ประชาธิปไตยกับการออกแบบ

 

1

เวลาพูดถึงงานดีไซน์ หลายคนอาจคิดถึงความเก๋เท่หรูอะไรทำนองนั้น แต่ที่จริงแล้ว ในงานออกแบบระดับโลก เราพบว่า ‘คำสำคัญ’ หรือ Keyword ในช่วงหลังๆ นี้ หลายคำ

คำเหล่านั้นมีอาทิ inclusive design (หรือการออกแบบที่ ‘นับรวม’ ผู้คนทั้งหลาย คือทุกคนต้องสามารถใช้สิ่งที่ออกแบบนั้นได้ ไม่ใช่ออกแบบโดยทอดทิ้งคนพิการ คนชรา ฯลฯ), sustainability (คือความยั่งยืน), fair trade (คือการค้าที่ชอบธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน), fair social production (คือการผลิตที่ดีต่อสังคม ไม่ทำร้ายสังคมและสิ่งแวดล้อม)

แต่คำที่น่าสนใจที่สุดอีกคำหนึ่งก็คือ democratic design หรือ ‘การออกแบบที่เป็นประชาธิปไตย’

การออกแบบและความเป็นประชาธิปไตยจะไปด้วยกันได้อย่างไร!

 

2

ดีไซเนอร์แห่งแบรนด์ Guzzini ผู้ผลิตชามแก้วแสนสวยจากอิตาลี เคยอธิบายให้ฟังว่า ชามที่เขาถืออยู่ในมือนั้นมี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ อย่างไร

“นี่เป็นชามที่ผลิตด้วยเทคนิคแบบแก้วมูราโน่ชั้นสูง” เขาอธิบาย มูราโน่เป็นชื่อเกาะแห่งหนึ่งในอิตาลี อยู่ในแถบเวนิซ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการผลิตแก้วมาแต่โบราณ ถือว่าเป็นศิลปะขั้นสูง “แต่นี่ไม่ใช่แก้ว มันคือพลาสติก” ขาดคำของเขา ทุกคนรีบกรูเข้าไปจับดู เพราะดูด้วยตาเผินๆแล้วไม่รู้เลยว่าไม่ใช่แก้ว 

“คุณดูไม่รู้ใช่ไหม” เขาหัวเราะ “แต่พลาสติกนี้ เป็นพลาสติกพิเศษ เป็นพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ราคาถูกกว่าแก้ว จึงทำลายอุปสรรคในการเข้าถึง แบบนี้แหละที่เราเรียกว่าเป็นการออกแบบที่เป็นประชาธิปไตย”

ตอนนั้น ผมอยู่ในงาน Ambiente ที่แฟรงค์เฟิร์ต เป็นงานแสดงสินค้าแต่งบ้านที่มีคนเข้าร่วมงานหลายแสนคน ผมพบว่ายังมีอีกหลายผู้ผลิตที่เน้นว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่มี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ ราวกับว่านั่นคือจุดขายใหม่ในงานดีไซน์

ผู้ผลิตแต่ละรายให้นิยามของ ‘ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นประชาธิปไตย’ คล้ายๆกัน คือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้มีคุณภาพดี ในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อให้ ‘คนธรรมดา’ ทั้งหลายสามารถซื้อหาไปครอบครองได้

ที่จริงถ้าพูดถึงคำว่า Democratic Design หลายคนอาจนึกถึงแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เจ้ายักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง IKEA ก่อนเลย เพราะหลักการออกแบบอย่างหนึ่งของ IKEA ก็คือ Democratic Design นี่แหละครับ

โดยเขาบอกเอาไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะมี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ นั้น ต้องมีห้าปัจจัย ได้แก่ รูปแบบ (Form), คุณภาพ (Quatlity), ความยั่งยืน (Sustainability) และสุดท้ายคือราคาต่ำ (Low Price) ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่คนในงานแฟร์ Abmiente เน้นย้ำในปีนี้เช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องของความยั่งยืนและการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ซึ่งจะไปมีส่วนสร้างสังคมที่ดีงามขึ้นมาต่อไป

หลายคนอาจจะสงสัยขึ้นมาว่า จากนิยามเหล่านี้ Democratic Design แตกต่างจากคำว่า Mass Production อย่างไร

Mass Production ก็คือการผลิตแบบอุตสาหกรรม ผลิตกันทีละมากๆ ใช้กระบวนการแบบสายพานเพื่อลดต้นทุน โดยอาจมีการทำวิจัยว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วหาจุดลงตัวระหว่างต้นทุนและปริมาณการผลิตเพื่อให้ได้เยอะที่สุด ถูกที่สุด จะได้ขายได้มากที่สุด แต่ขาดความรับผิดชอบอื่นๆต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าที่เป็นธรรมหรือความยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นที่ยอมรับกันว่าสิ่งที่เป็น Mass Production เป็นของที่ ‘คุณภาพ’ ไม่ดี

ส่วนของที่คุณภาพดีไปเลย ก็มักไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะมักมีราคาแพง ไม่ค่อยมี ‘หน้าที่’ (Function) แต่มีไว้เพื่อประดับประดาแสดงสัญญะของผู้ครอบครอง ที่สำคัญก็คือ กระบวนการผลิตไม่ได้สนใจเรื่องความเป็นธรรมทางการค้าหรือความยั่งยืน

ดังนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นประชาธิปไตย จึงเป็นการนำเอาข้อดีของการผลิตแบบ Mass Production มาผสมกับการออกแบบสำหรับคนชั้นสูง แล้วทำให้สองอย่างนี้เกลื่อนกลืนเข้าหากัน แล้วใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘เทคโนโลยี’ เข้ามาช่วยให้คุณลักษณะทั้งสองด้านอยู่รวมกันได้ โดยต้องเติมมิติสำคัญอื่นๆของศตวรรษที่ 21 เข้าไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม

ที่จริงแล้ว ชามของ Guzzini ใบนั้นไม่เหมือนแก้วเสียทีเดียว หน้าตาของมันเหมือน ผิวสัมผัสก็เหมือน แต่หากลองหยิบดู คุณจะรู้ว่าน้ำหนักของมันไม่หนักเท่าแก้ว เพราะมันไม่ใช่แก้ว แต่คือวัสดุพิเศษคล้ายพลาสติกที่มีกรรมวิธีผลิตไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ราคาของมันถูกลงมาก ผู้คนจึงสามารถซื้อหาได้ทั่วไป ทำให้มันมี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ มากขึ้นกว่าเดิม

 

3

การออกแบบที่เป็นประชาธิปไตยคือฐานสำคัญที่นำเราไปสู่การออกแบบที่มีแนวคิดเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

บนเวทีเสวนาหนึ่งในงาน Ambiente ดีไซเนอร์คนหนึ่งบอกว่า การผลิตสินค้าที่มีความยั่งยืนหรือ sustainability ที่แท้จริงนั้น ต้องการสื่อ (journalist) เอาไว้ตรวจสอบเสมอ ปราศจากการตรวจสอบ เราจะไม่มีวันรู้เลยว่านั่นเป็นความยั่งยืนที่แท้ หรือเป็นแค่การประชาสัมพันธ์เท่านั้น

บนเวทีเสวนาเดียวกัน ดีไซเนอร์อีกคนหนึ่งพูดประโยคสำคัญที่เป็นแนวโน้มใหญ่ของการบริโภคสินค้าดีไซน์เอาไว้ว่า

 


“We’re gonna consume less, but we’re gonna consume better.”

“เราจะบริโภคน้อยลง แต่เราจะบริโภคให้ดีขึ้น”


 

นี่คือปรัชญาใหม่ของโลกแห่งดีไซน์ นั่นคือไม่ได้ดีไซน์ออกมาเพื่อให้คนใช้งานโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม จนทำให้เกิดงานดีไซน์ที่ลอกเลียนแบบกันไปจนเกร่อและฟุ้ง ทว่าต้องคิดให้รอบด้าน เพื่อให้งานดีไซน์ต่างๆนั้นมีความหมายที่สอดรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของศตวรรษที่ 21