เรื่องของ Trunk : ประวัติศาสตร์กระเป๋าเดินทาง

งาน Time Capsule Exhibition ของ Louis Vuitton (ดูรายละเอียดได้ ที่นี่ ) ทำให้คิดถึง ‘ทรังค์’

ทรังค์ในที่นี้ไม่ใช่ทรัมพ์นะครับ

ถ้าคุณเคยอ่านหนังสือเรื่อง 80 วันรอบโลก ซึ่งเป็นนิยายเลื่องชื่อของจูลส์ เวิร์น คุณน่าจะจำได้ว่า ฟิเลียส ฟ็อกก์ ได้สั่งคนสนิทอย่างพาซีพาร์ตเอาต์ว่า เวลาเดินทางนั้น ไม่ต้องเอา ‘ทรังค์’ ไป ให้เอาไปแต่ ‘กระเป๋าพรม’ (คือ Carpet Bag) หมายถึงกระเป๋าผ้า แล้วเอาเสื้อเชิ้ตไปแค่สองตัว ถุงเท้าสามคู่ ไม่ต้องเอาไปมากมายนัก เพราะจะไปหาซื้อเอาระหว่างทาง

ฟิเลียส ฟ็อกก์ ต้องเดินทางอย่างนั้นเพราะเขาร้อนรน ต้องรีบเดินทางวนกลับมาถึงจุดหมายที่ลอนดอนอีกครั้งให้ได้ภายในเวลา 80 วัน ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าตัวเองทำไม่สำเร็จ จนกระทั่งคิดขึ้นได้ว่า เมื่อเดินทางทวนย้อนข้ามเส้นวันแล้ว จะต้องลดเวลาที่ลอนดอนลงหนึ่งวัน ทำให้จริงๆแล้วเขากลับมาทัน

แต่คนทั่วไปในสมัยนั้น เวลาเดินทาง แค่กระเป๋าผ้านั้นไม่พอหรอกนะครับ แต่ต้องใช้ ‘ทรังค์’ กันทั้งนั้น

คุณอาจสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้น ‘ทรังค์’ (หรือ Trunk) คืออะไรกันแน่

ทำไมฟิเลียส ฟ็อกก์ ถึงไม่ให้เอาทรังค์ไป

ในหนังโปรดตลอดกาลเรื่องหนึ่งของผม คือ The Talented Mr. Ripley ที่มีนักแสดงชั้นยอดหลายคนไปกองรวมกันอยู่ในหนังเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นแม็ตต์ เดมอน, จูดลอว์, กวินเนธ พัลโธรว์ หรือเคต บลานเช็ต ในฉากแรกๆ มีการเดินทางทางเรือข้ามมหาสมุทร ถ้าคุณเคยดู คุณน่าจะจำได้ว่า มีการขนส่งกระเป๋าเดินทางที่มีรูปแบบคล้ายๆ ‘หีบ’ เต็มไปหมด หีบแบบนั้นแหละครับที่เรียกว่า Trunk 

ในเวลานั้น กระเป๋าเดินทางแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันไม่มีอยู่ หากจะเดินทางอย่างมีสไตล์ ก็ต้องเดินทางโดยจัดข้าวของลงไปในหีบ แล้วให้คนรับใช้ยกหีบเหล่านั้นไปที่ท่าเรือ เจ้าหน้าที่จะจัดการนำหีบไปขนส่งต่อให้จนกระทั่งถึงที่หมาย

ในการเดินทางทางเรือ หีบหรือทรังค์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทรังค์ที่ดีที่สุดจะต้องทำจากผ้าแคนวาสที่กันน้ำได้ ทั้งนี้เพราะเวลานำหีบไปเก็บไว้ในห้องสัมภาระ เป็นไปได้ที่จะมีน้ำเข้า ถ้าน้ำท่วมหรือถูกน้ำกระเซ็นเข้ามา หีบหรือกระเป๋าธรรมดาทั่วไปที่กันน้ำไม่ได้ ก็จะเกิดอาการเละเทะภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น แล้วยิ่งถ้าไปวางปะปนอยู่กับหีบอื่นๆ ในเวลาอีกไม่นานก็จะถูกหีบอื่นกระทบกระแทก จนข้าวของข้างในเสียหายไปหมดได้

ด้วยเหตุนี้ การเดินทางโดยใช้ทรังค์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในเวลานั้น

ทรังค์ส่วนใหญ่จะมีขนาดราว 30-36 นิ้ว มีความกว้างราว 16-22 นิ้ว และมีความสูงแตกต่างกันไป แน่นอน ทรังค์เป็นสิ่งที่จะใช้แบกข้าวของเยอะๆในระยะทางไกลๆ เช่น ไปเข้าเรียนในโรงเรียนประจำ หรือเดินทางข้ามสมุทรกันเป็นเดือนๆ 

ตอนที่ เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ ตัวละครในนิยายของ ชาลส์ ดิกเคนส์ ต้องเดินทางจากบ้านไปบ้านชายทะเลของพี่เลี้ยง หรือเดินทางไปเข้าโรงเรียนประจำ ดิกเคนส์ก็บรรยายถึงหีบหรือทรังค์ที่เดวิดใช้เหมือนกัน จะเห็นว่าการใช้ทรังค์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก

แต่ทรังค์ก็เช่นเดียวกับผู้คนสมัยนั้นนั่นแหละครับ มีทั้งทรังค์ชั้นสูง หรูหราร่ำรวย จนกระทั่งถึงทรังค์ที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปใช้ ทรังค์แบบที่หรูจัดๆมีอาทิ Jenny Lind Trunks ซึ่งเป็นทรังค์สุดเก๋ที่มีนาฬิกาทรายติดต้ังไว้ให้ด้วย นอกจากนี้ยังมี Saratoga Trunks ซึ่งเป็นทรังค์ที่สลับซับซ้อน ภายในแบ่งเป็นช่องชั้นต่างๆนับไม่ถ้วน มีลิ้นชัก ถาด และอื่นๆ รวมทั้งแข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ

ทรังค์ที่นิยมใช้กันในเรือโดยสารมีชื่อเรียกว่า Steamer Trunks ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะคือด้านบนต้องแบน รวมทั้งต้องกันน้ำได้เป็นอย่างดี อาจจะทำด้วยหนังหรือผ้าแคนวาส มักจะดีไซน์กันอย่างเก๋ไก๋ให้สอดรับกับชีวิตบนเรือ แต่ถ้าเป็นทรังค์เดินทางของคนทั่วไป เรียกว่า Cabin Trunks ซึ่งมักจะมีขนาดเล็กกว่า เหมาะกับห้องพักขนาดเล็กของคนจนกว่า จะได้สอดทรังค์เหล่านี้ไว้ใต้เบาะได้

ด้วยความที่ทรังค์เป็นกระเป๋าที่ได้รับการออกแบบมาให้แข็งแกร่ง ทนทานต่อการเดินทาง ทุกวันนี้ ทรังค์ของหลายแบรนด์จึงเป็นทรังค์สะสม โดยเฉพาะทรังค์แบบแอนตีค ที่ลือชื่อที่สุดน่าจะเป็น Louis Vuitton Trunk ที่มีความหลากหลายมาก มีทั้งของเก่าและของใหม่ที่ยังผลิตอยู่ ที่เป็นที่นิยมมากๆน่าจะคือ The Monogram Canvas ซึ่งน่าจะเป็นกระเป๋าเจ้าแรกๆที่นำลายโมโนแกรมแบรนด์ของตัวเอง (คือ LV) มาพรินท์ลงไปบนผ้าแคนวาส ทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของหลุยส์ วิตตอง

ทุกวันนี้ เราไม่ได้ทรังค์ในการเดินทางกันอีกแล้ว แต่การนำทรังค์ขนาดใหญ่เล็กมาเรียงซ้อนกันตั้งประดับไว้ในห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ก็ทำให้เราได้รำลึกถึงวันคืนเก่าๆ กับวิธีเดินทางแบบโบราณที่แช่มช้าแต่สง่างามและเต็มไปด้วยเรื่องราวระหว่างทางได้เหมือนกัน

แม้ไม่ได้ใช้แล้ว, แต่ผู้คนก็ยังคิดถึงทรังค์กันอยู่เสมอ

เหมือนอีกหลายเรื่องราวแห่งโลกอดีตนั่นเอง

 


ในงาน TIME CAPSULE ของ Louis Vuitton คุณจะได้พบกับทรังค์หลากหลาย งานี้จัดระหว่างวันที่ 7-25 กันยายน 2017 ที่ Parc Paragon นะครับ ค่าเข้าชมฟรี
ป.ล. ไม่ได้รับค่าโฆษณาใดๆ นะครับ แต่อยากเขียนถึง