ชั่วชีวิตนี้ ผมมีครูอยู่มากมาย
ครูแต่ละคน รวมถึงแต่ละสิ่ง ล้วนสอนบทเรียนต่างๆให้ผมต่างกันออกไป
ครูคนหนึ่งเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ เขาอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสายหนึ่ง ในดินแดนอันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และบอกผมว่า เขาจำเป็นต้องเป็นทหาร จำเป็นต้องฆ่าคน เพื่อนำเงินไปเลี้ยงครอบครัว
ครูอีกคนหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงบนยอดเขาสูง สูงลิบอยู่ในเทือกหิมาลัย เธอวิ่งเล่นเริงร่า และใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมากจนผมแปลกใจ เธออายุยังไม่ถึงสิบขวบ ทว่ามีแววตาร่าเริงสดใส เบิกบานและชาญฉลาด เธอบอกผมว่า เธออยากเป็นหมอ ผู้คนรอบข้างของเธอที่ยากจนและยากไร้ คือแรงบันดาลใจให้เธอ
น่าแปลก ที่ครูจริงๆ ผู้สอนในโรงเรียนบางคน กลับเป็นแรงบันดาลใจในด้านลบให้กับผม ผมจำได้ว่าครูบางคนอยากได้ของขวัญที่ผู้ปกครองนำไปให้ในวันปีใหม่หรือวันครู หรือโอกาสพิเศษอะไรก็ลืมไปแล้ว ครูอยากได้มากจนประกาศกับนักเรียนประถมว่าอย่าลืมให้พ่อแม่นำของขวัญมาให้ครูด้วย และเมื่อครูได้ของขวัญมา วันรุ่งขึ้นครูก็จะมาบอกว่าชอบของขวัญของพ่อแม่ใครที่สุด เด็กยากจนที่พ่อแม่ไม่ได้มีของขวัญดีๆมาให้ก็ได้แต่หน้าม้านไปเมื่อครูไม่เอ่ยถึง
ผมว่าครูแบบนั้นโหดร้ายเกินไป แม้ว่าผมจะได้รับบทเรียนบางอย่างว่าด้วยความเป็นมนุษย์จากครูท่านนั้นไปพร้อมกันด้วยก็ตามที
บางคราวครูก็แฝงตัวมาในรูปของสัตว์ตัวเล็กๆ เช่นตัวกะปิในดินที่ชอบวิ่งกรูกันขึ้นมาบนผิวดิน ยามที่ผมรดน้ำต้นไม้
พวกมันไม่ชอบความเปียก แต่ก็น่าแปลก ที่มันอาศัยอยู่ในดินชื้นๆ หน้าที่ของพวกมันคือการกัดกินซากพืช เช่นใบไม้แห้งที่กำลังผุ ความผุเป็นหน้าที่ของแบคทีเรียในดิน แต่แบคทีเรียก็ยังทำงานช้าเกินไป ตัวกะปิจึงช่วยทำงานด้วยการกินแล้วขับถ่ายออกมา เปลี่ยนสารอินทรีย์ให้เป็นสารอนินทรีย์ อันเป็นสารที่พืชนำไปใช้งานได้ พวกมันจึงเป็นตัวสร้างปุ๋ยโดยแท้ แม้ว่าหน้าของพวกมันจะดูน่าเกลียด ตัวรีๆ มีขาเหมือนเห็บ ไม่มีความสวยงามใดๆเลย
แต่ผมก็เชื่อว่าพวกมันมีความฝันไม่ต่างจากผีเสื้อ
อย่างน้อยที่สุด พวกมันคงฝันอยากจะอยู่ในดินที่ชื้นพอเหมาะ ไม่เปียกแฉะจนต้องวิ่งหนีกรูกันออกมาในยามที่ถูกรดน้ำ
สำหรับผม ครูอย่างตัวกะปิ คือครูที่น่ารัก
บางครั้งครูก็แฝงตัวมาในรูปของใบไม้ โดยเฉพาะยามที่ใบไม้นั้นเปลี่ยนร่างกลายเป็นสีน้ำตาลกรอบ แลดูแห้งเหี่ยว ผมเคยเห็นบึงบัวแห่งหนึ่งในสวนเซ็น ทุกแห่งในสวนนั้นสวยงาม เรียบร้อย สะอาดสะอ้าน แต่ไฉนเลยบึงบัวนั้นจึงเต็มไปด้วยใบบัว ดอกบัว และซากร่างของพืชพรรณชนิดนั้นที่มีทั้งเขียว เพิ่งผลิ ที่โรยรา และที่ตกจมลงไปในปลักตม
มันเป็นบึงบัวที่ไม่สวยเลย
แต่ตั้งอยู่ในสวนเซ็นแสนสวย
มันคืออะไรกันนะ
เพียงแวบเดียวที่เห็น ผมรู้สึกได้ทันทีถึงความสั่นสะเทือนบางอย่าง มันคือภาพของวัฏสงสาร ภาพของการเกิดและเวียนว่ายอยู่ในแอ่งทุกข์ของบึงแห่งนั้น
ต่อให้บึงนั้นตั้งอยู่ในสวนสวยเพียงใด ต่อให้ดอกบัวมีชั่วเวลาแห่งการเบ่งบานงดงามเพียงใด ก็ไม่ได้แปลว่าบัวเหล่านั้นจะไม่ทุกข์
เพียงผุดขึ้นมาจากตมก็ทุกข์แล้ว
คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็คือ แล้วเรา-ซึ่งเปรียบเสมือนบัวเหล่านั้น จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในบึงเล็กๆ ที่นับวันก็จะตื้นเขินมากขึ้นทุกทีๆ จนวันหนึ่ง บึงนั้นก็อาจไม่เหลืออยู่อีกต่อไป
นั่นทำให้ผมนึกถึงขงจื่อ
ทุกๆวันเราตรวจสอบตนเองในสามเรื่อง เมื่อทำเพื่อผู้อื่น ได้ทำด้วยความสัตย์ซื่อภักดีหรือไม่ เมื่อคบมิตรสหาย ขาดสัจจะหรือไม่ เมื่อรับสืบทอดความรู้มา มิได้นำไปปฏิบัติหรือไม่*
ขงจื่อเป็นนักปรัชญาจีน แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความเป็น ‘ครู’ อยู่เต็มเปี่ยม ท่านสอนผู้คนเรื่องการดำรงอยู่ ท่านไม่ได้สอนว่า เราจะออกไปพ้นจากบึงบัวอย่างไร แต่ท่านสอนว่า เมื่อตระหนักรู้ถึงความเป็นบัวในบึงนั้นแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรบ้าง
อาจารย์ตกปลาแต่ไม่ใช้แห อาจารย์ยิงนกแต่ไม่ยิงนกที่เกาะนิ่งอยู่บนกิ่งไม้*
รับใช้บิดามารดา ทัดทานได้อย่างสุภาพ เมื่อเห็นว่าไม่ทำตามความประสงค์ ยังคงความเคารพไว้ ไม่ขัดขวาง พากเพียรต่อไป แต่ไม่ปริปากบ่น*
เมื่อบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ไม่เดินทางไกล ถ้าเดินทาง ต้องบอกหลักแหล่ง*
เมื่ออยู่ต่อหน้าวิญญูชนมีข้อชวนผิดพลาดได้ง่ายสามประการ พูดเมื่อยังไม่ถึงเวลาควรพูด นี่เรียกว่าด่วนพูด ไม่พูดเมื่อถึงเวลาควรพูด นี่เรียกว่าปิดบัง พูดโดยไม่ดูสีหน้าผู้ใหญ่ นี่เรียกว่าตาบอด*
ที่จริงผมไม่ค่อยเชื่อนักหรอก ว่าการอยู่ ‘อย่างไร’ นั้นสำคัญกว่าการอยู่ ‘เพื่ออะไร’ แต่บึงบัวในวันนั้นบอกผมว่า ก็เพราะ ณ ขณะที่เราอยู่ด้วยกันในบึงบัวนั้นอย่างไรเล่า – ที่เป็นปัจจุบันขณะ และปัจจุบันขณะ ก็คือการที่เราได้อยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ไม่ใช่ในอนาคตอันไกลโพ้นไหน ไม่ใช่ในความมืดมนอนธการใต้ปลักตมที่ไหน
ขณะนี้เราเป็นต้นบัวที่งอกตัวขึ้นมา จะผุดพ้นเหนือน้ำหรือไม่ยังไม่สำคัญเท่ากับเราต้องตระหนักรู้ให้ได้เสียก่อนว่าเราอยู่ตรงไหนในบึงบัวนั้น และการอยู่ตรงนั้นของเราได้ส่งผลอะไรแก่กิ่งก้านบัวอื่นๆบ้างไหม
ขงจื่อสอนเราเรื่องนี้
ท่านไม่ได้ไปไกลเกินกว่าชีวิตนี้ และกล่าวอย่างซื่อสัตย์ ผมคิดว่าการที่ท่านอยู่ตรงนี้กับเรา ในบึงบัวของความหลากหลายและแตกต่างนั้น ท่านได้สร้างคุณูปการไว้ให้กับเรา ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมบัวได้อย่างสงบสุข
แม้ว่าในที่สุดแล้ว วันหนึ่ง บึงบัวนั้นจะตื้นเขิน และไม่มีบัวต้นไหนเหลือรอดอยู่อีก แต่ก็จะมีไม้พันธุ์ใหม่ขึ้นทดแทน และปัจจุบันขณะของไม้พันธุ์ใหม่เหล่านั้นก็ยังสามารถใช้คำสอนของขงจื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไปได้อีกไม่รู้จบ
ครูของผมมีหลากหลาย
ชั่วชีวิตนี้ผมมีครูอยู่มากมาย
ขงจื่อเป็นครูท่านหนึ่ง
เป็นเพียงครูท่านหนึ่ง…
หมายเหตุ : * ข้อความจากหนังสือชื่อ หลุนอี่ว์ : ขงจื่อสนทนา / แปล เรียบเรียง โดย สุวรรณา สถาอานันท์
/ สำนักพิมพ์ : Openbooks
‘หลุนอี่ว์’ คือคัมภีร์อันเป็นบทสนทนาต่างๆของขงจื่อกันลูกศิษย์และบุคคลอื่นๆ มีการรวบรวมเอาไว้เป็นเล่มที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ข้อความต่างๆนั้นสั้น กระชับ สามารถเปิดอ่านตรงไหนก็ได้ ล้วนแต่จะได้ข้อคิดเตือนใจทั้งสิ้น แต่คุณค่าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือบทนำของผู้แปล ซึ่งเป็นอาจารย์ปรัชญาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งท่านได้ให้อรรถาธิบายเรื่องราวต่างๆ เช่น บริบททางสังคมและวัฒนธรรมในยุคนั้น การแนะนำตัวศิษย์ที่ร่วมสนทนา เบื้องหลังแนวคิดต่างๆของขงจื่อ ฯลฯ ทำให้การอ่าน ‘หลุนอี่ว์’ นั้น เป็นไปอย่างลึกซึ้งแยบคายมากเป็นร้อยเท่าทวีคูณ รวมถึงการทำเชิงอรรถที่ละเอียดถี่ถ้วน ประหนึ่งเป็นคัมภีร์ซ้อนคัมภีร์อีกชั้นหนึ่ง กับภาคผนวกภาษาจีนครบถ้วน หนังสือเล่มนี้จึงพูดได้ว่าเป็นหนังสือคลาสสิคที่ควรค่าแก่การสะสมและหยิบมาอ่านบ่อยๆเป็นที่สุด