10 หนังสือชีวประวัติที่ไม่ควรพลาด

หลายคนชอบอ่านหนังสือชีวประวัติ ทั้งที่เป็นแนว Biography และ Memoir ของฝรั่ง แต่บ่นว่าของไทยไม่ค่อยมี เลยอยากแนะนำหนังสือชีวประวัติ 10 เล่ม ต่อไปนี้ให้คุณลองหามาอ่านกันครับ

ชีวประวัติไม่ได้มีแค่ประวัติของคนคนนั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุการณ์บ้านเมืองสำคัญๆ หลายอย่างเป็นเกร็ดเอาไว้ให้เก็บเกี่ยวด้วย โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจ แต่ใส่เข้าไว้เป็นรายละเอียด โดยอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือเป็นแก่นแกนชีวิต แต่สิ่งเหล่านั้นนั่นแหละที่สำคัญมากต่อผู้อ่านในยุคหลัง

10 เล่ม ต่อไปนี้อาจจะหาอ่านได้ยาก (บางเล่มก็ถึงขั้นไม่น่าจะหาได้เลย) แต่ลองดูนะครับ

 


DSCF2999

 

ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร : เล่มนี้ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นชีวประวัติของคุณหญิงมณี เจ้าของที่ดินที่เป็นที่ตั้งของตึก ‘มณียา’ ตรงราชประสงค์ ผู้สมรสสามครั้งกับ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต, พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ และพลตรี นายแพทย์ปชา สิริวรสาร พระองค์แรกเป็นโอรสบุญธรรมในรัชกาลที่ 7 พระองค์ที่สองเป็นพระเชษฐาของพระองค์แรก ทำให้คุณหญิงมณีมีโอกาสถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองขณะประทับอยู่ที่อังกฤษ จึงมีรายละเอียดเหล่านี้ที่น่าสนใจและ ‘สนุก’ มาก


 

 

DSCF3001

 

 

 


เกิดวังปารุสก์ :
เล่มนี้คุณพลาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นหนังสือพระประวัติในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์แล้ว ยังบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ไทยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อด้วยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

 


 

 

DSCF2997

 

 

 

เจ้าจอมก๊กออ : เขียนโดย ดร.กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ เล่าเรื่องของเจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งเป็นพี่น้องในสกุลบุนนาค และได้ถวายการรับใช้ใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าจอมก๊กออ’ หนังสือเล่มนี้เล่มนี้ค้นคว้ามาอย่างดี ให้ภาพและรายละเอียดในแบบที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน


 

DSCF2991

 

 

 

 

จากยมราชถึงสุขุมวิท : เหตุการณ์ใน 5 รัชกาล : เล่มนี้เป็นงานเขียนของคุณประสงค์ สุขุม ซึ่งบอกเล่าประวัติของต้นตระกูลสุขุม อย่างเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต่อด้วยพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยถึง 5 รัชกาล

 


 

DSCF2996

 

 

 

ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น : หนังสืออัตชีวประวัติของ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นการเล่าเรื่องชีวิตที่ผูกพันใกล้ชิดกับ ปรีดี พนมยงค์ ทั้งในยามรุ่งเรืองและเมื่อต้องหนีออกนอกประเทศ นอกจากรายละเอียดชีวิตแล้ว ยังมีรายละเอียดและข้อสังเกตในเชิงสังคมที่มีคุณค่ามหาศาล


 

DSCF2995

 

อำนวย วีรวรรณ เล่าเรื่องสมมติในอดีต : เล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติ ที่ อำนวย วีรวรรณ เขียนด้วยตัวเอง ถ้าใครไม่รู้จัก อำนวย วีรวรรณ ก็น่าจะรู้จักลูกชาย คือ ถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นอย่างดี อำนวย วีรวรรณ เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี และเป็นขุนพลด้านเศรษฐกิจของประเทศหลายยุคสมัย คร่ำหวอดอยู่ในวงการการเมืองมานาน หนังสือเล่มนี้ถึงบอกว่าเป็น ‘เรื่องสมมติ’ แต่ก็มีข้อมูลลึกๆ ที่จริงยิ่งกว่าจริงเกี่ยวกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสมัยโน้น (ซึ่งบางคนก็ยังมีชีวิตอยู่) หลายเรื่อง

 


 

DSCF2998

 

 

 

 

พุทธบูรณา ชีวประวัติพุทธทาส ฉบับท่าพระจันทร์ : เขียนโดย สุวินัย ภรณวลัย เป็นเล่มที่เล่าประวัติของท่านพุทธทาสผ่านสายตาของผู้เขียนซึ่งปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น

 


 

DSCF2994

 

 

มะเร็งขึ้นสมองใครอ่านหนังสือ ‘เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ’ ที่ผมแปล อาจจะอยากอ่านงานประเภทนี้ที่คนไทยเขียนบ้าง เล่มนี้เป็นบันทึกชีวิตของ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทอมรินทร์ฯ แม้ชื่อหนังสือจะพูดถึงอาการป่วยไข้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่เนื้อหาโดยรวมคือชีวิตตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มก่อร่างสร้างตัว แนวคิดในการขยายและทำธุรกิจ โดยมีเรื่องอาการเจ็บป่วยบันทึกไว้ในช่วงท้าย

 


 

DSCF2993

 

 

 

โลกส่วนตัวของ ป.อินทรปาลิต : ใครๆ ก็ต้องรู้จักหัสนิยายชุด ‘สามเกลอ’ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าผู้เขียน คือ ป.อินทรปาลิต มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เล่มนี้ ปริญญา อินทรปาลิต ซึ่งเป็นหลานชาย มาเขียนเล่าถึง ‘ปู่’ ของตัวเอง เรื่องที่ตลกดีก็คือ นิยายเรื่อง ‘เสือใบ’ เคยถูกสันติบาลเรียกพบด้วย เพราะสันติบาลเห็นว่าโจรจะมาเก่งกว่าตำรวจไม่ได้!


 

DSCF2992

 

 

ชีวิตที่เลือกไม่ได้ : อัตชีวประวัติของ อ.กรุณา กุศลาสัย ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอินเดีย ภาษาฮินดี และสันสกฤต ชีวิตที่เลือกไม่ได้ คือชีวิตที่ได้ไปเรียนที่อินเดียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเกิดความผกผันเพราะสงคราม ก่อนจะกลับมาทำงานให้รัฐบาลไทย แต่แล้วก็ต้องติดคุกเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทว่าในบั้นปลายก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญคนสำคัญของไทย