เชื่อว่า คนที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองควรมี ‘ค่าตัว’ มากน้อยแค่ไหน
การเป็นฟรีแลนซ์เป็นเรื่องเย้ายวนใจของหลายคน แต่พอก้าวเข้ามาแล้ว เรื่องหนึ่งที่หลายคนทำไม่เป็น ก็คือการ ‘ต่อรองราคา’ หรือการ ‘เรียกค่าตัว’ ที่เหมาะสมกับตัวเอง
การเป็นฟรีแลนซ์แปลว่าจะไม่มีเงินเดือนประจำ ดังนั้นหลายคนจึงอยากได้งานจนยอมทำงานราคาไม่แพง เพราะกลัวการแข่งขัน และคิดว่าการลดราคาค่าตัวลงจะทำให้รักษาลูกค้าเอาไว้ได้
แต่คำถามก็คือ ลูกค้าอยากจ่ายน้อยลงนิดๆ หน่อยๆ แล้วได้งานรีบๆ แย่ๆ จริงหรือ?
คำตอบคือไม่จริงหรอกนะครับ
สิ่งที่ลูกค้าอยากได้ ไม่ใช่การ เซฟเงิน แต่คือการใช้เงินนั้นไปอย่างคุ้มค่าเงินที่จ่ายไปที่สุดมากกว่า
เพื่อนผมคนหนึ่งที่ทำงานดีไซน์และมีค่าตัวแพงเคยบอกว่า เขารับงานสองแบบเท่านั้น คืองานที่แพงไปเลยกับงานที่ฟรีไปเลย งานแพงคืองานที่เป็นงานจริงๆ เป็นธุรกิจจริงๆ ส่วนงานฟรีคืองานที่เขาเห็นว่ามันมีคุณค่าเชิงสังคม จึงอยากทำ
แต่ไม่ว่าจะเป็นงานแพงหรืองานฟรี – สิ่งที่เพื่อนทำก็คือ, เต็มที่กับมันเสมอ
ปกติแล้ว ลูกค้าไม่ค่อยรู้หรอกนะครับว่าแต่ละงานนั้น ควรจะจ่ายค่าตัวให้คุณเท่าไหร่ โดยเฉพาะงานใหม่ๆ แปลกๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ลูกค้ารู้แน่ๆ ว่าเขามี งบประมาณ อยู่แค่ไหน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่บอกเราหรอกครับ)
ถ้าจะให้ดี งบประมาณก็ควรจะเยอะกว่าค่าตัวที่เราจะเรียกใช่ไหมครับ แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้นหรอกครับ งบอาจจะน้อยเกินไป หรือไม่ลูกค้าก็ต่อรองจนราคาต่ำกว่าค่าตัวของคุณ คราวนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะรับได้ไหม หรือจะต่อรองอย่างไร
ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะ ‘ต่อรอง’ กับลูกค้าอย่างไร ลองถามตัวเองด้วยคำถามดังนี้นะครับ
- คุณร่ำเรียนสิ่งที่จะต้องใช้ทักษะในการทำงานมาหรือเปล่า เช่น จบกราฟิกดีไซน์มาไหม หรือว่าเรียนรู้ด้วยตัวเอง
- หลังจากเรียนจบแล้ว คุณยังขวนขวายหาความรู้ต่อเนื่องหรือเปล่า หรือจบแล้วก็จบเลยคืนครูไปหมดแล้ว
- คุณสื่อสารกับลูกค้าได้ดีแค่ไหน หรือว่าเป็นเนิร์ดหรือ ‘ติสต์’ เสียจนมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับลูกค้า (ข้อนี้อาจต้องให้คนอื่นช่วยประเมิน)
- คุณมีประสบการณ์ในการทำงานมามากแค่ไหน งานของคุณ ‘โดดเด่น’ กว่าคนอื่นแค่ไหน
- ทักษะที่คุณมีนั้น ใช้การได้กับสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือเปล่า เวลาจะทำงานจริงๆ คุณใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ หรือเปล่า ประมาณว่ากลัวจะทำไม่ได้
- ทักษะของคุณ ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น มีคนที่มีทักษะประมาณเดียวกับคุณเยอะไหมในตลาด หรือว่ามีคุณอยู่แค่คนเดียวที่ทำสิ่งนี้ได้
- ดูกำหนดเส้นตายในการทำงานแล้ว คุณส่งงานทันไหม
- คุณมีประวัติการทำงานที่ดี สำเร็จ ไม่เลต ฯลฯ ให้ลูกค้าดูหรือเปล่า
อันนั้นคือการประเมินว่า ตัวคุณควรทำงานนั้นๆ หรือเปล่า คือถ้ามันไม่ไหวจริงๆ (ไม่ว่าในด้านทักษะหรือเวลาในการทำงานให้ลูกค้า) ก็อย่าทำเลยครับ เพราะจะสร้างผลเสียกับทั้งสองฝ่าย
ทีนี้ถ้าพิจารณาแล้ว ‘ผ่าน’ คุณอยากทำ ก็มาถึงขั้นตอนคิดราคาแล้วละครับ คุณควรจะพิจารณาสิ่งเหล่านี้
- ลองดูว่า งานที่คุณจะต้องทำ มันมี ‘ต้นทุน’ ที่จะทำให้งานเสร็จแค่ไหน ต้นทุนที่ว่าไม่ใช่แค่ค่านั่งหลังขดหลังแข็งทำงานนะครับ แต่คุณเปิดแอร์มั้ย ใช้ไฟมากน้อยแค่ไหน ต้องเฉลี่ยคอมพิวเตอร์ + ซอฟท์แวร์ต่างๆ (ที่เดี๋ยวนี้ชอบจ่ายกันเป็นรายปี) มาใช้กับงานนี้กี่ชั่วโมง คิดแล้วเป็นเงินเท่าไหร่ ของอื่นๆ อีก เช่น กระดาษ ที่เย็บกระดาษ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเดินทาง ฯลฯ
- ลองดูว่า งานนี้มีต้นทุนในการรับเงินแค่ไหน เช่น ภาษีที่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขึ้นเงิน โอนเงิน ฯลฯ
- ลองดูว่า คุณต้องจ่ายค่าใช้จ่ายจิปาถะในขณะทำงานอีกเท่าไหร่ ให้เอามาเฉลี่ยทั้งหมด เช่น ค่าอาหาร ค่าประกันรักษาพยาบาล ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ฯลฯ
- ลองประเมินดูคร่าวๆ ว่า ผลลัพธ์ที่ลูกค้าจะได้ น่าจะมีมูลค่าเท่าไหร่ คุณเป็นคนสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากน้อยแค่ไหน และคุณควรมีค่าตัวกี่ % จากมูลค่านั้นๆ
- นำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาเฉลี่ยออกมาเป็นค่าตัวในการทำงานของคุณ
อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องละเอียดหยุมหยิมหรือคิดเกินจริงนะครับ เพราะหลายที่กดราคาฟรีแลนซ์ให้ต่ำกว่าการจ่ายเงินเดือนพนักงานประจำ ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น พนักงานประจำมี Head Count มีสวัสดิการต่างๆ ฟรีแลนซ์ซึ่งทำงานอิสระก็ต้องคิดสวัสดิการต่างๆ รวมไปในค่าตัวด้วย
การคิดค่าตัวฟรีแลนซ์ ก็เหมือนการคิดต้นทุนสินค้านั่นแหละครับ อย่ากลัวที่จะบวกสิ่งต่างๆ ‘ตามจริง’ แล้วบวกกำไรเข้าไปในนั้นอีกทีหนึ่ง
อย่าประเมินตัวเองสูงหรือต่ำเกินไป – ฟังดูง่าย แต่ไม่ง่ายเลยใช่ไหมครับ