คุณกำลังอดนอนอยู่หรือเปล่าครับ
สมัยยังวัยรุ่น หลายคนอดนอนได้นานๆ บางทีก็อดนอนข้ามวันข้ามคืน อึดทำงาน (หรือไม่ก็อึดเที่ยวอึดปาร์ตี้อึดเล่นเกม) กันได้ติดต่อกัน บางทีไม่ได้นอนเลยสามวันสามคืนก็มี
ใช่ครับ – ใครๆ ก็รู้ว่าการอดนอนเป็นเรื่องไม่ดีต่อสุขภาพ
แต่ไม่ดีอย่างไรล่ะ?
เพิ่งมีงานวิจัยใหม่ออกมานะครับ โดยคุณ มิเคเล่ เบลเลซี (Michele Bellesi) แห่งมหาวิทยาลัย Marche Polythenic ในอิตาลี เกี่ยวข้องกับเรื่องของการ ‘อดนอน’ นี่แหละครับ
คุณมิเคเล่ศึกษาการอดนอนของหนู และบอกว่าในสมองของหนูนั้น มีเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ต้องเข้าใจกันก่อนนะครับ ว่าเซลล์ประสาทในสมองนั้น จะมีลักษณะคล้ายๆ รากต้นไม้ คือจะมี ‘มือ’ ยืดยาวออกไปหากันเพื่อสื่อสาร แต่มือที่ว่านี่ จะมีลักษณะคล้ายๆ ภาพวาดของมิเกลันเจโลที่ชื่อกำเนิดอดัม คือมือของพระเจ้ากับมือของอดัมไม่ได้แตะกัน เซลล์ประสาทในสมองก็เป็นแบบนั้นเหมือนกันครับ คือตรงบริเวณที่จะเกิดการสื่อสารกันนั้นมันไม่ได้แตะกัน แต่จะมีการส่งสารสื่อประสาทต่างๆ ผ่านกันไปมา บริเวณที่ว่าเรียกว่า ไซแนปส์ (Synaps)
ทีนี้ในสมองของหนู (และที่จริงก็ของคนด้วย) จะมีเซลล์ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า แอสโทรไซต์ (Astrocyte) ซึ่งเป็นเซลล์สมองประเภทหนึ่ง มันจะคอยทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือจะไป ‘ตัดแต่ง’ บริเวณไซแนปส์นี่แหละ ถามว่าทำไมต้องไปตัดแต่งด้วย คำตอบก็คงคล้ายๆ กับการที่เราตัดแต่งกิ่งไม้นั่นแหละครับ เพราะบางทีมันก็ยืดยาวไม่จำเป็นต่อการสื่อสารมากเกินไป และบางทีก็คล้ายๆ กับกิ่งไม้แห้งเหมือนกัน ถ้าไม่ตัดแต่งมันก็จะเป็นเหมือนเศษขยะที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต่อสมองแล้ว
คุณมิเคเล่บอกว่า ในคนที่นอนกันมาเต็มอิ่ม เจ้าแอสโทรไซต์ที่ว่านี้ จะมีอยู่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ คือจะทำงานราวๆ 6% ของไซแนปส์ทั้งหมดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นคนที่อดนอน พบว่าเจ้าแอสโทรไซต์นั้นจะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น คือจะทำงานราวๆ 8% ของไซแนปส์ แต่ถ้าอดนอนนานขึ้นไปอีก จนถึงระดับอดนอนหลายๆ วัน แอสโทรไซต์ก็จะทำงานมากขึ้นได้ถึงราว 13.5% กันเลยทีเดียว
ที่เล่าให้ฟังนี้มันแปลว่าอะไรครับ
มันก็แปลว่า ถ้าเราอดนอนบ้างนิดๆ หน่อยๆ อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะมันกระตุ้นให้เซลล์สมองของเราตัดแต่งเอาสิ่งไม่จำเป็นออกไป แต่ถ้าเราอดนอนมากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เจ้าแอสโทรไซต์อาจทำงานมากเกินเหตุ จนถึงขั้นที่มันตัดแต่งกิ่งไม้มากไป คล้ายๆ กับที่เจ้าหน้าที่ตัดแต่งกิ่งไม้ในกรุงเทพฯ ชอบตัดแต่งจนต้นไม้โกร๋นเหี้ยนนั่นแหละครับ
ที่คุณมิเคเล่เป็นกังวลก็คือ ถ้าหนู (หรือมนุษย์) อดนอนมากเกินไป ก็เป็นไปได้ที่แอสโทรไซต์จะไป ‘กัดกิน’ สมอง (คือกัดกินกันแบบตามตัวอักษรเลยนะครับ) จนอาจเกิดโรคที่เกี่ยวพันกับเซลล์ประสาทในสมองได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางประสาทวิทยาต่างๆ หรือที่น่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุด ก็คือโรคอัลไซม์เมอร์นี่แหละครับ
รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าคุณต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ก็โปรดหาเวลานอนเสียบ้างนะครับ
ถ้าต้องอดนอน ก็ขอให้อดนอนแต่พอดีเถอะครับ!
นอนเท่าไหร่ถึงจะพอ
ลองดูตารางต่อไปนี้นะครับ เป็นตารางที่คุณเจอโรม ซีเกิล (Jerome Siegel) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในอลสแองเจลิส ทำเอาไว้ บอกเราว่าคนในแต่ละช่วงวัยควรนอนนานเท่าไหร่ โดยเป็นตัวเลขคร่าวๆ และจริงๆ ถึงนอนน้อยกว่านี้ก็อาจเพียงพอแล้วในบางคน
เด็กทารก 0-3 เดือน…………………………………..14-17 ชั่วโมง
เด็กวัย 1-2 ปี…………………………………………….11-14 ชั่วโมง
วัยก่อนเข้าเรียน 3-5 ปี……………………………….10-13 ชั่วโมง
วัยเรียน 6-13 ปี………………………………………….9-11 ชั่วโมง
วัยรุ่น 14-17 ปี……………………………………………8-10 ชั่วโมง
ผู้ใหญ่ 18-64 ปี…………………………………………….7-9 ชั่วโมง
สูงวัย 65 ปีขึ้นไป……………………………………………7-8 ชั่วโมง