1
เวลาพูดถึงนักแบกเป้ท่องโลกตามลำพัง หลายคนนึกถึงแต่ภาพคนหนุ่มสาว ไม่ค่อยมีใครคิดถึงผู้สูงวัยสักเท่าไหร่
ยิ่งเป็นผู้สูงวัยที่เป็นหญิงด้วยแล้ว ยิ่งเหลือพ้นจินตนาการ
แต่ทุกวันนี้ ผู้หญิงสูงวัยที่ออกเดินทางคนเดียวกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ด้วยวิธีซื้อทัวร์ทั่วไป แต่เป็นการเที่ยวแบบแบกเป้ แบบที่เรียกกันว่า ‘แบ็กแพ็กเกอร์’ และ ‘แบก’ เป้จริงๆ โดยน้ำหนักของเป้ที่อยู่บนหลังอาจมากถึง 12-15 กิโลกรัม อันเป็นน้ำหนักที่ต้องถือว่าไม่น้อยทีเดียว ต่อให้ไม่ใช่ผู้หญิงที่อายุเลยหกสิบปีไปแล้วก็ตาม
ถ้าเป็นโลกเมื่อสักสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว การเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต่อให้เป็นคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยแข็งแรงก็เถอะ แต่ทุกวันนี้ การเดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปมาก เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางได้อย่างละเอียด จะหาข้อมูลมากมายแค่ไหนก็ได้ และไม่ใช่เฉพาะข้อมูลจากบริษัททัวร์หรือหนังสือไกด์บุ๊คเท่านั้น ทว่าเป็น ‘ข้อมูล’ ที่ ‘ได้’ มาจากตัวนักเดินทางท่องเที่ยวคนอื่นๆโดยตรงเลยทีเดียว เหมือนถามเพื่อน แต่ไม่ได้มีเพื่อนแค่คนเดียว เรามีเพื่อนเป็นร้อยเป็นล้านคนจากทั่วโลก
ท้ังหมดนี้เป็นไปได้ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า Digital Age!
ใช่แล้ว-ยุคนี้คือยุคที่ทุกคนสามารถมีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้ด้วยตัวเอง เพราะการเชื่อมต่อและข้อมูลมหาศาลที่เราสามารถคัดเลือกและจัดสรรให้เหมาะสมกับตัวเอง แต่ละคนจึงสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้ รู้ว่าเมื่อเดินทางไปตรงนั้นตรงนี้จะต้องพบเจอกับอะไร
แม้กระทั่งผู้หญิง…ผู้หญิงที่มีอายุมากจนหลายคนคิดว่าเธออาจเที่ยวคนเดียวไม่ได้
แต่แน่นอน-เธอทำได้!
2
คำถามก็คือ อะไรทำให้ทั้ง ‘ผู้หญิง’ สามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่เคย ‘กล้า’ ทำได้มาก่อนประวัติศาสตร์แห่งการเดินทางท่องเที่ยว?
มีสถิติบอกว่าในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงเริ่มเป็นแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ พบว่า ผู้หญิงที่เดินทางคนเดียวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เพิ่มแบบค่อยๆขยับกราฟขึ้น แต่เพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 230% ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา
นี่คือตัวเลขที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ!
การสำรวจของ TripAdvisor ซึ่งเป็นเว็บและ App ที่ให้บริการในแบบ Crowdsourcing ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องที่พัก ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจต่างๆ พบว่าในจำนวนนักท่องเที่ยวผู้หญิง 9,181 คน จากทั่วโลกนั้น มีมากถึง 74% เลยทีเดียว ที่วางแผนว่าจะเดินทางท่องเที่ยว ‘คนเดียว’ ในปีถัดไป
ในเอเชีย แนวโน้มก็เป็นแบบเดียวกัน นั่นคือผู้หญิงเร่ิมเดินทางคนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักจะเลือกจุดหมายปลายทางเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เนื่องจากเป็นภาษาสากลที่พูดคุยกันได้ง่ายทั่วโลก
และอย่าเพิ่งคิดว่า ผู้หญิงเหล่านี้จะเที่ยวชมวัฒนธรรม ไปสปา หรือเที่ยวแบบสบายๆไปทำศัลยกรรมอะไรทำนองนั้น เพราะผลสำรวจบอกด้วยว่า ผู้หญิงที่อยากเที่ยวคนเดียวนั้น มีแนวโน้มที่จะท่องเที่ยวแบบผจญภัยและเที่ยวเอาท์ดอร์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ปีนเขา หรืออื่นๆ
งานวิจัยของ Savvy Auntie พูดถึงกลุ่มผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกเล่นๆว่า PANK (ย่อมาจาก Professional Aunt, No Kids หรือเป็นผู้หญิงสูงวัยที่มีหน้าที่การงานแบบมืออาชีพในระดับสูง แต่ไม่มีลูก) โดยบอกว่า ผู้หญิงกลุ่ม PANK นั้น ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่สุดกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้มากพอที่จะเดินทางท่องเที่ยวได้ แถมยังมีอิสระในการเดินทาง มีเวลามากพอ แต่กระนั้นก็ไม่ได้มีเวลาว่างตรงกัน PANK จำนวนมากจึงมีไลฟ์สไตล์ในการท่องเที่ยวแบบ ‘เที่ยวคนเดียว’
เขาบอกว่า ประชากรกลุ่ม PANK นั้นมีมากถึง 23 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าดูทั่วโลกก็น่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกอักโข โดยกลุ่ม PANK เป็นกลุ่มที่ต้องการที่พักและบริการในระดับหรูหรา ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะพวกเธอมีรายได้ที่มากพอ และเนื่องจากผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นนักบริหารระดับสูง พวกเธอจึงคุ้นเคยกับประสบการณ์การเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) ที่ใช้บริการโรงแรมในระดับบน
ดังนั้นเมื่อจะท่องเที่ยวพักผ่อน ก็เลยมองหาบริการที่มีคุณภาพใกล้เคียงหรือแม้กระทั่งดีงามกว่าที่เคยคุ้นมาตลอดชีวิตการทำงาน ดังนั้น โรงแรมหรูขนาดเล็ก (ที่เรียกว่า Small Luxury Hotels ซึ่งมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ในยุโรปและอเมริกา ถือเป็นเครือข่ายโรงแรมหรูที่มีรสนิยม ไม่ใช่เชนโรงแรมใหญ่ๆที่ถูกมองว่าเป็นโรงแรมสำหรับครอบครัว) จึงมียอดจองจากนักเดินทางผู้หญิงที่เดินทางเพียงคนเดียวเพิ่มมากขึ้นถึง 53% ในช่วงปี 2011-2012 และหลังจากนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก
ยิ่งถ้าเทียบกับนักท่องเที่ยวชายด้วยแล้ว พบว่านักท่องเที่ยวหญิงมีแนวโน้มที่จะ ‘อัพเกรด’ ที่นั่งบนเครื่องบินให้ดีขึ้นมากกว่าผู้โดยสารที่เป็นชายด้วย
คำถามก็คือ-เพราะอะไร ผู้หญิงถึงกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในธุรกิจเดินทางท่องเที่ยวได้?
3
โดยทั่วไป เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า โลกได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ เช่นพื้นที่ของการทำงานต่างๆมากขึ้น ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อผู้หญิงทำงานเหล่านี้มากขึ้น ย่อมก่อให้เกิด ‘พลัง’ ของผู้หญิงในเศรษฐกิจใหม่ขึ้นด้วย
พลังของผู้หญิงเช่นนี้เรียกขานกันว่า Womenomics
The Economist รายงานไว้ในปี 2006 ว่า สัดส่วนของ ‘ผู้หญิงทำงาน’ เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล จากในทศวรรษ 2490s ที่มีผู้หญิงทำงานเพียงประมาณหนึ่งในสามนั้น ได้เพิ่มขึ้นมากลายเป็นสองในสามในปัจจุบัน ที่สำคัญ สัดส่วนของผู้หญิงในตลาดแรงงานก็เพ่ิมขึ้นในทุกประเทศ ทุกวันนี้ แทบทุกประเทศมีสัดส่วนของผู้หญิงในตลาดแรงงานสูงเลย 40% กันแล้ว แม้กระทั่งในประเทศที่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศมาแต่เก่าก่อน อย่างเช่นอิตาลีและญี่ปุ่น ก็ยังมีผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงานสูงกว่า 40% อยู่ดี
นั่นแปลว่าอะไร?
เมื่อผู้หญิงทำงานมากขึ้น ผู้หญิงก็ย่อมมีรายได้มากขึ้นด้วย แต่ตัวเลขที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Time บอกไว้ว่า ในเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 50 เมืองในอเมริกานั้น มีถึง 47 เมืองด้วยกันที่โดยเฉลี่ยแล้ว-ผู้หญิงมีรายได้มากกว่าผู้ชาย
เรื่องนี้ ‘กลับข้าง’ กับความเชื่อแบบเดิมๆโดยสิ้นเชิง!
ตัวอย่างก็คือนิวยอร์ค ที่โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะมีรายได้คิดเป็นราว 117% ของรายได้ผู้ชาย และถ้ามองภาพให้กว้างออกมามากกว่าอเมริกา เราจะพบว่าต่อให้เป็นประเทศจีนที่หลายคนคิดว่ามีการกีดกันทางเพศมาก ก็ยังพบว่าผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงนั้น มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51 ซึ่งก็แปลว่ามากกว่าผู้ชายไปแล้ว!
ในไทยก็ไม่แตกต่าง เพราะผู้หญิงก้าวเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ มีรายงานการจัดอันดับโอกาสทางเศรษฐกิจขอผู้หญิงโดย Economist Intelligent Unit เมื่อปี 2012 ที่ระบุว่า ผู้หญิงไทยนั้นมี ‘โอกาสทางเศรษฐกิจ’ สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นรองก็แค่สิงคโปร์เท่านั้น แถมผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในไทยยังมีมากถึง 36% อีกต่างหาก นับว่าสูงกว่าหลายประเทศ แถมกรรมการบริษัทในภาคเอกชนของไทยก็มีมากกว่า 35% ที่เป็นผู้หญิง
แล้วอย่างนี้จะไม่ให้บอกว่า ‘พลัง’ ของผู้หญิงในทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้อย่างไรกัน!
4
แน่นอนว่าเมื่อผู้หญิงมีรายได้สูงขึ้น ผู้หญิงย่อมกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ กลายเป็น ‘ตลาดใหม่’ ที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง
เวลาพูดคำว่า Womenomics ความหมายของคำนี้ไม่ได้กินความเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีคิดแบบอื่นๆที่แตกต่างไปจากแนวทางผู้ชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำโลกมาเป็นเวลายาวนานอีกด้วย ตัวอย่างหนึ่งของ Womenomics ที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีของอังกฤษ
ในหนังสือ Flat White Economy ผู้เขียนรายงานว่า ผับ-ซึ่งเคยเป็นสถานที่รวมตัวหรือ Third Place ของผู้ชาย และมีลักษณะที่กีดกันทางเพศในหลายระดับมาเป็นเวลายาวนานนั้น มีการปิดตัวลงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ร้านกาแฟที่เปิดกว้างทางเพศมากกว่า เพราะสามารถเข้าใช้ได้ทุกเพศ (ไม่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น) กลับเพิ่มจำนวนขึ้น
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่างซึ่งทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับ Womenomics โดยตรงด้วย แต่ทำให้เราเห็นว่าสังคมแบบเดิมๆกำลังเปลี่ยนแปลงไป และผู้หญิง (รวมถึงคนเพศอื่นๆ) กำลังจะก้าวเข้ามาสร้าง ‘สมดุลใหม่’ ให้กับเศรษฐกิจที่เคยถูกครอบงำด้วยวิธีคิดของ ‘วัฒนธรรมย่อย’ แบบที่มีความเป็นผู้ชายเป็นอำนาจนำ
Harvard Business Review ระบุว่า ในปี 2552 ผู้หญิงใช้จ่ายรวมกันทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และคาดกันว่า ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก กระทั่งกลายเป็น 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 นี่คือตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจซื้อในมือผู้หญิง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเป็นอำนาจซื้อที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง
คุณคงพอเดาได้ว่า ผู้หญิงนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในระดับครัวเรือนมากแค่ไหน ข้อมูลจาก Harvard Business Review สำรวจพบว่า ผู้หญิงกว่า 80% เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งหมด ถ้าเป็นเรื่องเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ก็เป็นผู้หญิงนี่แหละที่เป็นคนตัดสินใจมากกว่าร้อยละ 94
ครั้นครอบครัวจะไปท่องเที่ยวเดินทางหรือ ก็เป็นผู้หญิงอีกนี่เอง ที่เป็นผู้ตัดสินใจซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยว โดยผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินใจถึงกว่าร้อยละ 92 ทั้งยังเป็นคนตัดสินใจซื้อบ้านกว่าร้อยละ 91 เป็นผู้ตัดสินใจซื้อรถกว่าร้อยละ 60 และเป็นผู้ตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกว่าร้อยละ 51
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องของอาหาร เครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ รวมถึงอิทธิพลในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆของคนอื่นๆในครอบครัวด้วย!
5
การที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ได้ทำให้อำนาจซื้อของผู้หญิงเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแบบแผนวิถีชีวิตและการบริโภคของผู้หญิงด้วย ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้เปลี่ยนไปน้อยๆ แต่หลายเรื่องเปลี่ยนไปแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
อย่างแรกสุด ผู้หญิงมีงานทำด้วยตัวเอง พวกเธอจึงมีอิสระมากขึ้น สามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของพฤติกรรมการใช้เวลาและการใช้จ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้หญิงจำนวนมากจึงหันมาเรียกร้องต้องการอิสระมากกว่าที่ผ่านมา
เมื่อผู้หญิงทำงานมากขึ้น เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น มีแนวโน้มใหม่ว่าผู้หญิงจะมีลูกน้อยลง แต่ถึงจะมี ‘จำนวน’ ลูกน้อยลง ผู้หญิงก็กลับซื้อสินค้าและบริการต่าๆงเพื่อลูกของตัวเองมากขึ้น พูดอีกอย่างก็คือ ถึงอัตราการเกิดจะลดลง แต่อัตราการใช้จ่ายสำหรับเด็กกลับไม่ได้ลดลงไปด้วย ผลก็คือตลาดสินค้าสำหรับเด็กเติบโตขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ ผู้หญิงจะแต่งงานช้าลงหรือแม้กระทั่งไม่แต่งงานเลย หรือกระทั่งคนที่แต่งงานไปแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะหย่าร้างมากขึ้น เพราะผู้หญิงไม่จำเป็นต้อง ‘ทน’ อยู่ในโครงสร้างที่ผู้ชายเป็นผู้หาเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว พวกเธอสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ นั่นทำให้เกิดตลาดใหม่ที่เรียกว่า ‘ตลาดสาวโสด’ ขึ้นมา เพราะการอยู่เป็นโสด จะทำให้ความต้องการสินค้าและบริการบางอย่างเพิ่มขึ้น
ในเวลาเดียวกัน โลกยุคดิจิตอลก็ทำให้ตลาดสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วย และพบว่าเป็นผู้หญิงอีกนั่นแหละ ที่ซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าผู้ชาย แถมยังซื้อบ่อยกว่าอีกด้วย
เรื่องเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงมี ‘อำนาจ’ มากขึ้น ไม่ใช่แค่อำนาจซื้อ แต่รวมถึงอำนาจในการดูแลจัดการตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นผลทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นทำกิจกรรมหลายอย่างที่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นของผู้หญิงมาก่อน
รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวด้วย!
6
นักเดินทางท่องเที่ยวหญิงนั้น มีความต้องการบางอย่างพิเศษกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป อย่างแรกสุดก็คือเรื่องของความปลอดภัย
ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถเช่า เอเยนต์ท่องเที่ยว โรงแรม สถานบันเทิง ฯลฯ เริ่มหันมาโปรโมท ‘ความปลอดภัย’ โดยใช้เรื่องนี้เป็นจุดขาย เช่น บางโรงแรมก็ทำปุ่มฉุกเฉินในห้องพัก หรือการจัดโซนพักสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ทำให้มีลูกค้าหญิงมากขึ้น และพบว่าถ้าถูกใจแล้วละก็ ผู้หญิงจะมีอัตราการกลับมาใช้บริการซ้ำมากกว่าผู้ชาย
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังให้ความสนใจกับเรื่องทางวัฒนธรรม อาหาร และสุขภาพมากกว่าผู้ชายด้วย นักท่องเที่ยวหญิงมักจะสนใจเรื่องอาหารการกิน อาหารท้องถิ่น และอาหารสุขภาพมากขึ้น และผู้หญิงก็มักจะละเอียดรอบคอบมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่ม PANK ที่มีเวลาในการหาข้อมูล พวกเธอจะเตรียมตัวในการท่องเที่ยวมาเป็นอย่างดี ทำให้นักการตลาดสามารถเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวหญิงได้ เช่นการทำโปรโมชั่นระยะยาว ทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าที่หวนกลับมาใช้บริการบ่อยๆ รวมถึงต้องรักษาภาพลักษณ์ผ่านวิธีการแบบ ‘ปากต่อปาก’ (Word of Mouth) ให้ดีด้วย เพราะลูกค้าที่เป็นผู้หญิงมักจะเชื่อถือข้อมูลที่ได้จากคนที่ผ่านประสบการณ์นั้นๆมาก่อน เช่นการสอบถามแนะนำกันผ่านเว็บบอร์ดต่างๆ ดังนั้น การตลาดผ่านสื่อออนไลน์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
จะเห็นได้ว่า Womenomics มีผลอย่างมากต่อการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ และเป็นกระแสแนวโน้มใหม่ที่ ‘เสริมพลัง’ (Empower) ด้วยปัจจัยใหม่ๆต่างๆนี้เอง ที่จะทำให้ผู้หญิงยิ่งออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้นเรื่อยๆ
และนี่คือคำอธิบายในระดับโลก ผ่านเทรนด์ต่างๆมากมายที่เชื่อมโยงย้อนกลับมาถึงการแบกเป้เดินทางท่องเที่ยวของคุณป้านักแบกเป้ชาวไทยที่เกริ่นตั้งแต่ต้น
เศรษฐกิจพลังผู้หญิงมีผลต่อวิถีชีวิต การบริโภค และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆของผู้หญิงและคนเพศอื่นๆอย่างนี้นี่เอง!