจึงมีขนาดและน้ำหนักอยู่ที่ราว 0.91% ของน้ำหนักตัว โดยสัตว์ตระกูลแมวที่มีสมองใหญ่ที่สุด คือเสือโคร่งชวาและบาหลี ทั้งนี้ก็เพราะมันมีขนาดตัวที่ใหญ่นั่นเอง

สมองของแมวยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือตัวโครงสร้างสมองของแมวจะมีลักษณะที่ขดหยักไปมา เรียกว่า Surface Folding ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับมนุษย์ แล้วถ้าดูส่วนประกอบของสมองแมว จะพบว่ามีลักษณะเหมือนสมองของมนุษย์มากถึงราว 90% อีกด้วย เพราะสมองของแมวมีพื้นที่ส่วนต่างๆ คล้ายกับของมนุษย์ ทั้งฮิปโปแคมปัส, อะมิกดาลา, สมองส่วนหน้า (ซึ่งมีปริมาณ 3-3.5% ของสมองทั้งหมด แต่ของมนุษย์จะมีสมองส่วนหน้าราว 25% ของสมองทั้งหมด) รวมไปถึงคอร์ปัสโคลอสซัม, ต่อมใต้สมอง และส่วนอื่นๆ ของสมองที่คลับคล้ายมนุษย์มากอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ สมองของแมวมีส่วนซีรีบรัลคอร์เท็กซ์ (Cerebral Cortex) ที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าของหมา โดยที่ซีรีบรัลคอร์เท็กซ์นั้น มีหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูลการรับรู้ต่างๆ (Cognitive Information Processing) ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า แมวจะมีการประมวลผลข้อมูลต่างๆ มากกว่าหมา ทำให้สมองส่วนนี้ใหญ่กว่า หลายคนเลยแอบคิดว่า เจ้าแมวเหมียวทั้งหลาย มันน่าจะ ‘ช่างคิด’ แต่ไม่ค่อยแสดงออกสักเท่าไหร่ คืออาจจะนั่งมองคน ประมวลผล แล้วคงแอบคิดๆๆๆ ว่าจะเอาอย่างไรกับคนอยู่เงียบๆ ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ถ้าดูจำนวนของเซลล์ประสาทหรือ Neuron ในสมองของแมว พบว่าแมวมีจำนวนเซลล์ประสาทมากถึง 300 ล้านเซลล์ ในขณะที่หมามีอยู่เพียง 160 ล้านเซลล์ และที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าในแมว เซลล์ประสาทที่อยู่ในพื้นที่สมองส่วนที่ประมวลผลเรื่องการมองเห็น รวมถึงส่วนของการรับรู้และการประมวลผลข้อมูล ซึ่งอยู่ในซีรีบรัลคอร์เท็กซ์ นั้น มีจำนวนเซลล์ประสาทมากกว่าของมนุษย์และสัตว์เล้ียงลูกด้วยนมอื่นๆ เสียอีก

เอ๊ะ! หรือนังแมวๆ เหล่านี้จะฉลาดกว่ามนุษย์!

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า จำนวนเซลล์ประสาทที่อยู่ในซีรีบรัลคอร์เท็กซ์นั้น แม้ไม่ได้บ่งชี้ถึง ‘ความฉลาด’ ได้แบบฟันธงเป๊ะๆ แต่กระนั้นก็ยังดีกว่าการไปดูจากขนาดสมองซึ่งหยาบกว่ามาก ซีรีบรัลคอร์เท็กซ์เป็นที่อยู่ของศูนย์การทำงานในการตัดสินใจแบบใช้เหตุผลและการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนหลายอย่าง มันจะทำหน้าที่ตีความผลที่ได้จากผัสสะ และประมวลผลทางอารมณ์ออกมา รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการวางแผนการกระทำสิ่งต่างๆ การตีความภาษา (หรือรูปแบบการสื่อสารต่างๆ) รวมทั้งเกี่ยวข้องกับความทรงจำทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย

ถ้าคุณเคยเล่นกับแมว อาจจะเล่นโดยใช้ไม้ล่อแมวหรืออะไรก็แล้วแต่ ด้วยการลากวัตถุบางอย่างให้ลับหายไปจากสายตาของเจ้าเหมียว (เช่น ลากสายยาวๆ แล้วให้วัตถุหนึ่งๆ หายไปหลังประตู) ถ้าเป็นสัตว์บางชนิด มันจะเลิกสนใจไปเลย เพราะมันไม่ ‘เห็น’ วัตถุนั้นอีกต่อไปแล้ว แต่แมวไม่เป็นอย่างนั้น เพราะแมวมี ‘ความฉลาด’ อีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Object Permanence ซึ่งก็คือความเข้าใจว่า วัตถุหนึ่งๆ ยังอยู่ แม้ว่ามันจะลับหายไปจากสายตา คือไม่สามารถเห็น ได้ยิน สัมผัส หรือได้กลิ่น แต่แมวรู้ว่าสิ่งนั้นยังอยู่ตรงนั้น คุณสมบัตินี้ทำให้มันเป็นนักล่าที่เก่งกาจมาก ถ้าใครเลี้ยงแมวจะรู้ดี เพราะเจ้าเหมียวสามารถนั่งเฝ้าจิ้งจกที่หายตัวไปตรงจุดหนึ่งๆ อยู่ได้นานเป็นชั่วโมงๆ เพราะมันตระหนักรู้ว่า จิ้งจกหายไปตรงจุดนั้น เป็นต้น

ที่สำคัญ แมวยังฝันอีกต่างหาก เวลาแมวนอนหลับ คุณอาจสังเกตเห็นว่า มันมีอาการหลายอย่างคล้ายๆ เวลาคนฝัน เพราะแมวเองก็ฝัน และมีความฝันที่ซับซ้อนด้วย ความฝันของแมวเกิดขึ้นเพราะมันมีความทรงจำระยะสั้นที่นานกว่าสัตว์อื่นๆ หลายชนิด มีงานวิจัยที่บอกว่า แมวมีความทรงจำระยะสั้นที่ยาวนานได้ถึง 17 ชั่วโมง เป็นความทรงจำเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้แมวสามารถ ‘ฝัน’ ได้ เพราะมันจะรื้อฟื้นเอาเรื่องที่เกิดขึ้นและเก็บอยู่ในความทรงจำมาปะติดปะต่อได้ใหม่ในความฝัน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์

ในขณะที่ความทรงจำระยะยาวนั้น พบจากบางการทดลองว่า ถ้าอยู่ในเงื่อนไขตามการทดลองนั้นๆ แมวสามารถจดจำบางเรื่องราวได้นานถึง 10 ปี เลยทีเดียว โดยเฉพาะ ‘ความรู้’ ที่เป็นพื้นฐานของแมว เมื่อไหร่ก็ตามที่แมวได้รับความทรงจำนั้นเข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือเพราะการลองผิดลองถูก ‘ความรู้’ ต่างๆ ที่แมวได้รับ จะอยู่กับมันไปจนตลอดชีวิต อย่างเช่น เทคนิคการล่าของแมวที่มันได้เรียนรู้จากแม่มาตอนเด็กๆ พบว่า แม้ต่อมามันแทบไม่ต้องล่าอีกตลอดชีวิต เช่น ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีอยู่ในบ้านนานเป็นสิบปี แต่ถ้าต้องออกล่าอีกครั้ง เทคนิคการล่าต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่กับตัว

ความทรงจำที่ดีของแมวอาจไม่ได้ส่งผลในแง่ดีอย่างเดียวนะครับ แต่ถ้ามันถูกกระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัว หรือตื่นตกใจเพราะอะไรบางอย่างตั้งแต่ต้น มันก็จะจำฝังใจไปเลยกับสิ่งนั้นๆ แมวบางตัวกลัวเครื่องดูดฝุ่น บางตัวก็กลัวคนบางลักษณะ ทั้งนี้ก็เพราะความรงจำเหล่านี้ฝังอยู่ในตัวมัน

แต่ถึงกระนั้น ก็มีการทดลองแย้งที่บอกว่า แมวอาจจะไม่ได้ ‘ฉลาด’ อย่างที่เราคิดก็ได้ การทดลองสำคัญในเรื่องนี้คือการทดลองของ เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์ (Edward Thorndike) ที่แสดงให้เห็นว่า แมวมีความสามารถในการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Operant Conditioning (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Instrumetal Conditioning)

การเรียนรู้ที่ว่านี้มีอยู่ในสัตว์หลายชนิด พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามันเจออะไรบางอย่างเข้าไปแล้วให้ผลดี แมวก็จะชอบ แล้วก็ทำสิ่งนั้นซ้ำ แต่ถ้าเจออะไรบางอย่างแล้วให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายต่อตัวมัน มันก็จะหลีกเลี่ยง พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าแมวทำอะไรบางอย่างลงไปแล้วเกิดผลลัพธ์ขึ้น ผลลัพธ์นั้นจะย้อนกลับมา ‘ปรับเปลี่ยน’ ความเข้มข้นของพฤติกรรมดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ทำให้แมวได้รับรางวัลหรือได้รับการลงโทษก็ตาม

ในการทดลองของคุณธอร์นไดค์ เขาเอาแมวหลายๆ ตัว ไปใส่ไว้ในกล่องหลายๆ ใบ ถ้าแมวจะออกจากกล่อง มันต้องดึงน้ำหนักที่ถ่วงประตูกล่องให้เปิดออก ปรากฏว่าต่อให้เป็นตัวที่เปิดฝากล่องได้ (ด้วยวิธีลองผิดลองถูก) แต่ภายหลังต่อมามันกลับไม่ได้ทำได้ดีเท่ากับตอนแรก คุณธอร์นไดค์เสนอว่า แปลว่ามันไม่ได้เกิดการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกครั้งก่อนหน้า หรือการลองผิดลองถูกที่ว่า ไม่ได้ถูกเก็บเอาไว้ในความทรงจำระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่ทำให้น่าสงสัยว่า แมวมัน ‘ฉลาด’ แค่ไหนกันแน่ มันไม่มีความทรงจำระยะยาว หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว มันแค่ ‘ไม่แคร์’ การทดลองใดๆ

มีงานวิจัยแมวในญี่ปุ่นเพื่อดูว่าแมวจำเสียงเรียกของเจ้าของได้หรือเปล่า ผลสรุปจากการวิจัยบอกว่ามันจำได้ จำได้ดีเสียด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแมวก็คือ มันแค่ ‘โนสนโนแคร์’ กับเสียงของเจ้าของเท่านั้นเอง ไม่เหมือนหมาที่จะตอบสนองต่อการเรียกของเจ้าของแทบจะเสมอ ซึ่งทำให้คนคิดว่าหมาเป็นสัตว์ที่ฉลาดกว่าแมว

จนถึงบัดนี้ การเถียงเถียงกันว่าหมาหรือแมวฉลาดกว่ากันก็ยังไม่มีข้อยุติ เป็นไปได้ว่านี่คือมวยผิดคู่ เพราะลักษณะนิสัยของ ‘สัตว์เลี้ยง’ ของมนุษย์สองชนิดนี้แตกต่างกันลิบลับ แต่กระนั้น เจ้าตูบเจ้าเหมียวที่กำลังเลียเนื้อเลียตัวอยู่ใกล้ตัวเรา ก็เป็นประจักษ์พยานบอกเราได้ว่า แม้กระทั่งเรื่องพื้นๆ อย่างเรื่องสมองหมาปัญญาแมว, มนุษย์ก็ยังเข้าใจได้ไม่หมด

มนุษย์ชอบบอกว่าเข้าใจเพศตรงข้ามเป็นเรื่องยาก แต่รับรองได้เลยครับ – ว่าการเข้าใจหมาแมวยิ่งยากกว่านั้นอีกหลายเท่านัก!