โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าภาคที่กำลัง ‘ทันสมัย’ และ ‘เติบโต’ ที่สุด คือภาคอีสาน
ใครๆก็รู้ใช่ไหมครับ ว่าเทรนด์ที่เรียกว่า Urbanization หรือ ‘ความเป็นเมือง’ กำลังมาแรง
นักประชากรศาสตร์ สหประชาชาติ นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิกเมือง และใครอีกหลายคนต่างก็บอกว่า มนุษย์กำลังจะก้าวเข้ามาเป็น ‘คนเมือง’ คือมาอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าอยู่ในชนบท
เทรนด์นี้เป็น ‘เมกะเทรนด์’ นะครับ คือเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติด้วย
ที่เคยท่องๆกันว่า คนไทยเป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในชนบทมากที่สุดนั้น เป็นคำพูดที่ผิดแล้วนะครับ เพราะในปัจจุบันนี้ คนไทยย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหรือมีวิถีชีวิตแบบคนเมืองกันมากแล้ว จนตอนนี้ ประชากรที่เป็น ‘คนเมือง’ มีมากกว่าประชากรที่เป็นคนชนบทแล้วละครับ
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าการเป็น ‘คนเมือง’ แปลว่าทุกคนจะต้องย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ ที่เราคิดว่ายิ่งใหญ่เป็นเมืองหลวงเสมอไปนะครับ อันนั้นเป็นแนวคิดแบบเก่าแก่โบร่ำโบราณ เป็นแนวคิดแบบ ‘รวมศูนย์’ หรือ Centralization ที่เคยเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ได้ดับสูญไปนานนมแล้วละครับ
เพราะว่าในโลกสมัยใหม่ ความคิด อุดมการณ์ ความเจริญ รายได้ การบริโภค และอะไรอีกหลายอย่าง มันได้ ‘กระจายตัว’ ไปหาคนในพื้นที่กว้างขวางกันแล้ว ดังนั้น Urbanization จึงไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนกรุงเทพฯ เท่านั้นหรอกนะครับ
แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆที่!
และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับผมก็คือภาคอีสาน
ตอนนี้ เราจะเห็นได้เลยนะครับว่าหลายจังหวัดในภาคอีสานนั้นเกิดการ Urbanized ตัวเองเป็นการใหญ่ ลองพูดชื่อมาก็ได้นะครับ เราจะเห็นว่ามีหลายจังหวัดที่มี ‘ความเป็นเมือง’ ในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น หนองคาย, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, มหาสารคาม และอื่นๆอีกมากมาย
‘ความเป็นเมือง’ ในที่นี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่าวัดอย่างไร ที่จริงคงมีหลักเกณฑ์ในทางวิชาการที่จะใช้วัดอยู่นะครับ เช่นว่าประชากรเป็นอย่างไร ทำอาชีพอะไรกันบ้าง รายได้ต่อหัวเป็นอย่างไร ฯลฯ แต่ที่ผมคิดว่าเห็นได้ชัดเจนมากก็คือ ‘ไลฟ์สไตล์’ หรือ ‘วิถีชีวิต’ ของผู้คนแห่งดินแดนอีสาน ซึ่งคนสมัยก่อนจะรู้สึกว่าเป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร คนที่อยู่ในอีสานเป็นคนจน เป็นคนชนบท อะไรทำนองนั้น
แต่ตอนนี้ แม้บางส่วนจะยังมีความยากจนอยู่ แต่เราจะพลว่ามีพลวัตรใหม่ๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเกิด ‘คนเมือง’ ในหลายจังหวัดแบบ ‘พร้อมๆกัน’ ขึ้นมา เราจะเห็นคนที่เคยออกมาทำงานในกรุงเทพฯ ย้าย ‘กลับบ้าน’ ไปอยู่ในจังหวัดบ้านเกิด เพราะแต่ละจังหวัดเริ่มมีความเป็นเมืองมากขึ้น และเมืองนั้นคือแหล่งงาน คือแหล่งทรัพยากร เป็นที่รวมของสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เมื่อก่อนเคยกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองหลวง แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้กระจายตัวออกไป ผู้คนก็มี ‘โอกาส’ มากขึ้นที่จะอยู่ในที่ที่ตัวเองเกิด
เทรนด์ Urbanization ทำให้เกิดผลต่อเนื่องได้หลายมิติ ดังนั้น การเกิดเทรนด์นี้ในภาคอีสาน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะอีสานจะไม่ใช่ดินแดนแล้งไร้ตามมายาคติเดิมๆ ของเราอีกต่อไปแล้ว!