ทำอย่างไรถึงจะเขียนหนังสือได้เร็ว

หลายคนถามว่า จะเขียนหนังสือให้ ‘เร็ว’ ได้อย่างไร

ผมคิดว่า การเขียนหนังสือมีหลายรูปแบบ และ ‘ความเร็ว’ ก็ไม่ควรเป็นเป้าหมายเดียวของการเขียนหนังสือ

สิ่งที่ดีกว่าความเร็ว ก็คือการเตรียมตัวล่วงหน้า การหาข้อมูลวัตถุดิบต่างๆ ใส่ตัวอยู่เสมอ และดังนั้น เมื่อลงมือเขียนก็จะใช้เวลาไม่มาก กลายเป็นการเขียนงานที่เร็ว โดยที่ ‘ความเร็ว’ เป็นเพียง ‘ผลพลอยได้’ ของการหาวัตถุดิบใส่ตัวอยู่เสมอ – ก็เท่านั้น

โดยนัยนี้ ความเร็วจึงไม่ใช่เป้าหมายมากเท่าผลพลอยได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าลองมองดูการ ‘เขียนเร็ว’ (ที่เรียกกันว่า Speed Writing) ผมคิดว่าน่าจะแบ่งออกได้เป็นสอง ‘สำนัก’ ใหญ่ๆ

สำนักแบบแรกคือสำนักแห่งการเตรียมพร้อม อาจเรียกว่า Outline School ซึ่งใช้เทคนิคการเขียนแบบ ‘เติมคำในช่องว่าง (fill in the blank) นั่นคือผู้เขียนเป็น ‘ผู้กำหนด’ หรือเป็นพระเจ้านักวางแผน ที่ได้วางแผนทุกอย่างเอาไว้ล่วงหน้าทั้งหมดแล้ว โดยอาจ ‘ปักหมุด’ การเขียนเอาไว้เป็นลำดับๆ ว่าจะเริ่มด้วยอะไร ตามด้วยอะไร 

การเขียนแบบนี้ไม่ได้เริ่มเมื่อเขียน แต่เริ่มก่อนหน้านั้นนานมาก ด้วยการบ่มเพาะข้อมูล ประเด็น การกำหนดประเด็นใหม่ๆ รวมถึงการอ่านข้อมูลเพิ่มอยู่เสมอ เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นการสั่งสม input ให้ตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งพร้อมกับการสั่งสมข้อมูล ก็มีการตัดต่อตัดตอนสิ่งที่เขียนอยู่ในหัวไปด้วยพร้อมๆ กัน ดังนั้น เวลาเขียน เราจะ ‘เห็น’ ภาพโครงสร้างทั้งหมดอย่างแม่นยำ แล้ว ‘เติมคำในช่องว่าง’ ลงไปให้เต็มตามแผนที่วางไว้แล้ว

การเขียนเร็วในสำนักแบบที่สองคือ Freewrite School คือการเขียนแบบ flow หรือ ‘ปล่อยไหล’ เป็นการเขียนที่ไม่เหมือนแบบแรก คืออาจไม่ได้ ‘คิด’ เอาไว้ก่อน สามารถลงมือนั่งเขียนได้เลย แล้วงานเขียนก็จะหลั่งไหลออกมาโดยแทบไม่รู้ตัว 

ดูเผินๆ การเขียนสองแบบนี้แตกต่างกัน แต่จริงๆ แล้วกลับไม่เป็นแบบนั้น เพราะที่บอกว่าการเขียนแบบที่สองไม่ได้ ‘คิด’ นั้น แท้จริงแล้วเป็นการ ‘คิดในคิด’

คือได้สั่งสม input เอาไว้ภายในตัวหลายๆ ฐาน ครั้นพอถึงเวลาที่ต้องเขียน ก็จะเกิดญาณทัสนะ (intuition) ที่ทำให้ตัวอักษรผุดพลุ่งขึ้นมาเอง เกิดการในการเปรียบเทียบข้อมูลหรือ ‘ฐานคิด’ ต่างๆ ขึ้นมาเอง โดยอาจมีการหาข้อมูล ไม่ว่าจะเพื่อเพิ่มเติมรานยละเอียด หรือเพื่อยืนยันความถูกต้องอีกชั้นหนึ่ง โดยต้องรู้มาก่อนพอสมควร ว่าข้อมูลอยู่ตรงไหน จะหาอย่างไร

การเขียนสองแบบนี้ บางทีก็สลับกันไปมา เขียนแบบที่หนึ่งได้เชี่ยวชาญแล้ว บางทีก็ผุดกลายเป็นแบบที่สองไปเลยโดยอัตโนมัติ หรือเขียนแบบที่สองไประยะหนึ่ง ก็อาจเกิดอาการเบลอ ไม่ชัดเจน จึงต้องกลับไปทบทวนขั้นตอนการเขียนแบบที่หนึ่งใหม่อีกที

อย่างไรก็ตาม การเขียนเร็วที่ว่านี้ ใช้ได้กับการเขียน non fiction เฉพาะบทความนะครับ ไม่ใช่การเขียนสารคดีที่ซับซ้อน และไม่ใช่งานเขียนแบบเรื่องแต่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือนิยาย ที่อาจต้องใช้เวลาบ่มเพาะและเขียนมากมาย

ที่สำคัญ วิธีเขียนเหล่านี้สามารถนำไปใช้กับมิติอื่นๆ ในชีวิตได้ด้วย

ใครอยากเขียนเร็ว – ลองเอาไปใช้ดูนะครับ