เดินทางกับแซลมอน : การเสียดสีชั้นเยี่ยม

เวลาพูดถึง อุมแบร์โต เอโค (Umberto Eco) นักเขียนชาวอิตาเลียน เจ้าของผลงานอย่าง In the Name of the Rose หรือ ‘สมัญญาดอกกุหลาบ’ หลายคนคงนึกว่าเขาเป็นนักเขียนประเภทหนวดเครายาวรุงรัง ใส่แว่นตาอันโต สวมหมวกแบเรต์ ใส่เสื้อคลุมตัวโคร่ง แล้วก็ทำท่าคงแก่เรียน (หรือไม่ก็ถึงระดับคงกระพันกันไปเลย) เป็นผู้รู้โลกรู้สรรพสิ่ง เคร่งขรึมจนเนยแข็งไม่กล้าส่งกลิ่นหืนและก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่น้ำใสไม่กล้าขึ้นอืด

อาจเป็นแบบนั้นในหนังสือใหญ่ๆ ครัดเคร่งของเขาก็ได้ แต่กับหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ และมีชื่อแสนน่ารักเล่มนี้ คุณจะได้เห็นเขาในอีกแง่มุมหนึ่ง

นั่นคือแง่มุมของนักเสียดสี

ลองดูสักนิด กับตอนที่ชื่อ ‘วิธีปรากฏตัวแม้ไม่ใช่คนสำคัญ’ ก็ได้

เอโคเขียนไว้ว่า

 


หลักการคือ “ถ้าพระแม่มารีปรากฏตัวให้คนเห็นได้ แล้วทำไมฉันจะทำบ้างไม่ได้ล่ะ” จากนั้นก็พากันมองข้ามข้อที่ว่าตนเองไม่ได้เป็นหญิงพรหมจารี


 

แสบไหมเล่า?

 

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นิยาย ไม่ใช่เรื่องสั้น แต่เป็นความเรียงที่เรียกว่า non-fiction รวบรวมเรื่องราวแห่งความคิดประหลาดๆ หลุดโลกบ้าง พิสดารบ้าง บ้าบอคอแตกบ้าง, เอาไว้ด้วยกันมากมาย แทบทั้งหมดมีชื่อเรื่องว่า ‘วิธี’ ทำสิ่งต่างๆ (ยกเว้นบทแรก ที่ชื่อว่า ‘เริ่มอย่างไร จบอย่างไร’) เช่น วิธีระวังแม่ม่าย, วิธีไม่คุยเรื่องฟุตบอล. วิธีใช้จุดไข่ปลา, วิธีไม่ใช้แฟกซ์, วิธีปฏิเสธข่าวที่ถูกปฏิเสธ, วิธีลองแล้วลองอีกอย่างมีศักดิ์ศรี, วิธีถกปรัชญาแบบบ้านๆ, วิธีเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป, วิธีปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้งาน, วิธีกินอาหารบนเครื่องบิน หรือกระทั่งวิธีดูว่าหนังเรื่องไหนเป็นหนังโป๊

อ่านแค่ชื่อบทต่างๆ คุณคงรู้สึกได้ถึงอารมณ์เสียดสีที่ปรากฏในชื่อเรื่อง ซึ่งในความเป็นจริง แต่ละบทตอนก็เป็นอย่างนั้น มันคือหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ที่บรรจุไว้ด้วยอารมณ์ขันแสบคันของนักเขียนที่จริงจังที่สุดคนหนึ่งของโลก

น่าเสียดายอย่างหนึ่ง ที่อารมณ์ขันแบบเอโคนั้น ไม่ใช่อารมณ์ขันสำหรับทุกคน ผมเชื่อว่า หลายคนอาจไม่รู้สึกขำขันอะไรกับมุกตลกของเอโค แม้ว่าจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงการเสียดสีแสบสันต์เหล่านั้นก็ตาม

แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมแอบคิดว่า เอโคไม่ได้อยากให้ใครขำ เขาแค่อยากเขียนถึงความ ‘ขำ-คัน’ ของตัวเอง เหมือนที่ตอนหนึ่งในหนังสือบอกว่า A writer writes for writers คือนักเขียนพึงเขียนให้นักเขียนอ่าน ไม่ใช่เขียนให้คนข้างบ้านหรือผู้จัดการธนาคารในละแวกบ้านอ่าน

ดังนั้น เอโคจึงไม่ยั้งที่จะประโคมชื่อ วิธีคิด การทดลองทางความคิด และศัพท์แสงทางวรรณกรรม การเมือง สังคม จิตวิทยา และอื่นๆ อีกมากมายลงไป เพื่อแสดงให้เราเห็นว่า ศิลปะแห่งการเสียดสีแบบเอโค คือการไม่ต้องยั้งมือเรื่องความรู้

ที่ดีที่สุดของหนังสือเล่มนี้ก็คือ เอโคไม่ได้พยายามจะขำตลอดเวลา เขาขำก็เพราะเขาขำ เป็นการหัวเราะเงียบๆ หึๆ อยู่กับตัวเอง ผมคิดว่ามันเป็นความ ‘ขำ-คัน’ ของนักเขียนอินโทรเวิร์ต ที่มองโลกแล้วก็หัวเราะหึๆ ในขณะที่สมอง ‘คัน’ ไปด้วยการบรรยายบอกเล่าชนิดที่ตัวอักษรก็ไม่อาจถ่ายทอดความรู้สึกยุบยิบระหว่างโพรงกะโหลกศีรษะและรักแร้ของเขาออกมาได้

นี่ไม่ใช่หนังสือสำหรับทุกคน แต่อย่างน้อยที่สุด ทุกคนก็ควรได้อ่านเพื่อทดสอบตัวเองว่าคุณมีความ ‘ขำ-คัน’ อยู่ในตัวมากน้อยเพียงใด

 

 


9786169275923
หนังสือเล่มนี้มีชื่อในภาคอิตาเลียนว่า Come viaggiare con un salmone ชื่อในภาคอังกฤษคือ How to Travel with a Salmon ส่วนชื่อไทยคือ ‘วิธีเดินทางกับแซลมอน’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ‘อ่านอิตาลี’ แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ