เวลามีคนพูดถึงการ coming out ผมมักนึกถึงเขา
วลี coming out นั้น ในปัจจุบันเรามักจะเข้าใจตรงกันว่ามีความหมายแบบแคบๆว่า คือการ ‘เผยตัว’ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน หรือมี ‘ความต่าง’ จากสิ่งที่สังคมเรียกมันว่า norm (ที่มีนัยไปถึงคำว่า normal หรือความ ‘ปกติ’ อันเป็นเรื่องที่ชวนให้เถียงต่อเนื่องไปได้ไม่รู้จักสิ้นสุด-ว่าคำว่า ‘ปกติ’ มันคืออะไรกันแน่)
บางคนแปลวลี coming out ว่าคือการ ‘สารภาพ’ ว่าตัวเองเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน แต่ถ้าเราดูความหมายของมันจริงๆแล้ว วลี coming out นั้น มาจาก coming out of the closet หรือ ‘ออกมาเสียจากตู้’ คือไม่ได้ปกปิดหรือปิดบังหลบซ่อนอีกต่อไป ดังนั้น coming out จึงไม่ใช่การ ‘สารภาพ’ บ้าบอคอแตกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะคนคนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเพียงแต่ ‘ออกมาจากตู้’ ที่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่ตัวเองสร้างขึ้นด้วยซ้ำ แต่เป็นโครงสร้างสังคมแบบนิยมรักต่างเพศไม่รู้จักแล้วนั่นต่างๆ ที่สร้างตู้หรือ ‘กรอบกรง’ ขึ้นมา ‘ขัง’ ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของคนคนนั้น
คนที่แปล coming out ว่า ‘สารภาพ’ นั้น ผมคิดว่าเป็นคนที่ซากความคิดแบบเหยียดเพศยังหลงเหลือติดค้างอยู่ในบางส่วนของกะโหลก ซึ่งเอาเข้าจริงก็ชะล้างออกได้
ที่จริงแล้ว การ coming out ไม่ใช่ความจำเป็นต้องมาบอกด้วยนะครับ ว่าคนคนนั้น ‘ออกจากตู้’ มาแล้วจะเป็นอะไร เป็นเกย์ เป็นตุ๊ด เป็นเลสเบี้ยน เป็นทรานสเจนเดอร์ เป็นไบเซ็กชวล เป็นแพนเซ็กชวล (หรือ pansexual ซึ่งไม่ได้แปลว่าอยากมีเซ็กซ์กับกระทะ ทว่าคือคนที่ความสามารถในการชอบคนที่อัตลักษณ์ทางเพศแบบไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่ ‘สอง’ เหมือนไบเซ็กชวล) หรืออะไรก็ตามที
เพราะว่าการ ‘ต้อง’ มาบอกคอยระบุว่า อันตัวกูนั้นมีเพศอะไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องล้าหลังเอามากๆ เนื่องจากตัวตนทางเพศของเรานั้นมีมากมายหลายหลาก ซับซ้อนอย่างยิ่งถึงขั้นที่ในยุโรปบางประเทศทดลองแยกแยะดูเพื่อให้เด็กกรอกข้อมูลว่าตัวเองเป็นเพศอะไร ปรากฎว่าต้องทำช่องให้เลือกมากถึงยี่สิบกว่าช่องนอกเหนือไปจากเพศชายและหญิง และถึงจะมีเพศมากมายขนาดนั้นแล้ว ก็ยังหาได้ ‘ครอบคลุม’ ถึงทุกคนไม่
เพราะฉะนั้น การ ‘ติดฉลาก’ ว่าใครคนใดมีเพศอะไร จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นแม้แต่น้อย เพราะแต่ละคนย่อมสามารถมีที่ทางทางเพศวิถีของตัวเองได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดให้อยู่ในกล่องหรือในกรอบแบบไหน
ว่าแต่ว่า, แล้วผมนึกถึงใครเวลาได้ยินวลี coming out ล่ะครับ
คำตอบก็คือ ผมคิดถึง คาร์ล ไฮน์ริค อูลริชส์ (Karl Heinrich Ulrichs) เขาเป็นนักต่อสู้เรื่องเพศชาวเยอรมัน และเป็นคนแรกๆที่นำเสนอความคิดเรื่องการเปิดเผยตัวหรือ self-disclosure ในฐานะที่มันคือการ ‘ปลดปล่อย’ ตัวเองจากกรอบกรงทั้งปวง
อูลริชส์บอกว่า เขาชอบเล่นตุ๊กตา ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เกิด แต่เมื่อโตขึ้น เขาก็กลายเป็นชายหนุ่มที่มีหนวดเครายาว และมีรูปร่างหน้าตาเหมือนผู้ชายทั่วไป
แต่นั่นไม่ใช่ตัวเขา เขาอยากบอกกับคนอื่นๆว่า-แท้จริงแล้วเขาเป็นอย่างไร
ที่น่าสนใจก็คือ เขาเอ่ยถึงแนวคิด coming out เป็นครั้งแรกในปี 1869 ซึ่งคือหนึ่งศตวรรษ ก่อนการเกิดเหตุการณ์จลาจลที่บาร์สโตนวอลล์ในนิวยอร์คเมื่อปี 1969 ซึ่งถือเป็น ‘หมุดหมาย’ ในการต่อสู้ของเกย์ เลสเบี้ยน (แล้วขยายมาสู่คนเพศอื่นๆในเวลาต่อมา)
การ coming out เป็นเรื่องซับซ้อน และมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ในมิติต่างๆแฝงฝังอยู่หลายระดับ ในระยะแรก หลายคนอยากให้การ coming out เป็นการกระทำทางการเมือง จึงเรียกร้องให้ทุกคนต้อง coming out แต่ในสมัยนี้ แม้แต่วลี coming out ก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องทวิลักษณ์ คือเป็นการสร้างแนวคิดแบบ ‘นอก/ใน’ ขึ้นมา และอย่างใดอย่างหนึ่งจะ ‘ดี’ หรือ ‘มีความสุข’ มากกว่าอีกอย่างหนึ่ง ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว การมีชีวิตอยู่ก็คือการมีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นเลยที่ใครจะต้องเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไรสำหรับใคร และคนคนหนึ่งก็ควรสามารถกระโดดเข้าๆออกๆจาก ‘ตู้’ ใดๆก็ได้โดยเสรี
การ coming out ที่นำเราไปสู่อิสรภาพอย่างถึงที่สุด จึงคือการ coming out ออกมาจากการ coming out อีกต่อหนึ่งนั่นเอง!