อีลอน มัสก์ เป็นหนอนหนังสือตัวยง เขาอ่านหนังสือมากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รวมไปถึงประวัติศาสตร์ การเมือง ชีวประวัติบุคคล และอื่นๆ อีกมากมาย
ที่สำคัญ อีลอน มัสก์ แนะนำหนังสือเอาไว้ให้เราอ่านหลายเล่มด้วย ต่อไปนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือที่ อีลอน มัสก์ เคยแนะนำเอาไว้ในที่ต่างๆ เท่านั้นนะครับ
Benjamin Franklin : An American Life
เขียนโดย Walter Isaacson
เล่มนี้เป็นชีวประวัติของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน Founding Father ของอเมริกา แต่คนไทยคุ้นกับการทดลองเรื่องกระแสไฟฟ้าในอากาศของเขามากกว่า
กับเล่มนี้ คุณจะได้รู้จักชีวิต 84 ปี ของเขาอย่างละเอียด ว่าเขาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักการทูต นักเขียน และนักธุรกิจ อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกับชีวิตส่วนตัวที่เอาเข้าจริงแล้วมีเรื่องสนุกๆ ซ่อนอยู่ไม่น้อย แต่กระนั้น เรื่องที่น่าสนใจที่สุดก็น่าจะเป็นการ ‘ประชาสัมพันธ์’ ตัวเองของแฟรงคลิน ที่ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง (โดยที่เขาก็เก่งจริงด้วย)
Merchants of Doubt : How a Handful of Scientists Obscured the Truth on Issues from Tobacco Smoke to Global Warming
เขียนโดย Naomi Orestes และ Erik M. Conway
เล่มนี้สนุก เพราะเปรียบเทียบระหว่างการถกเถียงเรื่องภาวะโลกร้อนในยุคปัจจุบัน (คุณคงรู้ว่ามีคนที่ไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นฝีมือมนุษย์อยู่ อย่างน้อยก็ โดนัลด์ ทรัมพ์ นี่แหละครับ) กับเรื่องอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น การสูบยาสูบ ฝนกรด การใช้ดีดีที หรือการเกิดรอยรั่วของชั้นโอโซนในบรรยากาศ ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ดีจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะเมื่อมันเกี่ยวข้องกับการค้าๆ ขายๆ และเม็ดเงินมหาศาล หนังสือเล่มนี้เคยถูกสร้างเป็นหนังในปี 2014 ด้วยนะครับ
Structures : Or Why Things Don’t Fall Down
เขียนโดย J. E. Gordon
หนังสือเล่มนี้พูดถึง ‘โครงสร้าง’ กันอย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ใช่โครงสร้างสังคมหรือโครงสร้างนิยมอะไรนะครับ ทว่าเป็นการเล่าว่า ทำไมสิ่งต่างๆ มันถึงประกอบกันขึ้นมาเป็น ‘โครงสร้าง’ อย่างที่มันเป็น ตั้งแต่อาคารบ้านเรือนต่างๆ ร่างกายของมนุษย์ของสัตว์ กระทั่งถึงไข่และเครื่องบิน แต่วิธีเล่านั้น เล่ากันแบบง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มาก็อ่านรู้เรื่องด้วย แต่คนที่เรียนเรื่องพวกนี้มาโดยตรงอาจจะไม่ค่อยอินสักเท่าไหร่ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือเบื้องต้นสำหรับวิศวกรรมศาสตร์สายเครื่องกลและโยธาก็ว่าได้
Superintelligence : Paths, Dangers, Strategies
ผู้เขียน Nick Bostrom
หนังสือเล่มนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม อีลอน มัสก์ ถึงแนะนำ เพราะมันนำเสนอเรื่องที่ว่า A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นปัญญาของคอมพิวเตอร์ จะเอาชนะปัญญาของมนุษย์ได้ในเวลาอีกไม่นานนัก เขาบอกว่า ในที่สุด สมองกลก็จะฉลาดทัดเทียมกับมนุษย์ แต่เมื่อไหร่นั้นยังบอกไม่ได้ อาจจะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หรืออีกสองสามศตวรรษก็ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สมองกลฉลาดเท่ามนุษย์ได้แล้ว ถัดจากนั้นมันก็จะฉลาดเกินหน้ามนุษย์ไปอย่างรวดเร็ว และเป็นไปได้ด้วยว่า มนุษย์จะควบคุมความฉลาดของสมองกลไม่ได้ ก็เลยเกิดเป็น Superintelligence ขึ้นมา เล่มนี้เป็นหนังสือดังที่สุดเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับ A.I.
The Foundation Trilogy
เขียนโดย Isaac Asimov
อาซิมอฟเล่าเรื่องของดิสโทเปียในโลกอนาคต เมื่อจักรวรรดิเก่าล่มสลายลง จากที่เคยเป็น Empire ก็กลายเป็นพวกป่าเถื่อน เกิดความโหดร้ายไปทั่วกาแล็กซี่ ทำให้ตัวละครในเรื่องต้องพยายามสร้างรากฐานใหม่ทั้งปวงขึ้นมา ทั้งในเรื่องของศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดเป็นจักรวรรดิใหม่ ซึ่งก็ต้องต่อสู้กับพวกจักรวรรดิเก่าที่มีลักษณะเป็น Barbarism โดยที่หนังสือชุด Foundation มีด้วยกันถึงสามเล่ม
Lord of the Flies
เขียนโดย William Golding
เล่มนี้ก็เข้าข่ายดิสโทเปียอีกเช่นเดียวกัน หลายคนคงรู้จักกันดี แต่สำหรับอีลอน มัสก์ เขาบอกว่าบุคลิกในหนังสือเล่มนี้เหมาะสมนักกับการเป็นนักประกอบกิจการหรือ entrepreneur คือต้องเอาตัวรอดให้ได้ ต้องแข่งขัน และต้องกระหายใคร่มีใคร่ได้ ซึ่งในที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นความอยู่รอดของคนที่แข็งแรงและเหมาะสมที่สุด (?) อย่างที่เกิดขึ้นในหนังสือ