แผ่นดินไหวในไทยไม่ได้เกิดน้อยกว่าที่อื่นนะครับ เพียงแต่ถ้ามีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ก็ไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไหร่
เมื่อนึกถึงเรื่องแผ่นดินไหว ผมเลยกลับไปดูงานเก่าที่เคยสัมภาษณ์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไว้ในนิตยสาร GM เมื่อปี 2012
แม้จะนานมาแล้ว แต่หลายตอนเป็นความรู้ที่เข้าใจง่าย อธิบายกระจ่างชัด เคลียร์มากๆ น่าแบ่งปันต่อ เลยตัดตอนความรู้บางส่วนมาให้อ่านกันครับ อาจจะยาวหน่อย แต่รับรองว่าสนุกมากๆ
“ถ้าดูพงศาวดารบันทึกต่างๆ จะพบประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่รุนแรงมากๆ เช่น ที่เชียงแสนหรือโยนกนครเคยเกิดแผ่นดินไหวจนเมืองจมไปทั้งเมือง ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีเหลืออยู่ในปัจจุบัน หรือเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่เคยสูงมากถึง 86 เมตร แต่แผ่นดินไหวทำให้เจดีย์ถล่มจนเหลือไม่กี่เมตร นี่เป็นหลักฐานว่าแผ่นดินไหวรุนแรงเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
“เวลาเราคุยถึงรอบการเกิดของแผ่นดินไหวนั้น ในมิติธรณีวิทยาวงจรมันยาวกว่าเราเยอะ โลกเราเกิดมาแล้วประมาณ 3,800 ล้านปี ในขณะที่ 100 ปีของเรา แทบจะเป็นเสี้ยววินาทีของอายุโลก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในช่วงนี้ ในทางธรณีวิทยาถือว่าเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
“วงจรเวลาของโลกกับวงจรเวลาของคนต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่าแปลกที่บังเอิญเกิดในช่วงชีวิตอายุเรา และเราไม่เคยพยายามเตรียมใจเตรียมพร้อมมาก่อนว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ และจะรู้สึกแปลกขึ้นไปอีก ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่อันตรายและน่ากลัว
“ถือเป็นโชคที่รอบกรุงเทพมหานครไม่มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ๆ แต่โชคที่หักล้างกัน คือกรุงเทพฯ และปริมณฑลยาวไปถึงอ่างทอง ลงมาถึงอ่าวไทย ทางด้านซ้ายไปถึงนครปฐม ส่วนด้านขวาถึงชลบุรี เหล่านี้เป็นพื้นที่ดินอ่อนที่ใหญ่มาก มีลักษณะเป็นแอ่งดินตะกอนปากแม่น้ำ มีความหนาประมาณ 8-12 เมตร ซึ่งสามารถรับสัญญาณการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไกลๆได้ แต่โชคดีของกรุงเทพฯ คือแผ่นดินไหวมักจะอยู่ไกล จึงมีผลกระทบเฉพาะอาคารสูง และอาคารสูงส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างมีมาตรฐานดี จึงไม่น่าจะเป็นห่วงมาก”
“ถ้าดูตามรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย จะพบว่าภาคเหนือมีค่อนข้างเยอะเกือบทุกจังหวัด ต้องแยกนิดหนึ่งว่ารอยเลื่อนมีอยู่ทั่วไป แบ่งเป็นมีพลังกับไม่มีพลัง นักธรณีจะต้องไปสำรวจเพื่อดูว่ามีพลังหรือไม่
“ปกติแผ่นดินไหวส่วนใหญ่เกิดในแนวมุดตัว (Subduction Zone) คือ แผ่นมหาสมุทร 2 แผ่น (เช่นแผ่นอินเดียนและแผ่นออสเตรเลียน) มุดเข้าใต้แผ่นยูเรเซียน นี่คือจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น แต่หลังจากที่เราเก็บข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นย้อนหลังตั้งแต่ปี 2516 จนกระทั่งถึงเมื่อประมาณไม่กี่อาทิตย์ที่แล้ว เราพบว่า แผ่นดินไหวเกิดนอกแนวมุดตัวได้ด้วย
“อันที่สอง การเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาด 9 ตามมาตราริกเตอร์ จะมีลักษณะเป็นการชนกันของแผ่นทวีป แต่ที่เกิดในปี 2547 เป็นลักษณะของการเฉือนกัน การเฉือนกันเช่นนี้โดยปกติแล้วมักจะไม่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง ซึ่งถือว่าแปลก
“แม่น้ำหลักๆ ส่วนใหญ่ที่อยู่ตามต้นน้ำมักจะเกิดตามแนวรอยเลื่อน สมมติว่าโต๊ะที่เรานั่งอยู่เป็นโต๊ะกระจก ผมเอาค้อนทุบแล้วเอาน้ำเทลงไป น้ำก็ต้องลงไปในรอยแตก ทำให้รอยแตกใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำ แล้วเราก็ไปสร้างเขื่อนคร่อมแม่น้ำ นั่นแสดงว่าเรามีโอกาสสร้างเขื่อนคร่อมรอยเลื่อน เพียงแต่ว่ารอยเลื่อนนั้นจะต้องเป็นรอยเลื่อนที่หมดพลัง หรือเป็นรอยเลื่อนที่มีการขยับในอดีตน้อยหรือนานกว่าหมื่นปี จึงจะถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่หมดพลัง จึงจะสามารถสร้างเขื่อนได้ ฉะนั้นการสร้างเขื่อนคร่อมรอยเลื่อนไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
“หลายเขื่อนที่ดูข้อมูลพบว่า มีรอยเลื่อนอยู่ข้างใต้ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง มีทฤษฎี Active Faults คือ การที่รอยเลื่อนมีพลังที่อยู่ใกล้ๆ ผลักให้รอยเลื่อนไม่มีพลังกลับมามีพลังอีกครั้งหนึ่งได้ แต่เหตุการณ์เช่นนี้ในเมืองไทยยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่”
“ตามแนวรอยเลื่อนพวกนี้ หินจะถูกเบียด ถูกชน จนกระทั่งมันแตกยุ่ย ทำให้คุณภาพหินบริเวณรอยเลื่อนมีพลังมีคุณภาพต่ำกว่าบริเวณอื่น แค่คุณภาพต่ำกว่า โอกาสที่มันจะพังจากพลังที่เกิดจากการเฉือนตั้งแต่แรกก็มีอยู่แล้ว แล้วแนวรอยเลื่อนมีพลังพวกนี้จะมีความร้อนจากใต้พิภพ บางจุดมีมากกว่าปกติ ความร้อนที่ขึ้นมาจะยิ่งทำให้หินแถวๆนั้นผุสลายเร็วขึ้น และหากเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ ขนาดประมาณ 1-3 ตามมาตราริกเตอร์ ที่คนไม่รู้สึก ก็จะมีส่วน มีหลักฐานจากการทำวิจัยที่เชียงใหม่ว่ามี slope แห่งหนึ่งที่พังลงมา แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการพัง เพราะวันที่พัง ฝนก็ไม่ตก แต่พอไปดูประวัติแผ่นดินไหวย้อนหลัง ปรากฏว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดประมาณ 4 ตามมาตราริกเตอร์หลายครั้งภายในรัศมีใกล้ๆ”