มีอะไรอยู่บนโต๊ะอาหารของคุณบ้าง?
สำหรับบางคน โต๊ะอาหารไม่ได้เป็นเพียงโต๊ะอาหาร ทว่ายังแปลงร่างเป็นโต๊ะทำงาน หรือโต๊ะรับแขกระหว่างเพื่อนพ้องมานั่งสนทนาพาทีด้วย ดังนั้น โต๊ะอาหารของหลายคนจึงรกรุงรัง อาจมีกองเอกสารตั้งพะเนิน หรือมีเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆเกลื่อนไปหมด
ลองเก็บโต๊ะอาหารให้เรียบร้อย ปูโต๊ะด้วยผ้าสีขาวเรียบกริบ (หากเป็นผ้าลินินได้ก็ดี) วางเชิงเทียนสวยๆลงไปตรงกลางโต๊ะ จัดจานและแก้วน้ำ หรือวางแจกันดอกไม้ไว้บนนั้น แล้วคุณจะรู้ว่าโต๊ะอาหารที่เรียบร้อยนั้น ทำให้บ้านดูดีขึ้นได้มากแค่ไหน
ในบางพื้นที่ของโลกแถบตะวันออก โต๊ะอาหารไม่ใช่สิ่งจำเป็นเท่าไหร่นัก คนไทยกินอาหารด้วยการเปิบ และสามารถนั่งกับพื้นได้ อาจมีตั่งเตี้ยหรือขันโตกสักหน่อยก็ช่วยให้การกินอาหารเป็นไปได้อย่างราบรื่นแล้ว คนอินเดียในบางส่วนก็กินอาหารด้วยการเปิบอาหารที่วางอยู่บนใบตองเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมการกินบนโต๊ะอาหารอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น
แต่สำหรับชาวยุโรปในยุคกลางแล้ว โต๊ะอาหารถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบ่งบอกชนชั้นและสถานภาพทางสังคม
คนอังกฤษและคนยุโรปชั้นสูงของยุคกลาง จะอาศัยกันอยู่ในปราสาทหรือไม่ก็คฤหาสน์แบบแมนเนอร์หลังใหญ่ และโต๊ะอาหารถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตทางสังคม เพราะโต๊ะอาหารหมายความถึงการเชื้อเชิญให้แขกได้เข้ามาอยู่ในบ้าน เพื่อร่วมกินดื่ม ในขณะที่ห้องอื่นๆส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความสำราญส่วนตัวหรือในครอบครัวเท่านั้น แต่โต๊ะอาหารไม่ใช่
ยิ่งถ้าเป็นราชวงศ์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องจัดโต๊ะอาหารเอาไว้ในห้องโถงใหญ่ (Great Hall) ของวัง ซึ่งมักจะอยู่ตรงกลางของตัวบ้านหรือวัง และก่อให้เกิดธรรมเนียมของ ‘เจ้าบ้าน’ ในการนั่งที่หัวโต๊ะขึ้นมา ในขณะที่คนอื่นๆนั่งเรียงรายห่างจากตัวเจ้าของบ้านไปตามความชิดใกล้และบรรดาศักดิ์ โดยโต๊ะอาหารในห้องโถงใหญ่มักจะเป็นโต๊ะยาว (อย่างที่เรียกว่า Long Table) ขนาบข้างด้วยเก้าอี้หรือไม่ก็เป็นม้านั่งยาว
โต๊ะอาหารแบบ Long Table นั้น บ่งบอกถึงปริมาณผู้คนที่เข้ามาร่วมโต๊ะว่ามีมากมายแค่ไหน ห้องอาหารที่ใหญ่โตเอกเกริกเช่นนี้จึงมักจะยุ่งวุ่นวาย ต้องมีคนรับใช้คอยดูแล และตามมาตรฐานความสะอาดของยุคกลาง เราน่าจะพอคาดเดาได้ว่าห้องนั้นน่าจะมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก เพราะทุกคนต่างก็ต้องถอดเสื้อเกราะและเสื้อคลุมออก คนจำนวนมากไม่น่าจะได้อาบน้ำกันมาเป็นเดือนๆหรือแม้กระทั่งเป็นปี การจัดโต๊ะอาหารขนาดใหญ่อย่างที่ว่าจึงน่าจะไม่ใช่เรื่องน่าเพลิดเพลินเจริญใจเท่าไหร่นัก และน่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่สำคัญทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดกาฬโรคระบาดในราวศตวรรษที่ 14 จึงได้เกิดพัฒนาการทางรสนิยมขึ้นใหม่ เกิดโต๊ะอาหารขนาดเล็กในห้องนั่งเล่น (Parlor) ขนาดเล็ก เป็นการร่วมโต๊ะในหมู่คนที่สนิทสนมกัน โต๊ะอาหารที่เล็กลง (ไม่ Long Table เหมือนเดิม) ยังเป็นผลมาจากการที่แรงงานเริ่มหายากเพราะผู้คนล้มตายจากโรคระบาด และถัดจากนั้น ระบบฟิวดัลก็เริ่มล่มสลายด้วย ที่สำคัญก็คือ ในอังกฤษนั้นมีประเด็นทางการเมืองพ่วงแถมเข้ามา เพราะในยุคพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด ที่มีการขบถต่อศาสนจักรนั้น ทำให้คนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในท่ามกลางคนหมู่มากได้ ห้องอาหารขนาดใหญ่จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนเดิม
ด้วยเหตุนี้ การกินอาหารในห้องโถงใหญ่อย่าง The Great Hall จึงค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นการกินอาหารในห้องนั่งเล่นขนาดเล็กหรือ Parlor มากขึ้น และต่อมาก็ทำให้กลายเป็นห้องอาหารหรือ Dining Room ขึ้น โดยมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือใช้ในการกินอาหาร ไม่เหมือน The Great Hall ที่ทำหน้าที่อย่างอื่นไปด้วย เช่นเป็นที่ว่าราชการของกษัตริย์
ในศตวรรษที่ 18 เมื่อเสร็จจากการกินอาหารแล้ว ผู้หญิงจะออกจากห้องไปสนทนากันในห้องนั่งเล่น ส่วนผู้ชายจะนั่งพูดคุยกันต่อพร้อมกับดื่มไปด้วย เพราะฉะนั้น ห้องอาหารและโต๊ะอาหารในยุคนี้ จึงมีลักษณะที่แสดงความเป็นผู้ชายมากกว่า เช่น โต๊ะอาหารจะทำจากไม้หนาหนัก ไม่มีลวดลายอ่อนช้อย
ในปัจจุบัน โต๊ะอาหารอาจมีความหลากหลายและมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นตามการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การอยู่ในพื้นที่จำกัด ทำให้ต้องออกแบบโต๊ะอาหารให้มีหลายหน้าที่ แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โต๊ะอาหารจะทำหน้าที่ของมันได้สมบูรณ์ที่สุด ก็เมื่อเจ้าของบ้านได้จัดโต๊ะเอาไว้เพื่อรับรองแขก ไม่ว่าแขกนั้นจะเป็นคนที่ไม่ชิดเชื้อหรือเป็นเพื่อนสนิทก็ตาม
การกินอาหารบนโต๊ะอาหารขนาดใหญ่เพียงลำพังคนเดียวนั้น น่าจะถือได้ว่าเป็นเรื่องเจ็บปวดอย่างหนึ่งของการเป็นสัตว์สังคมที่เรียกว่ามนุษย์เลยทีเดียว!
On the Table
บนโต๊ะอาหารของคุณอาจมีช้อนส้อมและมีด แต่คุณรู้หรือไม่ว่า มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเพื่อรวมเอาหน้าที่ของช้อนส้อมและมีดเข้าไว้ด้วยกันหลายอย่างหลายแนวคิด ตัวอย่างเช่น
Spork : คำนี้มาจาก Spoon + Fork คือเอาช้อนกับส้อมมารวมกัน ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ แต่โดยมากมักมีลักษณะคล้ายๆช้อน โดยที่ตรงปลายจะมีลักษณะเป็นแฉกเหมือนส้อม
Knork : มาจาก Knife + Fork คือรวมเอาคุณลักษณะของมีดและส้อมเข้าไว้ในชิ้นเดียว กล่าวคือมีแฉกเหมือนส้อม แต่มีด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านคม (หรือเป็นฟันเลื่อย) เหมือนมีด เพื่อเอาไว้หั่นอาหาร
Sporf : คำนี้รวมเอาทั้งมีด ส้อม และช้อนเข้าด้วยกัน คือสามารถใช้งานชิ้นเดียวได้ทุกอย่าง เรามักจะเห็นทั้ง Spork, Knork และ Sporf ได้ในเครื่องใช้ประเภทที่เป็นพลาสติก แต่ที่ทำจากเครื่องเงินหรือโลหะก็มีไม่น้อย