ขอขอบคุณความเกรียนในโซเชีลมีเดีย

เอาเข้าจริง ก็อยากขอบคุณความคิดเห็นต่างๆในโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เราเห็น ‘จิตใต้สำนึกร่วม’ (หรือจะเรียกว่า ‘สันดานร่วม’ ก็น่าจะได้) ของคนในสังคมได้ชัดขึ้น

มนุษย์เป็น fragmented being คือมีหลายเสี้ยวส่วนในตัว

โซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นเสี้ยวโน้นเสี้ยวนี้ที่เห็นได้ยากในสถานการณ์อื่น ไม่ง่ายนักหรอกที่จะได้เห็นคำหยาบ คำด่าทอ ตรรกะวิบัติ ฯลฯ ในเวลาที่เราพูดคุยกันต่อหน้าและมีมารยาทอื่นๆควบคุมอยู่ แต่โซเชียลมีเดียช่วยให้คนปลดปล่อยระบายสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ง่ายขึ้น

และดังนั้น-เราจึงได้เรียนรู้ว่า fregmented self อื่นๆของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพื่อรังเกียจหรือ เพื่อเหยียด หรือเพื่อโกรธเคืองใส่ แต่แค่เพื่อให้ ‘รู้’ ว่าความซับซ้อนในตัวคนแต่ละคนนั้นมากมายมหาศาลเพียงใด

เวลาเราเห็นความเห็นที่ซับซ้อนแตกต่างในโซเชียลมีเดีย บ่อยครั้งเรารู้สึกอารมณ์เสีย หงุดหงิด อยากเถียง อยากเกรียน อยากแปลงร่างเป็นโทรล อยากก่อกวน อยากกระทืบความเห็นของอีกฝ่ายให้จมดิน

บางคนรู้สึกอย่างนี้แล้วทำผ่านการพิมพ์ บางคนแค่หงุดหงิดแล้วบ่น แต่ถ้าเราหงุดหงิด ก็อาจเป็นได้ว่าความหงุดหงิดนั้นเกิดจากความ ‘อยาก’ ให้คนอื่นเป็นไปดังใจเรา แต่เมื่อเขาไม่เป็นไปอย่างนั้น เราก็เซ็งและโกรธ

ในเวลาเดียวกัน ความ ‘อยาก’ ให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ซับซ้อนด้วยเหมือนกัน เพราะการบอกว่าคนอื่น ‘ควร’ ทำอะไรอย่างไรหรือไม่ทำอะไรอย่างไรนั้น มักวางอยู่บนพื้นฐานศีลธรรม ความเชื่อ และอุดมการณ์บางอย่างของเรา

เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะยอมรับว่า ศีลธรรม ความเชื่อ หรืออุดมการณ์เหล่านั้นนั่นแหละ ที่มี flaw บางอย่าง และอาจเป็นตัวการก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นทั้งภายในตัวเราและภายนอกด้วย

การแค่ ‘รู้’ (หรือ ‘รับรู้’) ว่าคนอื่นคิดอย่างไร ตัวเราคิดอย่างไร โดยไม่เอา fragmented self ทั้งของตัวเราและของคนอื่นไปพัวพันตัดสินกันและกันเพื่อบอกว่าใคร ‘ควร’ ต้องทำหรือไม่ทำอะไร-ไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งเราทำได้ แต่บางครั้งก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ทำได้ เราก็อาจ ‘เห็น’ และ ‘รับรู้’ โดยไม่ต้องรู้สึกหงุดหงิด

ยิ่งกว่านั้น เราอาจรู้สึกขอบคุณด้วยซ้ำ ที่จิตใต้สำนึกร่วมอันซุกซ่อนที่เผยแสดงออกมานั้น ทำให้เรามีโอกาสได้เห็น fragmented self ของผู้อื่น ของสังคม และที่สุดก็คือของตัวเราเอง,

ในแบบที่เราอาจมองเห็นได้ยากถ้าไม่มีโซเชียลมีเดีย