ศัลยกรรมกับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์

ดูรายการ The Doctor แล้วตกใจนิดหน่อย

เพราะเขาเอาผู้หญิงวัย 70 ปี ที่ทำศัลยกรรมทั้งตัวโดยมีเป้าหมายอยากให้หุ่นเหมือน Jessica Rabbit และหน้าเหมือนบาร์บี้ (เธอทำงานในวงการบันเทิง และทำเงินจากรูปร่างหน้าตาประมาณนี้) มาสัมภาษณ์

ก่อนหน้านี้ ผมเคยได้ข่าวนางแบบชาวสวีเดนที่ไปผ่าตัดคล้ายๆ กัน เธอชื่อ Pixee Fox เธออยากมีหุ่นแบบที่เรียกว่า Hourglass Figure หรือหุ่นแบบนาฬิกาทราย (คล้ายๆ ตัวการ์ตูนชื่อ Jessica Rabbit) เธอก็เลยไปตัดซี่โครงออกหกซี่ (ข้างละสามซี่) จะได้มีหุ่นแบบนี้

คำถามก็คือ เราเอาแนวคิดเรื่องหุ่นนาฬิกาทรายมาจากไหน

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันเริ่มมาจากแฟชั่นยุควิคตอเรีย (ซึ่งพ้องพานกับการเป็นยุคที่เคร่งศีลธรรมสุดๆ) ยุคนั้น ผู้หญิงต้องใส่คอร์เซ็ทรัดทรงกันแบบแน่นมากๆ เพื่อให้เอวเล็ก

ใน ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ เล่าถึงแม่ของเธอเอาไว้อย่างภาคภูมิใจว่า แม่เอวเล็กมาก คือมีรอบเอว 22 นิ้ว พ่อสามารถเอามือสองมือไปกำรอบเอวแม่ได้เลย ซึ่งนี่ก็คงเป็นอิทธิพลของยุคนั้น จะว่าไป เอวแม่ของลอร่าก็อาจคล้ายๆ เอวของ Pixee Fox นี่แหละ เพียงแต่แม่ของลอร่าไม่ได้ตัดซี่โครงออกเท่านั้น

ในปี 1931 เคยมีช่างทำคอร์เซ็ตคนหนึ่งที่กล่าวหาว่านักแสดงฝรั่งเศสคนหนึ่งไปตัดซี่โครงคู่ล่างสุดออก เพื่อจะได้ใส่คอร์เซ็ตได้สวยมากๆ แต่ก็ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริง

เรื่องแบบนี้ เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองมองว่าเป็น Distortion of Femal Body หรือการทำให้ร่างกายของผู้หญิงต้องบิดผันไป เกิดขึ้นเพราะการกำกับของลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ แต่เฟมินิสต์สายอื่นๆ ก็มีมุมมองอื่นๆ แตกต่างออกไป

ข่าวลือที่ประหลาดดีก็คือ การลือว่านักแสดงอย่างมาริลีน แมนสัน ให้แพทย์เอาซี่โครงออก (ไม่รู้ว่ากี่ซี่) เพื่อที่เธอจะได้ทำ ‘อัตโอษฐกามกิริยา’ (Autofellatio) คือก้มตัวลงไปใช้ปากทำรักให้ตัวเองได้สะดวก

แชร์ (Cher) นักร้องดัง เคยต้องจ้างแพทย์ให้มาตรวจร่างกายของเธอเพื่อยืนยันต่อสาธารณชนว่า เธอยังมีซี่โครงอยู่ครบ ไม่ได้ตัดซี่โครงออกเพื่อให้เอวคอด

พิกซี่ ฟอกซ์ จึงน่าจะเป็นคนแรกที่ตัดซี่โครงออกในปี 2015 โดยมีประจักษ์พยานให้เห็นจริงๆ ว่าเธอทำ เธอบอกว่าหาหมอที่จะรับทำให้เธอได้ยากมาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คุ้มค่า (สำหรับเธอ)

ไม่น่าแปลกใจ ที่ในรายการ The Doctor ที่ว่านั้น บรรดาหมอๆ บนเวทีทั้งหลาย จะกระหน่ำต่อว่าผู้หญิงคนนั้นเสียไม่มีชิ้นดี ตั้งแต่บอกว่านี่เป็นการฆ่าตัวตาย ไปจนถึงบอกว่าเป็นลักษณะทางจิตที่ impaired รวมถึงด่าจิตแพทย์ที่ approve ให้เธอผ่าตัดครั้งต่อไป ฯลฯ

ที่จริง จะยกข้อเท็จจริงทางการแพทย์มาวิจารณ์อย่างไรก็ได้ทั้งนั้นนะครับ แต่ที่ทำให้ผมค่อนข้างตกใจก็คือ หมอผู้หญิงคนหนึ่งบอกเธอ (บนเวที) ว่าอยากขอคุยด้วยในแบบ mother to mother คือจากแม่ถึงแม่ ว่าหน้าที่ของคนที่เป็นแม่ คือการต้องอยู่กับลูก ต้องไม่ทำอะไรเสี่ยงๆใช่ไหม

หมอคนนั้นบอกว่าตัวเองเคยดำน้ำ ได้ประกาศนียบัตรดำน้ำตั้งสี่ใบ แต่พอมีลูก เธอก็หยุดทุกอย่าง ในฐานะแม่ ทำไมถึงไม่ทำแบบนี้กับลูกตัวเอง

เป็นข้อเสนอแนะที่โดยส่วนตัวรู้สึกประหลาดมาก คือเอา ‘วาทกรรมแม่และเมีย’ (ไม่ใช่ข้อมูลทางการแพทย์) มา ‘กำกับ’ ให้คนอื่นต้องทำตามที่ตัวเองบอก โดยมีภาพตัวแทนของความเป็นแม่ที่จำกัด

ที่จริง argument ของผู้หญิงที่ทำศัลยกรรมนั้นน่าสนใจนะครับ เพราะเธอบอกว่าที่ทำไปทั้งหมดนี้เพื่อ carreer คือเพื่ออาชีพการงาน (โชว์ตัว เล่นหนัง เป็นพิธีกร ฯลฯ) การที่เธอผ่าตัดจนร่างกายเป็นแบบนี้ ทำให้คนสนใจเธอ

เธอยังบอกอีกว่าถ้าสิ่งที่เธอทำเป็นเรื่องเสี่ยง แล้วคนที่เลือกเป็นตำรวจ เป็นพนักงานดับเพลิง ฯลฯ ไม่ได้เสี่ยงชีวิตเหมือนเธอหรือมากกว่าเธอหรือ การที่เธอไปนอนสลบบนเตียงผ่าตัดกับการไปผจญเพลิงนี่ อัตราเสี่ยงในการตายมันมากน้อยกว่ากันอย่างไร แต่ก็ไม่มีใครฟัง argument นี้ของเธอ แม้แต่ผู้ฟังในห้องส่งก็ส่งเสียงฮือฮาอืออาไปกับพวกหมอๆบนเวที และส่งเสียงเชิงค้านเวลาผู้หญิงคนนี้พูด

จริงอยู่ ที่การผ่าตัดดัดแปลงร่างกายขนาดนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อร่างกายได้มากมายมหาศาล แต่การยกวาทกรรมเชิงสังคมว่าด้วยความเป็นแม่มาคัดง้าง ก็บอกอะไรเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางความคิดเรื่อง ‘การเมืองเรืองอัตลักษณ์’ หรือ identity politics ของสังคมอเมริกัน

บางคนอาจบอกว่า นี่เป็นลักษณะเด่นของสังคมอเมริกันก็ได้ คือคนสามารถพูดอะไรตรงไปตรงมา right to your face ได้ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ต่อให้พูดได้แบบนั้น ก็เหมือนไม่มีใคร ‘ฟัง’ ผู้หญิงคนนั้นอยู่ดี ถ้าวัด ‘ปริมาณเวลา’ ที่ใช้ในการพูด จะเห็นได้ชัดเลยว่าเธอได้พูดน้อยกว่าพวกหมอๆมาก

เรื่องทั้งหมดนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างอำนาจทางการแพทย์กับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ซึ่งต่อไปในอนาคต น่าจะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ