ทุกวันนี้ มีคนทำงานเขียนฟรีแลนซ์กันเยอะแยะมากมายไปหมด แต่คำถามก็คือ ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน คุณรู้ไหมว่า ‘สิทธิ’ ในงานที่คุณทำนั้น อาจไม่ได้เป็นของคุณก็ได้
ไปดูกันว่า ก่อนจะตกลงทำงานให้ใคร นักเขียนฝรั่งเขาต้องตกลงเรื่อง ‘สิทธิ’ อะไรกันบ้าง
มันมีเยอะแยะมากมายครับ อาทิเช่น
First Rights : อันนี้หมายถึงการให้สิทธิแก่ผู้ที่จะตีพิมพ์งานของคุณเป็นที่แรก ถ้าคุณให้ First Rights กับใคร ก็แปลว่าคุณจะให้ที่นั่นพิมพ์งานของคุณเป็นที่แรก (แต่ก็ต้องมีข้อกำหนดอื่นๆ ต่อมาอีกนะครับ)
First North American Serial Rights : หรือ FNASR อันนี้คล้ายๆ First Rights นั่นแหละครับ แต่ว่าให้สิทธิที่จะตีพิมพ์ในอเมริกาเหนือก่อนคนอื่น แต่คุณอาจจะให้ที่อื่นนอกอเมริกาเหนือตีพิมพ์ก่อนก็ได้ ดูเผินๆ อันนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับนักเขียนไทยเราเท่าไหร่ แต่จริงๆ ควรมี First Thailand Rights ในสัญญาด้วยนะครับ เผื่อมีที่อื่นสนใจจะตีเผยแพร่ในประเทศอื่น แต่ในกรณีนี้ ก็ต้องตกลงกันให้ดี เพราะอาจกลายเป็น Geo-Blocking ในกรณีการเผยแพร่ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย
First Electronic Rights : ส่วนใหญ่เราจะคิดว่า ถ้าให้ First Rights กับใครไปแล้ว สำนักพิมพ์นั้นๆ ก็จะได้สิทธิจำหน่ายมันเสียทุกรูปแบบ แต่จริงๆ แล้วเราตกลงได้นะครับว่าจะให้ที่นี่จำหน่ายแบบ Print Media เป็นที่แรก แต่อีกที่หนึ่งเป็น Digital Media เป็นที่แรก ซึ่งก็จะทำให้ที่ที่สองได้ First Electronic Rights ไป
All Electronic Rights : แต่ทีนี้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์มันก็มีหลายแบบ ดังนั้นถ้าอยากให้ลิขสิทธิ์กับที่ใดที่หนึ่งในทุกๆ ช่องทาง ก็ต้องทำสัญญาเป็น All Electronic Rights ครับ ซึ่งก็จะแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกเยอะ เช่น บางทีอาจได้สิทธิจำหน่ายในรูปของซีดีรอม บางที่อาจจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตได้ (ก็จะเป็น Web Rights หรือ Internet Rights ไป)
One-Time Electronic Rights : อันนี้คือการให้สิทธิจำหน่ายแค่เพียงครั้งเดียว คือผู้จำหน่ายจะสามารถขายได้เพียงคราวเดียวเท่านั้น เช่นอาจจะระบุเวลา หรือขายเป็นล็อตๆ (เช่นการขายในรูปของซีดีรอม)
All Rights : นี่คือการมอบสิทธิทั้งหมดให้ผู้จำหน่าย (ซึ่งจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สำนักพิมพ์จำนวนมากในไทยก็มักทึกทักถือสิทธินี้กันทั้งนั้น)
Exclusive Rights : อันนี้เป็นประโยชน์สำหรับคนที่เขียนงานแบบบทความนะครับ คือเป็นการมอบสิทธิให้ตีพิมพ์หรือเอาขึ้นเว็บเฉพาะในกรอบเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น โดยในช่วงเวลานั้นๆ จะไม่มีการนำไปเผยแพร่ที่อื่น
Nonexclusive Rights : อันนี้ตรงข้ามกับ Exclusive Rights : คือผู้จำหน่ายได้สิทธิเผยแพร่ แต่ว่าไม่ใช่ว่าได้อยู่เจ้าเดียว เราเอาไปขายให้เจ้าอื่นๆ ได้ด้วย
Reprint Rights หรือ Second Rights หรือ Serial Rights : อันนี้คือให้สิทธิในการตีพิมพ์หรือจำหน่ายซ้ำ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อบทความของคุณได้รับความนิยมมากๆ
Excerpt Rights : เป็นการมอบสิทธิอนุญาตให้สามารถตัดตอนบางส่วนในงานของคุณเอาไปทำอะไรต่อมิอะไรได้ เช่น เอาไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่เอาไปตัดต่อกับสิ่งอื่นๆ แล้วแต่ว่าจะตกลงกันอย่างไร
Anthology Rights : นี่คือการอนุญาตให้นำงานของคุณไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่รวมกับงานของคนอื่นๆ เช่นหนังสือรวมเล่มที่มีหลายๆ ผู้เขียน ก็ต้องกำหนดกันไปว่าจะทำแค่ไหน ถ้าพิมพ์ซ้ำ คนนั้นยอมคนนี้ไม่ยอม จะทำอย่างไร ฯลฯ
Work-for-Hire Agreement : เรื่องนี้สำคัญที่สุดนะครับ เพราะว่านักเขียนฟรีแลนซ์หลายคน เวลารับเงินจะได้รับเป็น ‘ค่าจ้าง’ ซึ่งตามกฎหมายลิขสิทธิในหลายที่ การรับเงินเป็น ‘ค่าจ้าง’ เท่ากับเกิด Work-for-Hire Agreement ขึ้นมาแล้ว นั่นแปลว่าคนเขียนไม่ได้มีสิทธิในงานชิ้นนั้นๆ เลย เนื่องจากมันถูก ‘จ้าง’ ให้ทำ ดังนั้น ผู้ว่าจ้างจะเอางานคุณไปทำอะไรต่อหรือทำซ้ำเท่าไหร่ก็ได้ เพราะมันคือสิทธิของเขา
แน่นอน สิทธิหรือการอนุญาตประเภทต่างๆ เหล่านี้ ย่อมต้องมี ‘ราคา’ ที่แตกต่างกันไป ที่ไหนอยากได้ Exclusive Rights หรือ First Rights ก็อาจต้องจ่ายเงินซื้อมากกว่า Non-Exclusive Rights หรือการทำงานแบบ Work-for-Hire Agreement ก็ย่อมต้อง ‘แพง’ กว่าปกติ เนื่องจากเป็นการขายทั้งชิ้นงานและลิขสิทธิ์ในงานชิ้นนั้นๆ ไปเลย
คำถามก็คือ รักจะเป็นฟรีแลนซ์ รักจะอิสระ คุณได้ดูแล ‘สิทธิ’ ของตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยหรือเปล่า
มันคือเรื่องสำคัญมากๆ นะครับ