1
หากเป็นคนรักหนังสือ ปัญหาใหญ่ในชีวิตที่คุณต้องพบเจอ-ก็คือหนังสือ
ไม่ใช่เนื้อหาสาระในหนังสือที่ทำให้คุณขบคิดใคร่ครวญถึงชีวิตหรอกที่เป็นปัญหา แต่หมายถึง ‘หนังสือ’ โดยตัวของมันเองต่างหากที่เป็นปัญหา
ว่ากันว่า ในบรรดาสรรพสิ่งที่อยู่ในบ้าน หนังสือคือของที่หนักที่สุด
ใช่-น่าขัน ที่เรามักเปรียบเปรยความเบากับกระดาษ ราวกับว่ากระดาษเป็นสิ่งที่เบาบางประดุจอากาศ ทว่าเมื่อกระดาษมารวมตัวกันเข้าเป็นเล่ม และหนังสือแต่ละเล่มมารวมตัวเข้าเป็นตั้งละก็…
ห้องสมุดที่ ‘ทรุด’ (ฝรั่งใช้คำว่า Sink หรือ ‘จม’ ลงไปใต้ดิน) นั้นมีอยู่จริง ห้องสมุดแห่งหนึ่งในไวโอมิงนั้นทรุดตัวลงด้วยเหตุที่มันสร้างอยู่บนพื้นที่สุสานเก่า และอีกแห่งหนึ่งในคอนเน็กติกัตที่ทรุดตัวลงหลังสร้างได้ไม่นาน แต่คำถามก็คือ มันเกิดขึ้นเพราะน้ำหนักของหนังสือจริงหรือ
หากเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ การทรุดตัวเพราะหนังสืออาจเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เพราะมีการออกแบบรองรับน้ำหนักมาแล้วเป็นอย่างดี ต้องเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆเท่านั้นจึงจะเกิดขึ้นได้ และหลายครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะหนังสือ อย่างห้องสมุดในคอนเน็กติกัตที่ว่านั้น เมื่อสืบสาวราวเรื่องเข้าจริงๆ พบว่าเกิดจากการใช้อิฐที่มีน้ำหนักมากในการสร้างมากกว่าหนังสือ
แต่หากเป็นบ้านทั่วๆไปเล่า-มีการคำนวณน้ำหนักของหนังสือเผื่อเอาไว้ด้วยหรือเปล่า, หลายคนเป็นกังวล
คำตอบก็คือ บ้านโดยทั่วไปน่าจะรับน้ำหนักของหนังสือได้ไม่น้อย แต่กระนั้น ถ้าจะสร้างห้องสมุดหรือห้องเก็บหนังสือขนาดใหญ่ คุณควรดูว่าบ้านได้รับการออกแบบมาให้รับน้ำหนักได้กี่กิโลกรัมต่อตารางเมตร แล้วคำนวณดูว่าหนังสือของคุณมีน้ำหนักเท่าไหร่ ซึ่งนั่นก็จะขึ้นอยู่กับความสูงของชั้นหนังสืออีกต่อหนึ่ง
2
ทุกวันนี้ ชั้นหนังสือที่เราใช้กันโดยทั่วไป มักมีลักษณะเป็นชั้นเคลื่อนที่ได้ ส่วนใหญ่เป็นชั้นขนาดเล็ก มีหน้าแคบ แล้วนำมาวางเรียงต่อกันให้กลายเป็นแผงใหญ่เหมือนกับตู้หนังสือขนาดใหญ่
แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่ม เมื่อชั้นหนังสือเริ่มถือกำเนิดขึ้นมา เราจะพบว่ามีการออกแบบห้องสมุด (ต่อให้เป็นห้องสมุดส่วนตัว) ที่มีขนาดใหญ่ โดยเป้าหมายไม่ได้มีไว้เก็บหนังสือเพื่อการอ่านมากเท่าเก็บหนังสือไว้เพื่อการ ‘โชว์’
ห้องสมุดในปลายยุคโรมันจะเก็บหนังสือโชว์สัน สันหนังสือมักจะอลังการโอ่อ่ามาก ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ ประดับประดาด้วยงาช้าง แล้ววางเรียงเป็นตั้งสูงจรดเพดาน แม้จะมีมากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ที่จารึกด้วยมือ และมีไว้เพื่อเก็บเท่านั้น คนทั่วไปแทบไม่ได้หยิบหนังสือเหล่านี้ออกมาอ่านเลย
ชั้นหนังสือเก่าแก่อีกแบบหนึ่งเป็นชั้นหนังสือรูปหลายเหลี่ยม เช่นแปดเหลี่ยมหรือหกเหลี่ยม อาจจะหมุนได้ด้วย เป็นชั้นหนังสือที่คิดค้นขึ้นมาในประเทศจีนโบราณ เป้าหมายก็คือเอาไว้เก็บเอกสารแบบจีนที่มีลักษณะเป็นม้วน เอกสารส่วนใหญ่ที่เก็บกันก็คือพระไตรปิฎก
ในสมัยก่อนโน้น เรายังไม่มีหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นเล่มๆเหมือนในสมัยนี้ หนังสือส่วนใหญ่เป็นลายมือเขียน จึงไม่ได้มีปริมาณมากมายอะไร มักมีลักษณะเป็นคล้ายๆไดอารี่มากกว่า คนนิยมเก็บเอาไว้ในลิ้นชักหรือหีบเล็กๆ หรือไม่ก็เก็บเอาไว้ในตู้เก็บถ้วยชาม
แต่ครอบครัวไหนที่ร่ำรวย มีหนังสืออยู่ในครอบครองมากๆ ในที่สุด หนังสือในตู้เก็บถ้วยชามก็เบียดพื้นที่ถ้วยชาม จนทำให้ตู้นั้นกลายเป็นตู้หนังสือไปในที่สุด
ในระยะแรก หนังสือยังจัดเก็บกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ขนาดของเล่มก็คละเคล้าแตกต่างกันไป คนจึงมักวางหนังสือซ้อนๆกองๆเอาไว้ในตู้มากว่าจะจัดเก็บเรียงให้สวยงาม จนกระทั่งมีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ และมีการพิมพ์หนังสือขายจริงจังนั่นแล้ว หนังสือจึงเริ่มมี ‘ขนาด’ ที่เท่าๆกัน ทำให้ตู้หนังสือเริ่มมีลักษณะในแบบที่เห็น คือมีการจัดเรียงหนังสือสอดเก็บเข้าไปเห็นแต่สันปก ซึ่งแม้จะมีลักษณะคล้ายห้องสมุดของชาวโรมัน แต่จุดประสงค์นั้นแตกต่างกัน ของชาวโรมันเป็นไปเพื่ออวด แต่ของคนสมัยใหม่เป็นไปเพราะไม่มีเนื้อที่มากพอที่จะเก็บแบบเดิม
นั่นคือประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อของชั้นหนังสือ
3
มาถึงยุคปัจจุบัน ชั้นหนังสือสมัยใหม่มักมีลักษณะเป็นชั้นแบบน็อคดาวน์ที่สามารถนำมาเรียงต่อกันได้ ที่จริงแล้ว ชั้นหนังสือแบบนี้เรียกว่า Barrister’s Bookcase หรือชั้นหนังสือของบาริสเตอร์
บาริสเตอร์ไม่ใช่บาริสต้านักชงกาแฟ แต่เป็นคำเรียกอาชีพนักกฎหมายแบบหนึ่ง บาริสเตอร์นั้นต้องใช้หนังสือกฎหมายมากมายในการทำงาน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการแยกหนังสือออกเป็นประเภทต่างๆ ทำให้เกิดการสร้างตู้หนังสือขนาดเล็กขึ้นมาเพื่อแยกหนังสือแต่ละประเภท
ตู้หนังสือของบาริสเตอร์นั้น จะนำมาเรียงติดกันก็ได้ หรือจะวางแยกกันอยู่ก็ได้ โดยมากมักมีการเคลื่อนย้ายตู้ที่ต้องใช้งานไปตามที่ต่างๆ ต่อมาตู้หนังสือของบาริสเตอร์จึงกลายมาเป็นต้นแบบของตู้หนังสือสมัยใหม่
4
มีผู้กล่าวไว้ว่า ชั้นหนังสือนั้นไม่ได้บรรจุไว้แต่หนังสือ ทว่ามันคือการบรรจุไว้ซึ่ง ‘ตัวตน’ ของผู้เป็นเจ้าของหนังสือเหล่านั้น
ดังนั้น การเดินเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งแล้วพบว่าชั้นหนังสือของบ้านหลังนั้นมีหนังสืออะไรบ้าง-ก็คือการบอกกล่าวกับเราว่าเจ้าของบ้านนั้นเป็นใครนั่นเอง